ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวันจัดนิทรรศการและเวิร์คช็อปในกทม. เร่งสร้างความร่วมมือกับภาคการศึกษาไทย
2018-09-04

บรรยากาศพิธีเปิดนิทรรศการ 2018 Taiwan Higher Education Fair (จากซ้ายไปขวา นายจางเหวยปิน นายถงเจิ้นหยวน ผู้แทนไต้หวันประจำประเทศไทย อธิบดีปี้จู่อัน นางหวงสูหวนหรือ Mrs. Sukanit Piyavittayanon ที่ปรึกษาด้านภาษาจีน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน) ภาพโดย กระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน

บรรยากาศพิธีเปิดนิทรรศการ 2018 Taiwan Higher Education Fair (จากซ้ายไปขวา นายจางเหวยปิน นายถงเจิ้นหยวน ผู้แทนไต้หวันประจำประเทศไทย อธิบดีปี้จู่อัน นางหวงสูหวนหรือ Mrs. Sukanit Piyavittayanon ที่ปรึกษาด้านภาษาจีน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน) ภาพโดย กระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน

ไต้หวันจัดนิทรรศการและเวิร์คช็อปในกทม. เร่งสร้างความร่วมมือกับภาคการศึกษาไทย

กระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน วันที่ 30 ส.ค. 61

กระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน ได้เร่งผลักดันโครงการอบรมบุคลากรตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ โดยจะเพิ่มจำนวนนักศึกษาไทยที่เดินทางมาศึกษาต่อในไต้หวันให้มากขึ้น พร้อมส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาระดับสูงของทั้งสองฝ่าย ซึ่งนายปี้จู่อัน อธิบดีกรมการศึกษาระหว่างประเทศและสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน (Department of Internaional and Corss-strait Education, DICE) ได้นำคณะตัวแทนจากสถานศึกษารวม 27 แห่งของไต้หวันไปเข้าร่วมในนิทรรศการ 2018 Taiwan Higher Education Fair และ Taiwan-Thai Workshop on Higher Education

 

ทั้งนี้ ในปี 2016 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติของประเทศไทย ได้มีการอนุมัติงบประมาณจำนวน 34,000 ล้านบาทภายในเวลา 20 ปี เพื่อใช้ในการพัฒนาบุคลากรระดับดุษฎีบัณฑิตจำนวน 12,290 คน สำหรับป้อนให้กับ 10 อุตสาหกรรมสำคัญตามนโยบาย Thailand 4.0 (ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สินค้าอีเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบริการด้านสุขภาพเชิงท่องเที่ยว การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อาหาร หุ่นยนต์สำหรับภาคอุตสาหกรรม โลจิสติกส์และการบิน เชื้อเพลิงชีวภาพและไบโอเคมิคัล เทคโนโลยีดิจิทัล และการบริการทางการแพทย์) ซึ่งไต้หวันได้มีการผลักดันโครงการตามนโยบายอุตสาหกรรมนวัตกรรม 5+2 และนโยบายมุ่งใต้ครั้งใหม่ เพื่อรองรับกระแสแห่งโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมทั้งสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ซึ่งนิทรรศการ Taiwan Higher Education Fair จะเป็นสะพานสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างภาคการศึกษาของไต้หวันและไทย พร้อมทั้งช่วยให้ครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาของไทย มีความเข้าใจในเชิงลึกต่อการศึกษาระดับสูงของไต้หวัน อันจะเป็นการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนทางวิชาการที่หลากหลายขึ้นต่อไป

 

นิทรรศการ 2018 Taiwan Higher Education Fair ได้ทำพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีนายถงเจิ้นหยวน ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย นายอรรถพล สังขวาสี ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา นางหวงสูหวน ที่ปรึกษาด้านภาษาจีน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และนายจางเหวยปิน ประธานกรรมการ โรงเรียนนานาชาติไทย-จีน เดินทางมาร่วมในพิธีด้วย

 

ในระหว่างกล่าวปราศรัย อธิบดีปี้จู่อันชี้ว่า รัฐบาลไทยมีวิสัยทัศน์ในด้านนโยบายการศึกษาระดับสูงที่ดีมาก เพราะประชาชนที่ได้รับการศึกษาที่ดี จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งรัฐบาลไต้หวันก็ให้ความสำคัญกับเนื้อหาของการศึกษาระดับสูงและการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นสากลในสถานศึกษาเป็นอย่างมาก การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ ก็เพื่อนำเอาสถานศึกษาชั้นนำของไต้หวัน มาแนะนำต่อนักเรียนนักศึกษาไทย รวมทั้งสร้างโอกาสในการสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาต่อไป

 

การผลักดันด้านการศึกษาตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ดึงดูดให้นักเรียนนักศึกษาจากไทยเดินทางมาศึกษาต่อในไต้หวันมากขึ้น โดยในปี 2018 มีการมอบ “ทุนการศึกษาไต้หวัน” ให้แก่นักศึกษาไทยจำนวน 15 ราย พร้อมจัดตั้ง “โครงการฝึกอบรมบุคลากรชั้นนำตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่” ขึ้น โดยจะมีการจัดงบประมาณสนับสนุนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจากประเทศอาเซียน ที่รวมถึงไทย และประเทศเอเชียใต้ ให้เดินทางมาศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตในไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินโครงการ “หลักสูตรความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับนักศึกษาต่างชาติ” ขึ้นด้วย โดยในปี 2018 ได้มีการรับนักศึกษาไทยเข้าร่วมหลักสูตรจำนวน 475 ราย ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้ ต่างก็ถือเป็นสะพานที่เชื่อมโยงและสร้างความสัมพันธ์ในการแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวันและไทยในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น

 

จากสถิติของกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน ในปี 2017 มีนักศึกษาต่างชาติเดินทางมาศึกษาต่อในไต้หวันในส่วนของการศึกษาระดับสูงเป็นจำนวนรวม 117,970 คน คิดเป็นร้อยละ 9.3 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด โดยเป็นนักศึกษาจากประเทศตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่มากกว่า 40,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีหลังมานี้ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยประเทศ 3 อันดับแรกได้แก่ มาเลเซีย จำนวน 17,079 คน เวียดนาม จำนวน 7,339 คน และอินโดนีเซีย จำนวน 6,453 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของจำนวนนักศึกษาจากประเทศตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ทั้งหมด สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับ 4 จำนวน 2,125 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ที่มี 1,749 คน คิดเป็นร้อยละ 21.5 ถือเป็นอัตราการขยายตัวในระดับสูง เชื่อว่าการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของการศึกษาไต้หวันให้เพิ่มสูงขึ้น และดึงดูดนักเรียนนักศึกษาไทยเดินทางมาศึกษาต่อในไต้หวันมากขึ้นด้วย

 

ในขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการยังมีโครงการสอบชิงทุนการศึกษารัฐบาลสำหรับไปศึกษาต่อในต่างประเทศ และโครงการสร้างฝันด้วยการไปฝึกสอนในกลุ่มประเทศตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ รวมถึงโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองฝ่าย เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาและครูอาจารย์ของไต้หวันเดินทางไปศึกษาต่อหรือใช้ชีวิตในประเทศไทย เพื่อยกระดับบุคลากรในด้านต่างๆ ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น โดยในจำนวนนี้ ในปี 2017 โครงการสร้างฝันฯ ได้ให้ความสนับสนุนแก่นักศึกษาไต้หวันจำนวน 363 รายเดินทางไปฝึกสอนหรือฝึกงานในสถานศึกษาหรือองค์กรเอกชนในประเทศไทยด้วย