ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
อยากเรียนมาก! คนไทยจัดคณะบินมาหาอาจารย์สอนเชิดมังกรและสิงโตถึงเป่ยกั่ง
แหล่งที่มาของข้อมูล United Daily
2018-09-13

คณะชาวไทยเดินทางมาขอร่ำเรียนวิชาเชิดมังกรและสิงโตที่ ต.เป่ยกั่ง ซึ่ง อ.อู๋เติงซิงได้มอบหัวมังกรและหงส์ให้ฝ่ายไทยเป็นที่ระลึกด้วย นสพ. United Daily วันที่ 11 ก.ย. 61

คณะชาวไทยเดินทางมาขอร่ำเรียนวิชาเชิดมังกรและสิงโตที่ ต.เป่ยกั่ง ซึ่ง อ.อู๋เติงซิงได้มอบหัวมังกรและหงส์ให้ฝ่ายไทยเป็นที่ระลึกด้วย นสพ. United Daily วันที่ 11 ก.ย. 61

อยากเรียนมาก! คนไทยจัดคณะบินมาหาอาจารย์สอนเชิดมังกรและสิงโตถึงเป่ยกั่ง

นสพ. United Daily วันที่ 11 ก.ย. 61

เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา สมาคมชาวฮกเกี้ยนปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ได้จัดคณะมาเยือนคณะเชิดมังกรและสิงโตเต๋ออี้ถาง ซึ่งอยู่ในตำบลเป่ยกั่ง เมืองหยุนหลิน เพื่อเชิญ อ.อู๋เติงซิง ให้เดินทางไปประเทศไย เพื่อถ่ายทอดศิลปะการเชิดมังกรและสิงโตแบบฮกเกี้ยนดั้งเดิม โดยทางคณะเต๋ออี้ถางได้มอบหัวมังกรและหงส์ให้กับคณะจากไทยเป็นที่ระลึกด้วย โดยมีคุณไช่เยว่หรู สมาชิกสภาเทศบาลหยุนหลิน ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งตัวแทนฝ่ายไทยได้ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากได้เห็นศิลปะการเชิดมังกรและสิงโตอันยอดเยี่ยมของไต้หวันทางอินเตอร์เน็ตแล้ว ก็รู้สึกประทับใจมาก จึงตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลเดินทางมาหา ขอเป็นลูกศิษย์ถึงไต้หวัน

 

โดยคณะจากไทยที่เดินทางมาเยือนในครั้งนี้ มีคุณเจิ้งฮั่นถิง ประธานคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดนครสวรรค์เป็นหัวหน้าคณะ โดยสมาชิกคณะทั้ง 4 รายได้เดินทางไปสักการะเจ้าแม่มาจู่ (เจ้าแม่ทับทิม) ที่ศาลเจ้าเฉาเทียนกงในเขตตำบลเป่ยกั่งของเมืองหยุนหลิน พร้อมรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะพื้นบ้านของชาวเป่ยกั่ง รวมทั้งยังได้มีโอกาสทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์อันลึกล้ำระหว่างไต้หวันกับวัฒนธรรมมาจู่

 

คุณเจิ้งฮั่นถิงกล่าวว่า บรรพบุรุษของพวกตนก็มาจากมณฑลฮกเกี้ยน และศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดนครสวรรค์ ก็ถือเป็นหนึ่งในศาลเจ้าซึ่งมีอยู่ไม่มากในประเทศไทย ที่เซ่นไหว้เทพเจ้าของชาวฮกเกี้ยน เดิมทีทางศาลเจ้าก็มีคณะเชิดสิงโตประจำอยู่ หากแต่หลังจากที่มีโอกาสได้เห็นการแข่งขันเชิดสิงโตและมังกรทางอินเตอร์เน็ตแล้ว ทำให้ตนรู้สึกว่าการเชิดสิงโตและมังกรในแบบไต้หวัน ไม่เพียงแต่มีความอ่อนช้อยและสวยงาม หากแต่ยังอนุรักษ์ไว้ซึ่งเทคนิคและศิลปะการเชิดในแบบของฮกเกี้ยนดั้งเดิมด้วย จึงตัดสินใจจัดคณะเดินทางมาไต้หวันเพื่อขอร่ำเรียน และจะเชิญอาจารย์อู๋เติงซิงให้เดินทางไปประเทศไทยเพื่อถ่ายทอดวิชาด้วย

 

คุณไช่เยว่หรู สมาชิกสภาเทศบาลหยุนหลิน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแทนฝ่ายไต้หวันที่ให้การต้อนรับคณะชี้ว่า “นี่คือตัวอย่างของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของภาคประชาชนตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่” โดยศิลปะการเชิดมังกรและสิงโตที่ถ่ายทอดกันมายาวนานนับร้อยปีนี้ ไม่เพียงแต่จะมีมังกรและหงส์รวมถึงเทพเจ้าเด็กเท่านั้น จังหวะการเชิดและการก้าวย่างก็จะแตกต่างจากการเชิดสิงโตทั่วไป จึงมีเอกลักษณ์พิเศษที่ไม่เหมือนใคร และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความยอดเยี่ยมของวัฒนธรรมและศิลปะพื้นบ้านของไต้หวัน การที่ อ.อู๋ได้รับเชิญให้ไปสอนที่ประเทศไทยในครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะสามารถใช้โอกาสนี้ในการเผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณีของไต้หวันไปสู่ประเทศไทยได้ด้วย

 

ทั้งนี้ อ.อู๋เติงซิงได้แสดงความยินดีตอบรับคำเชิญ โดยได้มอบหัวมังกรและหงส์ให้กับคณะจากไทยเป็นที่ระลึก พร้อมกล่าวว่า ตนวางแผนจะเดินทางในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งนอกจากจะใช้เวลา 5 วันในการสอนศิลปะการเชิดมังกรและสิงโตให้กับคณะเชิดสิงโตที่จะก่อตั้งขึ้นใหม่ของฝ่ายไทยแล้ว จะนำเอาหัวสิงโตที่ทำขึ้นเองไปมอบให้ด้วย เพื่อเผยแพร่ศิลปะการเชิดมังกรและสิงโตในแบบของไต้หวันเข้าสู่ประเทศไทย และเพื่อให้ชาวไทยได้มีโอกาสสัมผัสกับประเพณีและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันด้วย