“นิทรรศการพลังงานลมนานาชาติในภูมิภาคเอเชีย ปี 2019” จัดขึ้นที่ศูนย์จัดแสดงสินค้านครเกาสง (Kaohsiung Exhibition Center) เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา นายจงอิงฟ่ง (ซ้าย) กรรมการผู้จัดการบริษัทการท่าเรือนานาชาติไต้หวัน สาขาไทจง และ Catherine Nettleton (ขวา) ผู้แทนอังกฤษประจำไต้หวัน ลงนามในบันทึกช่วยจำ (MOU) ร่วมกันในวันพิธีเปิดนิทรรศการ โดยในอนาคตจะมีส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางด้านกังหันลมนอกชายฝั่งระหว่างประเทศร่วมกัน (ภาพจากบริษัทการท่าเรือนานาชาติไต้หวัน) สำนักข่าวCNA วันที่13 มี.ค. 62
สำนักข่าว CNA วันที่ 13 มี.ค. 62
ในวันนี้ บริษัทการท่าเรือนานาชาติไต้หวัน (Taiwan International Ports Corporation) ลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ว่าด้วยความร่วมมือทางการจัดสร้างกังหันลมนอกชายฝั่ง (offshore wind power) กับสำนักงานตัวแทนอังกฤษประจำไต้หวัน นายจงอิงฟ่ง กรรมการผู้จัดการบริษัทการท่าเรือ สาขาไทจง เปิดเผยว่า การลงนาม MOU ร่วมกับสำนักงานตัวแทนอังกฤษประจำไต้หวันในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถนำเอาประสบการณ์ในการพัฒนากังหันลมนอกชายฝั่งของอังกฤษที่รุดหน้าไปไกล มาปรับใช้ในการเปิดมุมมองที่เป็นสากลในการสร้างท่าเรือพลังงานสีเขียว เพื่อปรับปรุงการให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือ และในอนาคตทั้งสองฝ่ายจะมีการแลกเปลี่ยนด้านพลังงานลมนอกชายฝั่งรวมทั้งข้อมูลทางทะเลที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น
ด้าน Catherine Nettleton ผู้แทนอังกฤษประจำไต้หวันได้เปิดเผยถึงความคาดหวังเช่นเดียวกันว่าความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งประโยชน์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับท่าเรือของไต้หวันอย่างมาก ในช่วงระหว่างที่มีการก่อสร้างและการดำเนินงานฟาร์มพลังงานลมนอกชายฝั่งไต้หวัน โดยที่การลงนามในบันทึกช่วยจำ หรือ MOU ดังกล่าว เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการประกาศหนังสือปกขาวเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่งของรัฐบาลอังกฤษด้วย
Catherine Nettleton กล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษประกาศที่จะทุ่มทรัพยากรของรัฐในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะยาวอย่างมีเสถียรภาพ และเป็นการสร้างระบบพลังงานสะอาดต้นทุนต่ำให้กับประเทศอังกฤษ รวมทั้งพัฒนาความสามารถทางเทคนิคด้านพลังงานลมนอกชายฝั่งให้กับบุคลากรของอังกฤษด้วย ปัจจุบันอังกฤษเป็นเจ้าของฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเพียบพร้อมไปด้วยประสบการณ์รวมทั้งความเชี่ยวชาญในการพัฒนากังหันลม ซึ่งสามารถแบ่งปันให้กับบริษัทการท่าเรือนานาชาติไต้หวันและหุ้นส่วนอื่นๆ ด้านพลังงานลมนอกชายฝั่งได้
จากข้อมูลของบริษัทการท่าเรือนานาชาติไต้หวัน พบว่า ฟาร์มกังหันลมแห่งแรกของอังกฤษสร้างขึ้นเมื่อปี 2003 และด้วยความพยายามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คาดว่ากังหันลมที่ถูกติดตั้งไปก่อนหน้านี้ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 7.6 GW จะถูกพัฒนาให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นเป็น 10 GW ในปี 2020 ความต้องการโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากเช่นนี้จึงดึงดูดความสนใจจากภาคอุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่งจากทั่วโลก
นายจงอิงฟ่งกล่าวว่า อังกฤษให้ความร่วมมือในการดำเนินการก่อสร้างการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในพื้นที่ และการบ่มเพาะในด้านต่างๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เช่น การก่อสร้างท่าเรือ การวางเคเบิ้ลใต้ทะเล การซ่อมบำรุง และการวางแผนให้คำปรึกษา เป็นต้น ซึ่งเป็นการตอบรับกับกระแสการพัฒนาพลังงานทดแทนทั่วโลกในขณะนี้ โดยที่ผู้ประกอบการด้านไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งของอังกฤษ ได้เริ่มส่งออกสินค้าและบริการไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศอังกฤษด้วย
นายจงอิงฟ่งเปิดเผยว่า เพื่อตอบรับนโยบายการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่งของรัฐบาล บริษัทการท่าเรือนานาชาติไต้หวันให้ความร่วมมือในการวางแผนและเตรียมความพร้อมในอุตสาหกรรมพลังงานลมตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านอย่างกระตือรือร้น ซึ่งการก่อสร้างท่าเรือหมายเลข 2 สำหรับโครงการฟาร์มกังหันลมแห่งแรกที่ท่าเรือไถจงได้แล้วเสร็จเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยท่าเรือหมายเลข 2 แห่งนี้ถูกสร้างให้มีความแข็งแรงมากขึ้นเพื่อรองรับภารกิจการประกอบใบพัดกังหันลม คาดว่าจะมีการทดลองการประกอบใบพัดของกังหันลมขนาดใหญ่เป็นครั้งแรกในไต้หวันในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้