ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ครัวส่วนตัว ปรุงแต่งเลิศรสแห่งชีวิต
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2019-04-22

Sคุณสื่อต๋าหลู่อยู่ในกลุ่มคนชอบกินเนื้อ จึงนิยมเสิร์ฟเมนคอร์สด้วยเนื้อวัวเกรดพรีเมียมชั้นเลิศ

คุณสื่อต๋าหลู่อยู่ในกลุ่มคนชอบกินเนื้อ จึงนิยมเสิร์ฟเมนคอร์สด้วยเนื้อวัวเกรดพรีเมียมชั้นเลิศ

 

โดยทั่วไปแล้ว ครัวส่วนตัวหรือ Private Kitchen ก็คือร้านอาหารที่ต้อนรับแขกแบบเน้นความเป็นส่วนตัวซึ่งต้องจองล่วงหน้า ปกติแล้วจะไม่มีรายการอาหารประจำ และไม่มีป้ายชื่อร้าน โดยมีเจ้าของสถานที่ทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อครัวและพนักงานเสิร์ฟ และจะไม่เปิดให้บริการต่อบุคคลภายนอก โดยใช้โทรศัพท์เครื่องเดียวในการเปิดประตูสู่การบริการแบบส่วนตัว ธุรกิจครัวส่วนตัวเริ่มเป็นที่นิยมในไต้หวันมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว ยิ่งในช่วงหลายปีหลังมานี้ ก็มีคนในเจเนอเรชันใหม่ๆ ก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจนี้มากขึ้น ถือเป็นการเพิ่มสีสันแห่งความแปลกใหม่ให้กับวัฒนธรรมอาหารของไต้หวันได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

ไอศกรีมคาราเมลบานานาสปลิต ของร้าน SAVOR ที่เสิร์ฟพร้อมกับวาฟเฟิลและเชอร์รี ราดซอสบลูเบอร์รีไอศกรีมคาราเมลบานานาสปลิต ของร้าน SAVOR ที่เสิร์ฟพร้อมกับวาฟเฟิลและเชอร์รี ราดซอสบลูเบอร์รี

วลา 1 ทุ่มตรง บนชั้น 3 ของแฟลตเก่าๆ แถบถนนเวินโจวเจีย (溫州街) ของกรุงไทเป ได้ยินเสียงจานชามช้อนส้อมกระทบกัน พร้อมกับเสียงพูดคุยและหัวเราะอย่างสนุกสนานล่องลอยมาเป็นระยะ นี่คือเสียงที่เกิดขึ้นในระหว่างการรับประทานอาหารของเพื่อนสนิท 4 คน ที่ตั้งหน้าตั้งตารอการมารับประทานอาหารร่วมกันที่ครัวส่วนตัวแห่งนี้

พ่อครัวใหญ่วัยหนุ่มในชุดเชฟสีขาวซึ่งรับหน้าที่เป็นพนักงานเสิร์ฟด้วย กำลังยืนอธิบายความเป็นมาของอาหารแต่ละรายการ “เนื้อหมูจานนี้ตุ๋นด้วยเบียร์ซึ่งมีสรรพคุณทำให้เนื้อมีความนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง แถมยังมีกลิ่นหอมของมอลต์และฟองเบียร์ด้วย” แน่นอนว่าเนื้อหมูติดมันชิ้นใหญ่ในจาน ทั้งอ่อนนุ่มและหอมกรุ่น กระเพาะหมูก็มีความเหนียวนุ่มเคี้ยวมัน ทำให้ผู้ที่ได้ลิ้มลองรู้สึกติดใจในรสชาติเป็นอย่างมาก พ่อครัวใหญ่ของเรายังพูดอีกว่า “เนื้อตุ๋นจานนี้จะมีรสจัดกว่า ดังนั้น เมื่อนำมารับประทานร่วมกับข้าวโพดและหอยตลับ รสชาติที่ผสมผสานความสดใหม่เข้ากับน้ำซอส จะช่วยตัดรสมันออกไป และอาจเป็นเพราะผมเป็นคนไถหนาน ทำให้ชอบทำรสชาติของอาหารออกทางหวานนิดๆ” หลังจบการสนทนาเรื่องอาหารกับแขกแล้ว พ่อครัวใหญ่ก็รีบกลับเข้าครัวไปเตรียมอาหารจานถัดไป และเมื่อลูกค้าบนโต๊ะอาหารตะโกนเสียงดังๆ ขึ้นมาว่า “อร่อยมาก อยากกินเพิ่มขึ้นอีก” พ่อครัวคนเก่งก็จะใจกว้างเพิ่มเครื่องให้กับอาหารที่ปรุงออกมา ไม่ว่าจะเป็นแกง เนื้อ หรือกับข้าวอื่นๆ อยู่ร่ำไป เพื่อตอบแทนที่แขกผู้มาเยือนได้ให้ความชื่นชมและรับประทานอาหารที่ถูกปรุงขึ้นมาอย่างเอร็ดอร่อย และเมื่อรับประทานไปสักพัก พ่อครัวของเราก็จะยกเบียร์ลิ้นจี่และเบียร์องุ่นที่หมักเอง ออกมาเสิร์ฟและร่วมดื่มกับลูกค้าไปด้วยอย่างมีความสุข

