ประธานาธิบดีเข้าร่วม “พิธีเปิด Ketagalan Forum : 2018 Asia Pacific Security Dialogue”
เมื่อวันที่ 24 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินได้เข้าร่วม “พิธีเปิด Ketagalan Forum: 2018 Asia Pacific Security Dialogue” เพื่อตอกย้ำการจับมือกับพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับมือกับความท้าทายที่จะมาจากทั่วโลก พร้อมสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในระหว่างภูมิภาคและประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ประธานาธิบดีใช้ภาษาอังกฤษในการกล่าวปราศรัย มีใจความดังนี้ :
ยินดีต้อนรับทุกท่านที่มาจากแดนไกลสู่ไต้หวัน เพื่อเข้าร่วม “การประชุมหารือด้านความปลอดภัยแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” ในปีนี้ โดยในหมู่แขกรับเชิญทั้งหลายของปีนี้ มีแขกพิเศษท่านหนึ่งคือ ท่านแอช คาร์เตอร์ (Ash Carter) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศสหรัฐอเมริกา การมาเยือนไต้หวันในครั้งนี้ ห่างจากครั้งสุดท้ายที่ท่านอดีตรมว.คาร์เตอร์ได้มีโอกาสเยือนไต้หวัน เป็นเวลานานถึง 10 ปี ยินดีเป็นอย่างมากที่ท่านสามารถเดินทางมาร่วมการประชุมในวันนี้ หวังว่าการมาเยือนไต้หวันครั้งต่อไปของท่านคงจะไม่ต้องรอนานถึง 10 ปี
เมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมพิธีเปิดของการประชุมนี้ หนึ่งปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วต่อทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ดีอย่างที่คาดการณ์ไว้ ผู้นำของเกาหลีเหนือและใต้ได้พบกันในการประชุมระหว่างกันในช่วงหลายเดือนก่อน อันถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยทั้งสองเห็นพ้องที่จะพยายามอย่างเต็มที่ในการนำพาประเทศชาติเข้าสู่เป้าหมายของการปลอดนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี
แน่นอนว่าพัฒนาการบางส่วนของภูมิภาคนำมาซึ่งโอกาส หากแต่ยังมีอีกบางส่วนที่นำมาซึ่งความท้าทาย และเนื่องจากการต้องพึ่งพากันและกันในประชาคมโลกค่อยๆ เพิ่มขึ้น พวกเราซึ่งต่างก็ต้องเผชิญกับความท้าทายจากทั้งภายในและภายนอก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันค่อยๆ แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
ความท้าทายทั้งในรูปแบบเดิมๆ และรูปแบบใหม่เหล่านี้ ต่างก็พยายามที่จะกัดกร่อนทั้งคุณค่าแห่งประชาธิปไตยของเราและทำลายรากฐานแห่งความเป็นระเบียบเรียบร้อยของนานาชาติ ด้วยคุณค่าและความเป็นระเบียบเรียบร้อยเหล่านี้เอง ที่นำพาเอาความสงบสุข มั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองมาให้กับภูมิภาคนี้ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
โชคดีที่คุณค่าเหล่านี้ได้หลอมรวมพวกเราเข้าด้วยกัน เพราะฉะนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายเหล่านี้โดยลำพัง เราสามารถที่จะร่วมมือกันเพื่อรับประกันความปลอดภัยของโลกในอนาคต มิให้ถูกคุกคามจากอำนาจทางทหารหรือทางเศรษฐกิจ หากแต่ให้เติบโตอยู่บนรากฐานแห่งสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย
ไต้หวันมีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่า เสถียรภาพและความมั่งคั่งของเราต่างก็มีความเกี่ยวพันกับทั้งภูมิภาคนี้และโลกใบนี้ ดังนั้นเราจึงพยายามที่จะเพิ่มศักยภาพในการป้องกันประเทศเพื่อป้องกันตัวเอง ซึ่งในอนาคตก็จะพยายามอย่างต่อเนื่องในการควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันประเทศให้เป็นไปตามความจำเป็นและมีความสมดุลกับการขยายตัวของ GDP ของประเทศ ขณะเดียวกันเราก็กำลังพยายามผลักดันอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของตัวเองไปพร้อมกันด้วย
เมื่อสัปดาห์ก่อน ข้าพเจ้าได้ไปเป็นประธานในพิธีเข้าประจำการของเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่ประจำศูนย์บัญชาการหน่วยรบพิเศษทางอากาศของกองทัพบกสาธารณรัฐจีน ในฐานะจอมทัพของประเทศ การได้เห็นเหล่าทหารหาญทั้งชายและหญิงที่ต่างก็ได้แสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ที่ต้องการปกป้องคุณค่าแห่งประชาธิปไตย ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกปลาบปลื้มเป็นอย่างมาก
เรามีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับประเทศที่มีแนวความคิดใกล้เคียงกัน เช่นในช่วงก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการด้านการป้องกันประเทศให้ความช่วยเหลือไต้หวัน เพื่อให้ไต้หวันสามารถสร้างเรือดำน้ำด้วยตัวเอง และนอกจากนี้ เรายังได้ร่วมกับภูมิภาคอื่นและประเทศที่เป็นพันธมิตรอื่นๆ ของเรา ในการสร้างความร่วมมือในด้านอื่นๆ อีกมากมายด้วย
ในจำนวนนี้ หนึ่งในนโยบายที่สำคัญก็คือ “นโยบายมุ่งใต้ครั้งใหม่” ซึ่งนโยบายนี้จะเน้นการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ รวมถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะปรับปรุงนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างกันและสร้างอนาคตอันรุ่งเรืองให้กับเหล่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเหล่านี้
