ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ได้อันดับ 10 ในหมู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
แหล่งที่มาของข้อมูล Central News Agency
2019-01-17

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ประจำปี 2019 ครอบคลุมมหาวิทยาลัยกว่า 450 แห่งใน 4 ทวีปใหญ่ทั่วโลก มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 10 (ภาพจากคลังรูปภาพของ CNA)

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ประจำปี 2019 ครอบคลุมมหาวิทยาลัยกว่า 450 แห่งใน 4 ทวีปใหญ่ทั่วโลก มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 10 (ภาพจากคลังรูปภาพของ CNA)

มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ได้อันดับ 10 ในหมู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

สำนักข่าว CNA วันที่ 15 ม.ค. 62

เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา Times Higher Education (THE) ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University, NTU) ได้อันดับที่ 10 มาครอง

 

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ประจำปี 2019 (Emerging Economies University Rankings 2019) ครอบคลุมมหาวิทยาลัยกว่า 450 แห่งใน 4 ทวีปใหญ่ทั่วโลก มากกว่าตัวเลข 378 แห่งในปี 2018

 

สำหรับมหาวิทยาลัย 10 อันดับแรกได้แก่ มหาวิทยาลัยชิงหัวในปักกิ่ง มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง University of Science and Technology of China (USTC) มหาวิทยาลัยมอสโกของรัสเซีย มหาวิทยาลับฟู่ตั้น มหาวิทยาลัยนานกิง มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง มหาวิทยาลัยเคปทาวน์ของแอฟริกาใต้ และมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน

 

THE ชี้ว่า แม้ไต้หวันจะมีมหาวิทยาลัย 32 แห่งที่ติดอันดับในปีนี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มี 31 แห่ง หากแต่ในจำนวนนี้ มี 19 แห่งที่มีอันดับลดลง ทำให้เมื่อนับเป็นรายประเทศแล้วไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 5

 

โดย THE เห็นว่า มหาวิทยาลัยในไต้หวันแม้จะมีผลงานที่ดี แต่บรรดามหาวิทยาลัยในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ประเทศอื่นมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่า

 

สำหรับมหาวิทยาลัยของไต้หวันที่มีอันดับลดลงได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจียวทง ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 28 ลดลง 4 อันดับจากปี 2018 มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติไต้หวัน ลดจากอันดับ 22 เมื่อปีที่แล้วมาอยู่ที่อันดับ 34 ในปีนี้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหัวก็จากอันดับ 20 มาอยู่ที่อันดับ 37

 

อย่างไรก็ดี ยังมีมหาวิทยาลัยที่อันดับสูงเช่นกัน คือ มหาวิทยาลัยการแพทย์ไทเป ซึ่งอันดับขยับขึ้นมา 14 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 37 เทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหัว นอกจากนี้ China Medical University และ National Cheng Chi University ต่างก็มีอันดับที่สูงขึ้นเช่นกัน

 

Ellie Bothwell บรรณาธิการของ THE ชี้ว่า “อับดับของมหาวิทยาลัยจากไต้หวันในปีนี้ มีทั้งที่ดีและแย่ แม้จะมีมหาวิทยาลัยที่อันดับแย่ลง แต่ก็มีที่อันดับเพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกัน”

 

นอกจากนี้ บรรณาธิการของ THE ยังเสริมอีกว่า การที่ไต้หวันดำเนินนโยบายสร้างสัมพันธ์กับประเทศอาเซียน เริ่มส่งผลให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงหลังมานี้ มีนักศึกษาจากมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซียเดินทางมาศึกษาต่อในไต้หวันเพิ่มมากขึ้น และเนื่องจากไต้หวันมีอัตราการเกิดที่ลดลงเรื่อยๆ การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเหล่านี้ จะกลายเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาของมหาวิทยาลัยในไต้หวันด้วย

 

Ellie Bothwell ยังชี้อีกว่า เนื่องจากไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งอยู่ใกล้กันมาก จึงถือว่ามีศักยภาพในการดึงดูดทั้งนักศึกษาตลอดจนบุคลากรในการทำงาน หากไต้หวันสามารถใช้จุดนี้ให้เป็นประโยชน์ ก็จะช่วยให้มีการขยายตัวมากขึ้นในอนาคตได้