ธุรกิจครัวส่วนตัวนอกสถานที่ ซึ่งใช้พนักงานเพียงคนเดียวให้บริการทุกอย่าง ต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจเป็นอย่างมาก แต่ก็เป็นสิ่งที่คุณสื่อต๋าหลู่ (史達魯) วัย 34 ปี ถือเป็นรูปแบบการทำธุรกิจอันเป็นเป้าหมายสำหรับอาชีพพ่อครัว เป็นอาชีพในฝันของเขา “ผมชอบรับประทานอาหารอร่อยๆ และชอบลงมือปรุงเอง แถมยังชอบนำอาหารที่ทำขึ้นมาแบ่งปันและแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นด้วย”

คุณสื่อต๋าหลู่ จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตจากมหาวิทยาลัย National Central University (NCU) ในขณะที่ยังเรียนอยู่ ก็มักจะชวนเพื่อนๆ มารับประทานอาหารที่เขาปรุงขึ้นเป็นประจำ และเมื่อสองปีก่อน คุณสื่อเริ่มรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำในการเป็นวิศวกรด้าน IT ที่มีความมั่นคงและมีเงินเดือนสูงไม่น้อย โดยร่วมหุ้นกับเพื่อนในการเปิดธุรกิจแนวใหม่ ที่นำเอากาแฟมาผสมผสานกับความเป็นครัวส่วนตัว ก่อนที่เขาจะตัดสินใจถอนตัวออกมาในช่วงปลายปี 2013  และหันมาทำธุรกิจจัดงานเลี้ยงนอกสถานที่และสอนการทำอาหารถึงบ้าน โดยอาศัยชื่อเสียงแบบปากต่อปากของลูกค้าเก่าๆ ด้วยความใฝ่ฝันที่จะเป็นพ่อครัวที่มีธุรกิจครัวส่วนตัวเป็นของตัวเอง

 

คุณสื่อต๋าหลู่ (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้ประกอบกิจการด้านการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ ชอบครัวส่วนตัวแบบเปิดเป็นอย่างมาก และหากวันไหนอารมณ์ดี ก็จะยกเบียร์ที่หมักเองออกมาเสิร์ฟดื่มร่วมกับลูกคุณสื่อต๋าหลู่ (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้ประกอบกิจการด้านการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ ชอบครัวส่วนตัวแบบเปิดเป็นอย่างมาก และหากวันไหนอารมณ์ดี ก็จะยกเบียร์ที่หมักเองออกมาเสิร์ฟดื่มร่วมกับลูก

ร้านที่อยู่ในลิสต์ของเหล่านักชิม

ครัวส่วนตัวหมายถึงร้านอาหารเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในย่านที่อยู่อาศัย ให้บริการเฉพาะการจองล่วงหน้า ไม่เปิดบริการแก่บุคคลภายนอก และไม่บริการแขก walk in โดยให้บริการเฉพาะลูกค้าที่รู้จักกัน ผ่านการบอกเล่าแบบปากต่อปาก รวมทั้งยังต้องมีจำนวนคนมากพอด้วยจึงจะสามารถจองโต๊ะได้

