ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กระทรวงเศรษฐการไต้หวันจัดสัมมนา “แบ่งปันประสบการณ์การลงทุนในอินเดียและเมียนมา” หวังช่วยนักธุรกิจไต้หวันขยายฐานการตลาด
แหล่งที่มาของข้อมูล Ministy of Economic Affairs
2018-09-17

ภาพโดย กระทรวงเศรษฐการ

ภาพโดย กระทรวงเศรษฐการ

กระทรวงเศรษฐการไต้หวันจัดสัมมนา “แบ่งปันประสบการณ์การลงทุนในอินเดียและเมียนมา” หวังช่วยนักธุรกิจไต้หวันขยายฐานการตลาด

กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 14 กันยายน 2561

สำนักงานการลงทุน กระทรวงเศรษฐการ ไต้หวันสาธารณรัฐจีนได้จัดการสัมมนา “แนวปฎิบัติสำหรับผู้ที่สนใจลงทุนกลุ่มประเทศนโยบายมุ่งใต้ใหม่ปี 2018 –แบ่งปันประสบการณ์การลงทุนในอินเดียและเมียนมา” เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ณ สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานเกาสง (Taitra Kaohsiung Office) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริการและช่วยเหลือนักธุรกิจไต้หวันขยายฐานการตลาดในกลุ่มประเทศนโยบายมุ่งใต้ใหม่ การสัมมนาดังกล่าวได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานบัญชี KPMG และตัวแทนกลุ่มธุรกิจที่ไปลงทุนในอินเดียและเมียนมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติสำหรับการลงทุนในประเทศดังกล่าว ดึงดูดตัวแทนผู้ประกอบการกว่า100 คนเข้าร่วมรับฟัง ซึ่งล้วนแสดงความเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการขยายฐานธุรกิจในกลุ่มประเทศนโยบายมุ่งใต้ใหม่เป็นอย่างยิ่ง

 

ที่ปรึกษาสำนักงานการลงทุน กระทรวงเศรษฐการกล่าวขณะปราศรัยในพิธีเปิดการสัมมนาว่า รายงานการพยากรณ์ของธนาคารโลกเดือนมิ.ย.2018 ระบุว่า ปี 2019 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียและเมียนมาจะสูงถึง 7.5% และ 6.9% ตามลำดับ สูงกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งอยู่ในระดับ 3% โดยอินเดียมีประชากร 1,350 ล้านคน นับว่ามากเป็นอันดับ 2 ของโลก ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) มีมูลค่า 2,59 0,000ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 6 ของโลก จากสถิติของคณะกรรมการพิจารณาการลงทุน ณ สิ้นเดือนก.ค.2018 พบว่า มีกลุ่มธุรกิจไต้หวันไปลงทุนในอินเดียคิดเป็นมูลค่ารวม 602 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจระดับแนวหน้าอาทิ MEDIATEK ,HONHAI, WISTRON,COMPAL,LITEON นอกจากนี้ยังมีบริษัทผลิตรองเท้า Feng Tay Group บริษัทผลิตยางรถยนต์ CST และบริษัทผลิตเหล็กกล้า CSC เป็นต้น สำหรับการลงทุนในเมียนมาของกลุ่มธุรกิจไต้หวันมีมูลค่าทั้งสิ้น170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วย

Pou Chen Group และ Century Iron and Steel Industrial เป็นต้น

 

นอกจากนี้ สำนักงานการลงทุน กระทรวงเศรษฐการยังได้ร่วมมือกับสำนักงานตัวแทนในต่างประเทศและสำนักงานบัญชี จัดตั้งหน่วยงานสาขาภายใต้ชื่อ Taiwan Desk ในเวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์และไทย รวม 6 ประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือและบริการนักธุรกิจไต้หวันเป็นภาษาจีนและภาษาท้องถิ่นเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ระบบภาษีและแรงงาน เป็นต้น ขณะเดียวกันยังให้บริการนักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับโอกาสและสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนในไต้หวัน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือและการลงทุนระหว่างกัน จากสถิติพบว่า หลัง Taiwan Desk เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการมาเป็นเวลา1 ปีกว่า ได้ให้คำปรึกษาแก่นักลงทุนไปแล้วกว่า 2,000 ราย นับว่ามีประสิทธิผลยอดเยี่ยม

 

การสัมมนาครั้งนี้ได้เชิญ หลี่หวั่นหรง รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการลงทุนของ KPMG และ

หยางซู่จือ หุ้นส่วนในเมียนมาร่วมบรรยายและวิเคราะห์ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนและระบบภาษี รวมถึงโครงสร้างการลงทุน กฎหมายแรงงานและสิทธิพิเศษทางภาษีของอินเดียและเมียนมา นอกจากนี้ยังมี กัวเกิ่งชง กรรมการผู้จัดการใหญ่ MEDIATEK ประจำอินเดียร่วมบรรยายด้วยหัวข้อเรื่อง Make in India พร้อมแนะนำอุตสาหกรรมการสื่อสารและโทรคมนาคม วัฒนธรรมและแนวความคิด ตลอดจนสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนในอินเดีย รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์การลงทุนของ MEDIATEK ในอินเดีย ด้าน เย่เหรินเฉิง อดีตผู้จัดการ TaiMall Shopping Center ในนครย่างกุ้ง ได้วิเคราะห์ภาพรวมด้านการลงทุนในเมียนมา จุดแข็งและจุดอ่อนของเมียนมาในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการขยายฐานธุรกิจอาทิ ที่ดิน บุคลากร โครงสร้างพื้นฐานและศักยภาพทางธุรกิจ เป็นต้น

 

สำนักงานการลงทุน กระทรวงเศรษฐการเน้นย้ำว่า เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของกลุ่มประเทศนโยบายมุ่งใต้ใหม่ในเชิงลึก ในปีนี้มีโครงการจัดการสัมมนาในลักษณะดังกล่าวรวม 3 รอบ ประกอบด้วย รอบที่ 1 เป็นการสัมมนาเพื่อ “แบ่งปันประสบการณ์การลงทุนในเวียดนาม” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา การสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นรอบที่ 2 และ รอบที่ 3 จะเป็นการสัมมนาเพื่อ “แบ่งปันประสบการณ์การลงทุนในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย” มีกำหนดจะจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ต.ค. นี้