นายเฉินสือจง รมว.สาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน (MOHW) กล่าวว่า ไต้หวันยินดีช่วยพัฒนาและยกระดับการดูแลสุขภาพ-ของทั่วโลกให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมในองค์การอนามัยโลก (WHO) (ภาพจาก Chin Hung-hao) ติดต่อกับ Taiwan Today ได้ที่ ttonline@mofa.gov.tw
Taiwan Today 21 มี.ค. 62
นายเฉินสือจง รมว.สาธารณสุขและสวัสดิการ (MOHW) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า ความเชี่ยวชาญในด้านการควบคุมโรคและการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไต้หวัน สามารถช่วยให้การพัฒนาทางการแพทย์ทั่วโลกมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยไต้หวันยินดีจะแบ่งปันประสบการณ์ดังกล่าว ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 72 (the 72nd World Health Assembly, WHA) ที่จะจัดขึ้นที่นครเจนีวาของสวิสเซอร์แลนด์ ในระหว่างวันที่ 20 – 28 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้
ในการให้สัมภาษณ์กับไต้หวัน ทูเดย์ (Taiwan Today) ฉบับวันที่ 20 มี.ค. รมว. เฉินฯ ชี้ว่า การเปิดโอกาสให้ไต้หวันมีส่วนร่วมในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจตัดสินใจของ WHO จะช่วยทำให้การประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้าอย่างครอบคลุม (Universal Health Coverage - UHC) ที่ถือเป็นภารกิจอันดับต้นๆ ของ WHO บรรลุไปอีกระดับ
โดยรมว.เฉินฯ เสริมว่า การรับรองการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุม คือเป้าหมายหัวใจหลักของไต้หวัน ซึ่งจะเห็นได้จากข้อมูลระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ และโครงการความช่วยเหลือทางการแพทย์ระดับนานาชาติ
โดยรมว.เฉินฯ กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ไต้หวันเคยได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศมาก่อน ในวันนี้ไต้หวันพัฒนาจนมีศักยภาพมากพอที่จะตอบแทนให้กับประชาคมโลก ด้วยการให้ความช่วยเหลือแก่ที่ที่ต้องการมากที่สุด” และยังกล่าวเสิรมว่า “ไต้หวันจะสร้างคุณประโยชน์ที่จำเป็นต่อเครือข่ายสุขภาพทั่วโลก” เพื่อให้แผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วทุกหนแห่งบนโลก
รมว.เฉินฯ ชี้แจงและยกตัวอย่างประกอบว่า ศูนย์อบรมบุคลากรทางการแพทย์นานาชาติของไต้หวัน (Taiwan International Healthcare Training Center : TIHTC) ถือเป็นตัวอย่างสำคัญ ที่เป็นผลจากความพยายามเหล่านี้ โดย MOHW ได้ก่อตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้นเมื่อปีค.ศ. 2002 เพื่อเปิดให้การอบรมด้านเวชศาสตร์คลีนิค การฝังเข็ม การรักษาด้วยยาจีนและการจัดการดูแลสุขภาพ ซึ่งไต้หวันมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก ให้กับบุคลากรชาวต่างชาติ และนับจนถึงสิ้นปีที่ผ่านมา มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จำนวนประมาณ 1,500 คนจาก 65 ประเทศหรือเขตพื้นที่ ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรดังกล่าว
และอีกหนึ่งความสำเร็จที่ส่งผลต่อวงการแพทย์ คือ โปรแกรมการให้บริการและสนับสนุนทางเครื่องมือแพทย์ทั่วโลก (Global Medical Instrument Support and Service Program) ซึ่งริเริ่มโดย MOHW เมื่อปีค.ศ. 2005 โดยเป็นการบูรณาการของโรงพยาบาลหลายแห่งในไต้หวัน เพื่อจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ที่สามารถใช้งานได้ ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งทางโครงการได้จัดส่งเครื่องมือแพทย์ จำนวนกว่า 5,400 รายการ ผ่านทางเรือไปยังสถาบันการแพทย์ใน 33 ประเทศหรือเขตพื้นที่
รมว.เฉินฯ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมานี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ ได้มุ่งเน้นไปยังการพัฒนาความร่วมมือเชิงลึกกับประเทศกลุ่มเป้าหมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โดยตั้งแต่ปีค.ศ. 2018 เป็นต้นมา MOHW ได้มอบหมายให้ศูนย์การแพทย์ของไต้หวัน 6 แห่ง ขยายความร่วมมือด้านการดูแลสุขภาพ และจัดหลักสูตรการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ ที่มาจากอินเดีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไทยและเวียดนาม
โดยในปี 2018 มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมจากหลักสูตรดังกล่าว ตามโครงการหนึ่งประเทศ หนึ่งศูนย์รวม (One country,One center) รวม 336 คน ทั้งนี้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ไต้หวันได้ขยายกลุ่มประเทศเป้าหมายเพิ่มขึ้นอีก 2 ประเทศ โดยเพิ่มบรูไนและเมียนมาร์เข้ามาด้วย
รมว. เฉินฯ ชี้ว่า หลักสูตรการฝึกอบรมเหล่านี้ ได้มีปรับให้เหมาะสมตามความต้องการของโรงพยาบาลที่มีความร่วมมือด้วยในประเทศกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศดังกล่าวข้างต้น จะสามารถบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงแก้ไขบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างแท้จริง พร้อมกันนี้ เราคาดหวังว่า ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม จะกลายเป็นครูผู้ฝึกสอนที่จะเป็นเมล็ดพันธุ์สำคัญ ซึ่งเมื่อกลับไปยังประเทศของตน จะสามารถนำเอาความรู้และความชำนาญต่างๆ ไปใช้และถ่ายทอดแก่ผู้อื่น เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป อันเป็นเป้าหมายเชิงลึกของโครงการนี้ ที่ต้องการสร้างผลสัมฤทธิ์ในระยะยาวต่อไป
ถ้อยแถลงของรมว. เฉินฯ ยังได้กล่าวถึง การมีส่วนร่วมในองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อให้ไต้หวันมีโอกาสอุทิศประสบการณ์ด้านสาธารณสุข ในการสร้างระบบสุขภาพที่มีความยืดหยุ่น และให้การช่วยเหลือทางการแพทย์ระดับนานาชาติ ซึ่งถือเป็นการอุดช่องโหว่ของเครือข่ายความมั่นคงด้านสุขภาพทั่วโลกได้อีกด้วย
ในฐานะที่ไต้หวันเป็นหนึ่งในสมาชิกของประชาคมโลก ไต้หวันมีความพยายาม และต้องการที่จะลดผลกระทบจากการถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก และดำเนินการปกป้องสาธารณสุขและสวัสดิการของผู้คนทั้งในและต่างประเทศ
และอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่นำเสนอโดยรมว.เฉินฯ คือการก่อตั้งศูนย์วิจัยเพื่อควบคุมและป้องกันโรคระบาดที่มียุงเป็นพาหะ (National Mosquito – Borne Diseases Control Research Center) ในเดือนเม.ย. 2016 ที่จังหวัดเหมียวลี่ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของไต้หวัน และเปิดสาขาอีกแห่งในนครไถหนาน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของไต้หวันในเดือนม.ค. ของปีถัดมา
จากการที่มีห้องปฏิบัติการในศูนย์วิจัยที่มีเครื่องมือทันสมัย ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันศูนย์วิจัยสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ ทำให้สามารถหาตำแหน่งพื้นที่แพร่พันธุ์ของยุง และค้นหาพาหะของเชื้อไวรัสเต็งกี (dengue) กับไวรัสซิก้า (zika) ได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น “เนื่องจากไวรัสเต็งกี เป็นต้นตอปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุขในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากประสบการณ์ของไต้หวันในการจัดการปัญหานี้ เชื่อว่าจะสร้างคุณประโยชน์ต่อโลกได้เป็นอย่างมาก” รมว.เฉินฯ กล่าว
ในขณะเดียวกัน ความรู้ด้านการป้องกัน สอดส่อง และรักษาวัณโรคของไต้หวันก็เป็นที่น่าจับตา จากข้อมูลสถิติของ MOHW อัตราการเกิดวัณโรคในไต้หวัน ลดลงกว่าครึ่ง ในระหว่างปีค.ศ. 2005 ถึง 2018 โดยเหลือเพียง 37 เคสต่อทุก 100,000 คน
รมว.เฉินฯ ชี้ว่า “นี่ถือเป็นความสำเร็จที่มีความสำคัญ เนื่องจากมีการเดินทางเข้า - ออก ระหว่างไต้หวันกับประเทศที่มีอัตราการแพร่ระบาดของวัณโรคสูงอยู่บ่อยครั้ง”
โดยรมว. เฉินฯ ยังกล่าวอีกไว้ กุญแจที่นำไปสู่ความสำเร็จนี้ คือการให้การรับรองว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง ในราคาที่ผู้คนทั่วไปสามารถจ่ายได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ไต้หวันต้องการแบ่งปันประสบการณ์ ด้านการพัฒนาระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (NHI) ให้กับทั่วโลก