ปกติแล้วครัวส่วนตัวจะไม่มีรายการอาหารประจำ พ่อครัวจะเป็นผู้ไปเลือกซื้อวัตถุดิบที่จะใช้ โดยจะกำหนดรายการอาหารตามวัตถุดิบที่มีในวันนั้น และมีครัวส่วนตัวบางราย จะมีบริการไปทำอาหารให้ลูกค้าถึงบ้าน ซึ่งพ่อครัวจะต้องเดินทางมาดูข้าวของเครื่องใช้ที่บ้านของลูกค้าก่อนว่ามีอะไรบ้าง ก่อนจะตัดสินใจเลือกรายการอาหาร หลังจากผ่านการพูดคุยกับลูกค้าแล้ว

ในส่วนของพ่อครัว การเปิดครัวส่วนตัวไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก ความง่ายในการเริ่มต้นธุรกิจจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ อ.ซืออิ่งอิ๋ง (施穎瑩) นักเขียนชื่อดังของฮ่องกงชี้ว่า หลังจากฮ่องกงกลับสู่การปกครองของจีนในปีค.ศ.1997 เศรษฐกิจซบเซาลงเป็นอย่างมาก มีร้านอาหารจำนวนมากต้องปิดตัวลง เหล่าพ่อครัวที่ตกงานทั้งหลายนี้จึงหันมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเปิดครัวส่วนตัวแบบไม่มีรายการอาหารที่บ้านของตัวเอง เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว ซึ่งธุรกิจแบบนี้มีข้อดีคือไม่ต้องเสียค่าเช่าสถานที่ สามารถควบคุมต้นทุนได้ง่าย คาดไม่ถึงเหมือนกันว่า สถานที่ยิ่งดูลึกลับ กลับยิ่งดึงดูดลูกค้าให้มาเยือนได้มากทีเดียว

สำหรับในไต้หวัน การถือกำเนิดของร้านอาหารแบบครัวส่วนตัวที่ต้องจองล่วงหน้า ต้องย้อนกลับไปถึงปี 1998 ในขณะนั้นมีร้านอาหารฝรั่งเศสแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า Bagel Bagel แฝงตัวอยู่ในอาคารเก่าๆ แห่งหนึ่งในกรุงไทเป (ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว) ด้วยความที่ทำเลที่ตั้งมีความลึกลับ และการตกแต่งมีบรรยากาศแบบย้อนยุค ประกอบกับมีพ่อครัวที่มีประสบการณ์ยาวนานมาเป็นคนทำอาหาร ทำให้ร้านแห่งนี้ได้รับความนิยมมากในแวดวงเซเลบทั้งหลาย

สำหรับสาเหตุที่มาทำธุรกิจครัวส่วนตัว ก็มักจะไม่พ้นการต้องเปลี่ยนงานในช่วงวัยกลางคน จึงต้องหันมาบุกเบิกธุรกิจส่วนตัว เช่น คุณสวี ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของและพ่อครัวของ Studio 28 ครัวส่วนตัว ที่ตั้งอยู่ในเขตอูไหล (烏來) ของนครนิวไทเป เดิมทีทำธุรกิจใบชา แต่ในวันธรรมดาจะชอบเข้าครัวคิดค้นรายการอาหารแปลกใหม่ และชอบชักชวนเพื่อนๆ ให้มารับประทานอาหารที่บ้าน แต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ธุรกิจใบชาของคุณสวีเริ่มประสบปัญหา จึงได้ปรึกษากับภรรยา แล้วหันมาเปิดครัวส่วนตัวโดยนำเอาโต๊ะกลมใหญ่ๆ มาวางอยู่ในห้องรับแขก คาดไม่ถึงว่าการบอกเล่าปากต่อปากของลูกค้า จะทำให้นักธุรกิจใหญ่จำนวนไม่น้อย รวมถึงคุณไต้เซิ่งทง (戴勝通) ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจภัตตาคารชื่อดัง กลายมาเป็นลูกค้าประจำด้วย

