โคบี ไบรอันต์ อดีตนักบาสเก็ตบอลชื่อดังของ NBA เจ้าของฉายา “แบลคแมมบา” ได้สวมชุดสูทของ Gaute ในการถ่ายภาพปกนิตยสาร GQ เมื่อต้นปี 2019 ที่ผ่านมา (ภาพจากนิตยสาร GQ )
สำนักข่าวCNA วันที่ 6 เม.ย. 62
จากแผนการตลาดอันลึกล้ำของ Gaute แบรนด์ชุดสูทชื่อดังของไต้หวัน ทำให้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โคบี ไบรอันต์ (Kobe Bryant) อดีตนักบาสเก็ตบอลชื่อดังของ NBA เจ้าของฉายา “แบลคแมมบา” ได้มีโอกาสสวมใส่ชุดสูทของ Gaute ในการถ่ายภาพลงนิตยสาร GQ จนส่งผลให้งานการออกแบบและอุตสาหกรรมชุดสูทของไต้หวัน ได้รับความสนใจจากทั่วโลกอีกครั้ง
โดย Gaute ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 แล้วในปีนี้ โดยการก่อตั้งของหลี่เซิงห้าววัย 30 ปี และหลิวฮั่นเจิ้ง วัย 28 ปี ซึ่งหลิวฮั่นเจิ้งกล่าวขณะให้สัมภาษณ์ว่า ชุดสูทไต้หวันถือเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีอายุ โดยคนวัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจในธุรกิจนี้ ทั้งที่จริงแล้ว ชุดสูทถือเป็นเครื่องแต่งกายที่มีความสำคัญในเวทีสากลเป็นอย่างมาก และคนไต้หวันมักจะใส่สูทเฉพาะในโอกาสที่ไปร่วมแต่งงานหรือในการทำงาน พวกเขาจึงอยากทำให้การใส่ชุดสูท เกิดเป็นกระแสนิยมขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน และต่อยอดการแต่งกายด้วยชุดสูท ให้มีความหลากหลายและผสมผสานเข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนให้มากขึ้น
หลิวฮั่นเจิ้งยังแสดงความเห็นอีกว่า การเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์และเวทีสากลมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถสร้างความแตกต่างในตลาดได้ และคงไว้ซึ่งความตั้งใจแรกเริ่มในการประกอบธุรกิจ จึงจะสามารถทำให้สินค้าของตนเข้ากับสไตล์ของแฟชั่นที่ตลาดโลกยอมรับ และมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องในเวทีโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงแต่การก้าวไปสู่ต่างประเทศ หากแต่ยังต้องนำข้อมูลของตลาดโลกกลับมาป้อนให้กับตลาดในประเทศด้วย เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้น และเชิญให้ผู้ประกอบการต่างชาติเดินทางมาเยือนไต้หวัน เพื่อนำเอาเอกลักษณ์ของไต้หวัน ไปเผยแพร่สู่ประชาคมโลก
“การก้าวเข้าสู่เวทีสากลเป็นเป้าหมายของเรามาโดยตลอด” หลี่เซิงห้าวกล่าว ชุดสูทเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมต่างประเทศแต่แรกเริ่ม จะทำอย่างไรให้ชาวต่างชาติให้ความสนใจกับชุดสูทไต้หวัน ในความเป็นจริงแล้ว ความหลากหลายทางรูปแบบและความคิดสร้างสรรค์ต่างก็ถือเป็นจุดเด่นของไต้หวันที่ดึงดูดที่ความสนใจของชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก “พวกเราอยากนำเสนอเอกลักษณ์เหล่านี้มาโดยตลอด” มิใช่เพียงแค่การเลียนแบบจากต่างประเทศ ในยุคสมัยของอินเทอร์เน็ตที่ไร้พรมแดนนี้ หากเราไม่ก้าวออกไป ก็คงจะไม่สามารถจะรักษาศักยภาพทางการแข่งขันได้
หลิวฮั่นเจิ้งยังเผยอีกว่า ประจวบกับที่ตนได้รู้จักกับนักออกแบบของนิตยสารGQ จึงถูกเชิญให้มาร่วมออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับโคบี ไบรอันต์ และเมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันของหลายๆแบรนด์ ทีมงานจึงได้ร่วมกันศึกษาเกี่ยวกับความชอบและสไตล์การใส่สูทของไบรอันต์ จากนั้นจึงหาองค์ประกอบที่เหมาะสมกับเอกลักษณ์เฉพาะตัว และถือว่าโชคดีมากที่ได้รับความสนใจจาก “แบลคแมมบา” ในครั้งนี้
ข้อมูลขนาดลำตัวของโคบี ไบรอันต์ที่ได้รับในตอนแรก เป็นข้อมูลฉบับเก่า ด้วยประสบการณ์และการหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต และการวิเคราะห์ความเคยชินในเครื่องแต่งกายของไบรอันต์ ทำให้เราค้นพบว่า เขามีความชื่นชอบในชุดสูทในรูปแบบของนักธุรกิจเป็นพิเศษ โดยใช้ลายแถบและสีเรียบเป็นหลัก ทีมงานของเราจึงเลือกชุดสูทรูปแบบนักธุรกิจให้กับไบรอันต์เช่นเคย แต่เล่นลายโดยการใช้ลายหมากรุกเข้ามาเสริม ซึ่งไม่กระทบถึงสไตล์และรูปแบบเดิม
หลังจากที่โคบี ไบรอันต์ ได้สวมชุดสูทของ Gaute ถ่ายภาพปกนิตยสาร GQ ก็มีลูกค้าจำนวนไม่น้อยได้เข้ามาติดต่อหรือโทรมาสอบถาม ซึ่งต่างให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า รูปแบบของชุดสูทชุดนี้ดูเป็นธรรมชาติ และเมื่อเทียบกับการออกแบบในรูปแบบเก่าแล้ว ดูมีความคล่องตัวกว่ามาก ลูกค้าส่วนใหญ่จึงมักเจาะจงจะสวมใส่ชุดสูทในรูปแบบเดียวกับไบรอันต์
เมื่อได้เห็นคนรุ่นใหม่ เริ่มให้ความสนใจในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายมากขึ้น หลี่เซิงห้าวจึงเห็นว่า นี่ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ดี พร้อมกล่าวเสริมว่า การที่อุตสาหกรรมจะรุดหน้าต่อไปได้ ไม่สามารถอาศัยแต่เพียงความสำเร็จของแบรนด์เพียงหนึ่งเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับจำนวนของกลุ่มผู้ประกอบการด้วย การมีผู้ประกอบการหน้าใหม่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่ามีความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้น จึงหวังว่าจะนำรูปแบบใหม่ของธุรกิจที่เป็นแบบสั่งตัด (Made to Measure , MTM) มาใช้ เพื่อผสมผสานรูปแบบของต่างชาติ ให้เข้ากับความเคยชินในการใช้จ่ายของคนไต้หวัน อันจะเป็นการกระตุ้นการพัฒนาในรูปแบบใหม่ของอุตสาหกรรม