รมว.เฉินฯ เผยว่า ไต้หวันประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ WHO คาดหวังในเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มาเป็นระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่ที่มีการก่อตั้ง NHI เป็นต้นมา ไต้หวันยังไม่เคยเผชิญกับปัญหา ที่ประชาชนต้องล้มละลายเนื่องจากค่าใช้จ่ายทางการแพทย์
ระบบนี้เอื้อต่อการเข้าถึงการบริการที่ครอบคลุมทั้งการรักษาแบบตะวันตก การรักษาแบบแพทย์แผนจีน และการรักษาทางทันตกรรม ซึ่งช่วยทำให้ค่าอายุเฉลี่ยของประชาชนไต้หวันเพิ่มขึ้นเป็น 80.4 ปีจากเดิมที่มีอายุเฉลี่ย 74.5 ปีในปี 1995 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มดำเนินการระบบดังกล่าว
เพื่อให้เกิดความยุติธรรม เบี้ยประกันสุขภาพต้องถูกจัดสรรตามอัตราส่วนรายได้แต่ละบุคคล ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.69 ของรายได้ โดยที่ทั้งลูกจ้าง นายจ้างและรัฐบาลจะร่วมกันรับภาระคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30, 60 และ 10 ตามลำดับ และหากมีรายได้พิเศษเสริม อาทิเงินโบนัส หรือเงินปันผล ก็จะมีการเก็บเพิ่มอีกร้อยละ 1.91% ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นมา
จำนวนการเข้ารับการรักษาและการบริโภคยา ในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (NHI) มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา และในระยะนี้ รัฐบาลได้มีการจัดหายาต้านไวรัสตับอักเสบ C เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดหวังจะทำให้สุขภาพของประชาชนได้รับการรักษาให้ดียิ่งขึ้น ตามข้อมูลของ MOHW ระบุไว้ว่า โรคไวรัสตับอักเสบ C ส่งผลกระทบต่อประชาชนไต้หวันกว่า 400,000 คน อีกทั้งยังเป็นสาเหตุหลักของการนำไปสู่การเกิดมะเร็งตับอีกด้วย
ในปีนี้ ทางรัฐบาลได้ทำการจัดสรรงบประมาณ 6.54 พันล้านเหรียญไต้หวัน (หรือประมาณ 211.4 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ) เพื่อผลิตยารักษาไวรัสตับอักเสบ C ให้กับประชาชนไต้หวัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งและขจัดโรคดังกล่าวให้หมดไปจากภูมิภาคภายในปีค.ศ. 2025 และคาดการณ์ว่าภายหลังจากนั้นอีก 5 ปี WHO จะดำเนินการในเป้าหมายเดียวกัน คือการขจัดโรคไวรัสตับอักเสบให้หมดสิ้นไปจากโลกใบนี้
ถ้อยแถลงของรมว. เฉินฯ ยังระบุอีกว่า ข้อตกลงที่ไต้หวันจะผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ระบบนี้ครอบคลุมการให้บริการแก่ประชาชนได้มากกว่าร้อยละ 99 ซึ่งนอกจากบุคคลทั่วไป ยังรวมไปถึงนักโทษเรือนจำ ชาวต่างชาติที่เดินทางมาศึกษาต่อในไต้หวัน หรือชาวต่างชาติที่มาทำงานและพำนักในไต้หวัน รวมไปถึงบุตรหลานของผู้อพยพใหม่ ให้ได้รับการรักษาที่เท่าเทียมกันอย่างถ้วนหน้า
โดยรมว.เฉินฯ ยังย้ำอีกว่า “กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เพราะฉะนั้นเราจะให้บริการด้านการป้องกันและควบคุมโรคระบาดแก่ผู้ที่มีความจำเป็นอย่างทั่วถึง
รมว.เฉินฯ ได้เผยผลสำรวจโดยการจัดทำของ MOHW เมื่อปีที่แล้วว่า ผู้ตอบแบบสอบถามได้แสดงความพึงพอใจต่อระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของไต้หวัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86.5% ข้อมูลนี้สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงสำหรับประเทศอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมทั่วโลก
ท้ายสุด รมว.เฉินฯ กล่าวว่า “ไต้หวันกำลังค้นหาความเป็นไปได้ในการเข้ามีส่วนร่วมใน WHA อย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงการร่วมประชุมทางเทคนิค และเข้าร่วมกิจกรรมขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อที่จะแบ่งปันองค์ความรู้และเป็นการตอบแทนต่อประชาคมโลก” สุดท้ายนี้ “ผมเชื่อมั่นว่า การมีส่วนร่วมของไต้หวัน จะทำให้ประชาคมโลกมีการเตรียมพร้อมที่ดี ในการเผชิญกับความท้าทายด้านสุขภาพของทั่วโลกต่อไป” (OC-E)