ในช่วงหลายปีมานี้ การใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์และการให้ความพิถีพิถันต่ออาหารได้กลายมาเป็นกระแสนิยม ทำให้มีครัวส่วนตัวแห่งใหม่ๆ ผุดขึ้นมาเพิ่มความหลากหลายมากขึ้น โดยในไต้หวันมีมากกว่า 30 ราย โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในตัวเมืองของกรุงไทเปและนครไทจง ส่วนอาหารที่ให้บริการก็มีทั้งอาหารไต้หวัน อาหารญี่ปุ่น อาหารตะวันตก ไปจนถึงอาหารชนเผ่าพื้นเมือง รูปแบบธุรกิจก็มีทั้งแบบคนเดียว แบบครอบครัว ไปจนถึงเป็น
กลุ่มเงินทุนในธุรกิจอาหาร และด้วยการที่ต้องคัดเลือกใช้วัตถุดิบอย่างดี อาหารต้องมีความประณีต ประกอบกับบริการแบบส่วนตัว ทำให้ราคาค่าบริการเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 1,200–2,500 เหรียญไต้หวันต่อคน โดยกลุ่มลูกค้าจะเป็น
กลุ่มระดับกลางถึงบนที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวและความประณีตบรรจงของอาหาร และต้องการลิ้มลองรสชาติแปลกใหม่

 

คุณสื่อต๋าหลู่เรียนรู้การทำอาหารด้วยตัวเอง มีความถนัดในการสร้างสรรค์อาหารใหม่ๆ จากการผสมผสานระหว่างอาหารตะวันตกกับตะวันออกคุณสื่อต๋าหลู่เรียนรู้การทำอาหารด้วยตัวเอง มีความถนัดในการสร้างสรรค์อาหารใหม่ๆ จากการผสมผสานระหว่างอาหารตะวันตกกับตะวันออก

นิยามใหม่ของอาหารฝรั่งเศส

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ การทำธุรกิจครัวส่วนตัวถือเป็นหนึ่งในรูปแบบการเริ่มประกอบธุรกิจที่เหล่าคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจยึดถือเป็นแบบอย่าง มีพ่อครัวรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่พอใจในสภาพของร้านอาหารแบบดั้งเดิมที่เน้นเชิงพานิชย์มากเกินไป จึงหันมาเปิดสตูดิโอส่วนตัว แล้วติดต่อไปยังกลุ่มลูกค้าที่รู้สึกว่าเข้ากันได้ดี พวกเขาเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามากกว่าร้านอาหารทั่วไป จึงลงมือทำเองทุกอย่าง ตั้งแต่การปรุงอาหารไปจนถึงการจัดตกแต่งสถานที่ โดยผลงานที่ออกมาก็ไม่ได้แพ้ร้านอาหารระดับหรูเลย ซึ่งเราสามารถพบเห็นตัวอย่างได้จากคุณจางลี่เก๋อ (張立格)

ในปีที่คุณจางลี่เก๋อมีอายุได้ 22 ปี มีแนวคิดที่ว่า “หากไม่ทำตอนนี้ จะรู้สึกเสียใจในภายภาคหน้า” จึงได้ตัดสินใจทิ้งโอกาสในการไปศึกษาปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา สาขาบริหารการโรงแรม ก่อนจะหันไปศึกษาการทำอาหารฝรั่งเศสที่สถาบัน Ecole Supérieure de Cuisine Française ในกรุงปารีส พร้อมได้โอกาสเข้าฝึกงานในภัตตาคารอย่างมืออาชีพเป็นเวลา 1 ปี หลังจากเดินทางกลับมาไต้หวันแล้ว ก็ได้ทดลองเอาโต๊ะอาหารของที่บ้านมาลองทำเป็นครัวส่วนตัว โดยใช้เตาไฟ 2 เตา กับเตาอบเครื่องเล็กๆ ก็สามารถทำอาหารฝรั่งเศสที่ทั้งประณีตและต้องใช้เวลาในการปรุงนานมาก