เราได้รับผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมไม่น้อยจาก “นโยบายมุ่งใต้ครั้งใหม่” ที่ดำเนินการมาเป็นเวลานานกว่าสองปี ซึ่งรวมถึงการดึงดูดให้นักเรียนนักศึกษาที่ดีที่สุดและฉลาดที่สุดให้เดินทางมาศึกษาต่อในไต้หวัน จัดการประชุมและอบรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ในภาคประชาชน ในขณะเดียวกันก็ให้ความช่วยเหลือเหล่าประเทศพันธมิตรในการสร้างศักยภาพทั้งทางการเกษตร สาธารณสุข และเทคโนโลยีสารสนเทศ
สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นการสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ระหว่างไต้หวันกับกลุ่มประเทศตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในช่วงระหว่างปี 2016 และปี 2017 มูลค่าการค้าระหว่างไต้หวันกับประเทศตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 16 โดยเพิ่มจาก 96,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 111,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นอกจากนี้ วิธีเดียวที่เราจะสามารถร่วมกันรับมือกับความท้าทายที่มาจากทั่วโลกซึ่งเพิ่มขึ้นในทุกๆ วันก็คือ การสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับภูมิภาคและประเทศต่างๆ ทั่วโลก
นี่ก็คือสาเหตุที่เราดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance, ODA ) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่มีความต้องการ เราจะร่วมมือกับธนาคารในประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศพันธมิตรและประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดี ในการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศเหล่านั้น
อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การที่ไต้หวันและสหรัฐฯ ร่วมกันจัด Global Cooperation and Training Framework (GCTF) โดยตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ทั้งสองฝ่ายได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจาก 32 ประเทศ มาเปิดอบรมในหลายด้าน ทั้งในส่วนของพลังงาน สาธารณสุข ความปลอดภัย สิทธิสตรี และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
เราเชื่อว่า การดำเนินการอย่างเปิดเผยและเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่าง จะทำให้ไต้หวันสามารถสามารถสร้างผลประโยชน์ร่วมกันได้กับทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก
สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ หลายปีมานี้ ประเทศจีนได้ใช้วิธีการที่ก้าวร้าวเพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่ต้องการ และแผ่อิทธิพลไปสู่ประเทศรอบข้าง ซึ่งรวมถึงการซ้อมรบในภูมิภาคและการส่งเครื่องบินรบมาบินรอบไต้หวัน
และในขณะเดียวกัน จีนได้แย่งเอาประเทศพันธมิตรของไต้หวันไป และขัดขวางไต้หวันไม่ให้มีส่วนร่วมในเวทีนานาชาติ หรือแม้แต่การใช้ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจมาบีบบังคับให้เหล่าบริษัทข้ามชาติต้องเปลี่ยนแปลงการเรียกชื่อของไต้หวัน
ไต้หวันอยู่ในแนวหน้าของการต่อสู้เพื่อคุณค่าแห่งประชาธิปไตย ซึ่งพอดีกับที่คุณค่านี้ได้ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความเป็นระเบียบร้อยและความเจริญรุ่งเรือง ความท้าทายของเราในวันนี้ คือการค้นหาวิธีสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ที่สามารถรับประกันได้ว่า ผลประโยชน์ที่เราจะได้รับร่วมกันนั้น สามารถรับมือกับการคุกคามทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน
ปัญหาและความกังวลที่มีต่อหัวข้อเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่ทุกท่านซึ่งมาจากนานาประเทศจะร่วมกันหารือ เพื่อค้นหาวิธีในการรับมือกับความท้าทายที่มาจากทั่วโลก ผ่านกิจกรรมในวันนี้
ข้าพเจ้าขอใช้โอกาสนี้ ขอบคุณท่านประธานเฉินและมิตรสหายทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการจัดการประชุมในครั้งนี้ จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ก็เห็นได้ชัดว่า ในภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบนโลก เรายังมีโอกาสได้เห็นถึงความเชื่อมั่นในการรักษาไว้ซึ่งคุณค่าแห่งความศรัทธาที่มิอาจคลอนแคลน ถือเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก
ข้าพเจ้าเชื่อว่า การประชุมในวันนี้ จะมีการอภิปรายและถกเถียงกันอย่างมากมาย ก่อนที่จะได้รับผลลัพธ์ที่ผ่านความเห็นพ้องร่วมกัน ถึงข้อสรุปที่ให้ความสำคัญของการแบ่งปันคุณค่าเหล่านี้ และการสร้างความร่วมมือกับทั่วโลกผ่านการดำเนินกิจกรรมในลักษณะเดียวกันนี้ จะทำให้เรามีความเชื่อมั่นว่า ลูกหลานของเราจะสามารถเติบโตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มีเสรีภาพ และมีเสถียรภาพ ขอให้พวกเราทุกคนจงพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อร่วมกันปกป้องรากฐานแห่งความเป็นระเบียบเรียบร้อย เสรีภาพ และเสถียรภาพของโลก
นอกจากนายแอช คาร์เตอร์ ( Ash Carter) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังมีพล.อ.เหยียนเต๋อฟา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ดร.อู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และดร.เฉินถังซาน ประธานมูลนิธิ Prospect Foundation เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย