ปธน.ไช่ฯ (กลางขวา) เริ่มแผนการเดินทางล่องทะเลแห่งประชาธิปไตย โดยออกเดินทางเยือน 3 ประเทศพันธมิตรในมหาสมุทรแปซิฟิก และเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐนาอูรูเป็นประเทศที่ 2 ตามแผนการเดินทางฯ ปธน.ไช่ฯ ได้รับการต้อนรับและรับมอบการสวมมงกุฎดอกไม้ ที่ได้รับจากพิธีต้อนรับที่จัดขึ้นอย่างสมเกียรติ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสาธารณรัฐนาอูรู โดยหลังได้รับมงกุฎดอกไม้แล้ว ประธานาธิบดีไช่ฯ ได้ลูบคลำมงกุฏดอกไม้ด้วยความดีใจเป็นอย่างยิ่ง สำนักข่าว CNA วันที่ 24 มี.ค. 62
สำนักข่าว CNA วันที่ 24 มี.ค. 62
ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน แห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางถึงสาธารณรัฐนาอูรู เมื่อค่ำวันที่ 24 มี.ค. ตาม “แผนการเดินทางท่องทะเลแห่งประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางแห่งที่ 2 ซึ่งตามถนนหนทางในนาอูรูต่างประดับประดาไปด้วยธงชาติ โดยมีประชาชนชาวนาอูรู คอยโบกธงชาติให้การต้อนรับปธน.ไช่ฯ และคณะ ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสาธารณรัฐนาอูรู (Nauru Island International Airport : INU) ด้วย
โดยปธน.ไช่ฯ ออกเดินทางมุ่งหน้าเยือนสาธารณรัฐนาอูรู โดยเครื่องบินส่วนตัว ไปถึงที่หมายเมื่อเวลา19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (เป็นเวลา 15.00 น. ของไต้หวัน) ซึ่งนายโจวจิ้นฟา ตัวแทนไต้หวันประจำสาธารณรัฐนาอูรู พร้อมด้วย Mr. Michael Aroi รมช.ต่างประเทศของนาอูรู ได้เดินทางมาต้อนรับประธานาธิบดีไช่ฯ ถึงท่าอากาศยาน INU ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ กำหนดการระหว่างเยือนสาธารณรัฐนาอูรูของปธน.ไช่ฯ ในครั้งนี้ มีโปรแกรมค่อนข้างแน่น ทั้งการร่วมรับประทานกลางวันกับ Cyril Buraman ประธานสภาผู้แทนราษฎร , เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นาอูรู , เข้าพูดคุยกับ “กลุ่มคณะแพทย์จิตอาสาเฉพาะทางกระดูกและข้อ” ของโรงพยาบาลทหารผ่านศึกไทจง (Taichung Veterans General Hospital) นอกจากนี้ ในระยะเวลาแห่งการเยือนครั้งนี้ ผู้นำของทั้งสองประเทศจะร่วมพิธีเปิด “ศูนย์ศึกษาการเกษตรกรรมและการปศุสัตว์ไต้หวัน” เพื่อกระชับความร่วมมือทั้งสองฝ่ายให้แนบแน่นยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมอนุสาวรีย์ Boe Declaration และร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการป้องกันภัยคุกคามทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระหว่างรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสาธารณรัฐนาอูรูอีกด้วย
อุนสาวรีย์ข้างต้นถูกตั้งขึ้นเมื่อครั้งจัดการประชุมประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands Forum) ในปี 2018 โดยมีจุดประสงค์เพื่อการเป็นสักขีพยาน ในการลงนามปฎิญญาร่วมระหว่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศอื่นในหมู่เกาะแปซิฟิกที่มาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้น โดยเนื้อหาในปฎิญญาฉบับนี้ ได้กล่าวถึงปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ถือเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะแปซิฟิก พร้อมเรียกร้องให้มีการดำเนินการตามข้อสัญญาในความตกลงปารีส (Paris Agreement) และนี่เป็นครั้งแรกที่นำเอาภัยคุกคามด้านสภาพภูมิอากาศมาผนวกรวมเข้าไว้ในแถลงการณ์ด้านความมั่นคง
นอกจากนี้ ในวันที่ 26 มี.ค. ปธน.ไช่ฯ มีกำหนดการเดินทางไปเข้าร่วม “การประชุมผู้นำหญิงแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก” ที่สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ และร่วมพูดคุยในงานเสวนากับผู้สื่อข่าวที่ติดตามการเดินทางเยือนประเทศพันธมิตรในครั้งนี้ และหลังออกเดินทางจากหมู่เกาะมาร์แชลล์ จะแวะพักที่เกาะฮาวายของสหรัฐฯ จากนั้นจะมีการแสดงปาฐกถาในฮาวาย โดยมูลนิธิ Heritage Foundation จะทำการถ่ายทอดสัญญาณสดด้วย ซึ่ง Mr. Cory Gardner ประธานคณะอนุกรรมการทูตพันธมิตรกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก ภายใต้วุฒิสภาของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และ Mr. Ted Yoho สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมด้วย ก่อนที่ปธน.ไช่ฯและคณะจะเดินทางกลับสู่ไต้หวันในวันที่ 28 มี.ค. 62