ยกตัวอย่างออร์เดิฟของเขาที่มีชื่อว่า “ไข่ร้อนเย็น” ซึ่งเรียนรู้มาจากร้านอาหารระดับมิชลิน 3 ดาว ที่เคยไปฝึกงานด้วย โดยใช้น้ำที่มีอุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียสมาต้มไข่ ก่อนจะกระเทาเปลือกออกเพียง 1 ใน 3 แล้วตัดไข่ขาวด้านบนออก ให้เหลือไข่แดงที่ครึ่งสุกครึ่งดิบเอาไว้ จากนั้นก็ใส่มูสที่ได้มาจากการนำน้ำส้มจากสาลี่หิมะ กานพลู จันทน์เทศ พริกไทย และอบเชยจีน มาบดผสมเข้าด้วยกัน ก่อนที่สุดท้ายจะประดับด้วยเม็ดไข่มุกที่ทำมาจากเมเปิลไซรัป ทำให้อาหารที่เสิร์ฟออกมาดูแล้วราวกับเป็นงานศิลปะชั้นยอดเลยทีเดียว

จางลี่เก๋อมักจะทำของหวานและน้ำสต็อกล่วงหน้า 1 วัน ก่อนที่ในช่วงเช้ามืดของวันถัดไปจะไปหาซื้อวัตถุดิบในการปรุงอาหารที่ตลาดปินเจียง และเนื่องจากเขาพักอยู่บนแฟลตที่ไม่มีลิฟท์ ทำให้ต้องแบกวัตถุดิบหนักๆ ที่ซื้อมา ขึ้นไปบนบ้านของเขาที่อยู่ชั้น 5 จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมตัวให้พร้อม เพราะทุกอากัปกริยาหลังจากนี้จะต้องทำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด จากนั้นก็จะยุ่งไปจนถึงประมาณ 4 ทุ่มกว่า ซึ่งเจ้าตัวก็เคยล้างจานจนหลับคาอ่างด้วยความเหนื่อยล้ามาแล้ว

แต่ที่โชคดีก็คือ หลังจากนั้นครึ่งปี มีสื่อมวลชนรายงานข่าวครัวแสนอร่อยของเขา ทำให้สามารถดึงดูดลูกค้าในระดับเถ้าแก่ได้ไม่น้อย แถมเมื่อมีโอกาสได้มารับประทานก็รู้สึกติดใจจนกลายเป็นลูกค้าประจำไปเลย ทำให้เขามีกำลังใจที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

ในปี 2014 เขาได้วางแผนเปิดร้านอาหารที่มีห้องครัวระดับมืออาชีพและมีที่เก็บไวน์ โดยใช้ชื่อว่า SAVOR ร้านอาหารแห่งใหม่นี้ แม้จะจ้างพ่อครัว 1 คน และพนักงานเสิร์ฟ 2 คนมาช่วยงาน หากแต่ก็ยังให้บริการลูกค้าเพียงกลุ่มเดียวในแต่ละคืน โต๊ะอาหารและห้องครัว มีเพียงโต๊ะสำหรับทำอาหารคั่นอยู่ตรงกลางเท่านั้น โดยไม่มีอะไรอย่างอื่นมาปิดกั้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถชื่นชมกับกระบวนการที่ทำให้เกิดเป็นอาหารแสนอร่อยได้อย่างเต็มที่ ราวกับการดูโชว์แปลกใหม่ตระการตา

 

ทีมงานวัยหนุ่มสาวอันคึกคักของครัวส่วนตัว SAVOR พ่อครัวคือคุณจางลี่เก๋อ (กลาง) ลงมือปรุงอาหารฝรั่งเศสด้วยตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่ขนมปังไปจนถึงของหวานหลังอาหาร (ภาพ: หลินเก๋อลี่)ทีมงานวัยหนุ่มสาวอันคึกคักของครัวส่วนตัว SAVOR พ่อครัวคือคุณจางลี่เก๋อ (กลาง) ลงมือปรุงอาหารฝรั่งเศสด้วยตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่ขนมปังไปจนถึงของหวานหลังอาหาร (ภาพ: หลินเก๋อลี่)

การฝึกฝนอย่างเข้มงวดระดับมิชลินสตาร์ 3 ดาว

ทำไมจางลี่เก๋อ ที่เคยเป็นเชฟมือ 1 ของโรงแรม 5 ดาวในกรุงไทเป และเคยผ่านงานจากร้าน L’Arpege ซึ่งเป็นภัตตาคารระดับมิชลินสตาร์ 3 ดาว จึงได้ยอมละทิ้งโอกาสที่ก้าวหน้าในเส้นทางสายโรงแรมสุดหรูหรา อะไรที่ทำให้เขาต้องการทำธุรกิจครัวส่วนตัวเล่า?

