ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
โครงการอบรมวัฒนธรรมผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และนิทรรศการศิลปะนานาชาติ 2018-2019 ศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน
แหล่งที่มาของข้อมูล Ministry of Culture
2018-09-07

โปสเตอร์แนะนำนิทรรศการ

โปสเตอร์แนะนำนิทรรศการ

โครงการอบรมวัฒนธรรมผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และนิทรรศการศิลปะนานาชาติ 2018-2019 ศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน

 

กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันร่วมกับ National Tainan Living Art Center จัดโครงการอบรมวัฒนธรรมผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และการแสดงศิลปะนานาชาติ ประจำปี 2018 - 2019 ภายใต้หัวข้อ “หัตถศิลป์และสุนทรียศาสตร์ในชีวิตประจำวัน” โดยเป็นการนำเสนอผ่านศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นตัวเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งโครงการ อาทิ การจัดสัมมนาศิลปวัฒนธรรม การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการงานศิลปหัตถกรรมในชีวิตประจำวัน การฝึกอบรมดนตรีพื้นบ้าน และนิทรรศการหัตถศิลป์ในชีวิตประจำวันและการแสดงดนตรีพื้นบ้าน เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความเคารพที่มีต่อศิลปวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับบุคคลทั่วไป การเผยแพร่วัฒนธรรมประเทศบ้านเกิดของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวไต้หวันได้มีส่วนร่วมมากขึ้น และเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทางวัฒนธรรมในสังคมที่หลากหลายอีกด้วย

 

โครงการนี้เริ่มต้นด้วย “การอบรมเชิงปฏิบัติการงานหัตถศิลป์ในชีวิตประจำวัน” ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. 2561 เป็นต้นไป ณ National Tainan Living Art Center นครไถหนาน โดยมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ กิจกรรม “เครื่องจักสานไม้ไผ่ งานหัตถศิลป์ไทย” ในวันที่ 8 ก.ย. กิจกรรม “เครื่องจักสานหญ้าสามเหลี่ยมไต้หวัน” ในวันที่ 15 ก.ย. กิจกรรม “ศิลปะไม้ไผ่เวียดนาม” ในวันที่ 6 ต.ค. และกิจกรรม “ศิลปะจากการม้วนกระดาษของเวียดนาม” ในวันที่ 13 ต.ค. โดยทุกท่านจะได้รับความรู้และความเพลิดเพลินในด้านต่างๆ อาทิ การออกแบบ การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและความสำคัญผ่านงานหัตถศิลป์ของไทย ไต้หวันและเวียดนาม

 

สำหรับกิจกรรม “การฝึกอบรมดนตรีพื้นบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มีกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. – 6 พ.ย. 2561 เป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยเชิญอาจารย์เฉินเซิ่งหยวน (陳聖元) นักมานุษยดุริยางควิทยาชาวไต้หวันซึ่งมีความคุ้นเคยในเครื่องดนตรีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเป็นวิทยากรอบรม กิจกรรมดังกล่าวจะมีการสอนให้ผู้สนใจได้รู้จักกับเพลงพื้นบ้านของอินโดนีเซีย ควบคู่กับการฝึกเขย่า อังกะลุง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของอินโดนีเซีย

 

อังกะลุง (Angklung) เป็นเครื่องดนตรีดั้งเดิมของชวาตะวันตกในอินโดนีเซีย สมัยก่อนใช้ในการประกอบพิธีกรรมและเทศกาลต่างๆ ภายหลังถูกนำมาใช้ในการแสดงและกิจกรรมรื่นเริง ทั้งนี้คาดว่าผู้ที่สนใจเข้ารับการอบรมจะมีความเข้าใจในเพลงพื้นบ้านและเครื่องดนตรีอังกะลุงของอินโดนีเซียมากขึ้นผ่านการฝึกอบรมดังกล่าว โดยหลังการฝึกอบรม ทุกคนจะได้เข้าร่วมในการแสดงเพื่อประมวลผลสำเร็จของกิจกรรมดังกล่าวร่วมกัน

 

สำหรับกิจกรรมที่ถือเป็นฟินาเล่ปิดท้ายของงานคือ “การสัมมนาศิลปวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มีกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่เวลา 10.00 น. ช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 21 ต.ค. ณ ห้องประชุมนานาชาติ ชั้น 3 National Tainan Living Art Center ซึ่งในปีนี้ งานสัมมนาจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “สุนทรียศาสตร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน” พร้อมทั้งเชิญคุณอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC ของไทย และคุณน้ำฝน ไล่สัตรูไกล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร มาร่วมเป็นวิทยากรแนะนำประเพณีไทย และสุนทรียศาสตร์แนวใหม่ซึ่งเป็นการผสมผสานเข้ากับการออกแบบสมัยใหม่อย่างลงตัว รวมทั้งแนะนำเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของสิ่งทอในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการนำไปประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ ยังเชิญศาสตราจารย์ หลิวซุ่นเหริน ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สร้างสรรค์ C-Hub (Creativity, Human, Urban, Building Environment) มหาวิทยาลัย National Cheng Kung University ศาสตราจารย์ไช่จงเต๋อ ซึ่งทำการศึกษาวิจัยภาคสนามในอินโดนีเซียเป็นเวลาเกือบ 20 ปี และ ลวี่ซินฉุน (呂心純) นักวิจัยจาก Institute of Ethnology สถาบันวิจัย Academia Sinica ของไต้หวัน ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวันผ่านมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น