จางลี่เก๋อบอกกับเราว่า “ผมชอบใช้ทั้งสมองและสองมือในการทำงาน จึงไม่ค่อยสนใจงานบริหารที่ต้องคอยดูแลคนอื่น อีกทั้งโรงแรมใหญ่ๆ ก็จะมีคู่มือการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ทำให้ไม่มีโอกาสรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ คือเป็นอะไรที่ค่อนข้างน่าเบื่อ”  นอกจากนี้ เราก็มักจะได้ยินข่าวมาบ้าง เกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารในไต้หวันที่จะมีเป้าหมายในการทำกำไรหรือเน้นประสิทธิภาพ จนทำให้มีการนำวัตถุดิบที่คุณภาพไม่ดีมาใช้เพื่อลดต้นทุน สิ่งเหล่านี้สร้างความเจ็บปวดให้กับคนที่ทำงานด้านการประกอบอาหารเป็นอย่างมาก

ประกอบกับการผ่านประสบการณ์อันยากลำบากระหว่างฝึกงานในร้านระดับมิชลินสตาร์ในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งแม้จะลำบากมาก หากแต่ก็ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับจางลี่เก๋อ และส่งผลโดยอ้อมให้เขามีความตั้งใจที่จะเปิดครัวส่วนตัวให้ได้

โดยจะสามารถเห็นได้ถึงจิตวิญญาณซึ่งเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่แสดงออกผ่านทางคำพูดและอากัปกริยาของ Alain Passard เชฟใหญ่ที่เป็นเจ้าของสวนผัก 3 แห่ง สำหรับปลูกผักกว่า 400 ชนิดไว้ใช้ในการทำอาหาร มักจะพูดอยู่เสมอว่า “ผักในสวนจะเป็นตัวตัดสินรายการอาหารในคืนนี้ของเรา” เขาได้ยกระดับของผักให้กลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญ ไม่ว่าการปรุงอาหารหรือประดับจาน ต่างก็จะเห็นได้ถึงความรู้สึกขอบคุณที่มีต่อผืนแผ่นดิน ซึ่งเชฟใหญ่ผู้มากด้วยไมตรีจิตผู้นี้ก็มักจะเดินไปมาอยู่ท่ามกลางกลุ่มลูกค้า พร้อมทั้งอธิบายความเป็นมาของอาหารแต่ละจาน และในขณะเดียวกันก็สามารถรับรู้ได้ถึงความรู้สึกที่ลูกค้ามีต่ออาหารของตน

 

ครัวส่วนตัว ปรุงแต่งเลิศรสแห่งชีวิต

แด่...ชีวิตเพื่อรสชาติแสนอร่อย

สิ่งที่มีเสน่ห์ที่สุดของครัวส่วนตัวก็คือ ความรู้สึกที่เหมือนกับการได้บริการเพื่อนฝูงหรือคนในครอบครัว

หลินจวิ้นควน (林峻寬) ซึ่งมีดีกรีระดับด็อกเตอร์ในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหัว (NTHU) ได้ทิ้งชีวิตการเป็นวิศวกรในอุทยานวิทยาศาสตร์ซินจู๋เมื่อปี 2013 ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่า หลายปีก่อนหน้านั้น เขาเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายงานที่ทำ เนื่องจากมีความกดดันมากเกินไปจนทำให้เป็นโรคตื่นตระหนกอยู่พักใหญ่ ส่งผลให้เขาเริ่มหันมาคิดถึงคำถามอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับ “ความหมายของชีวิต” ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้นว่า ชีวิตในคอมฟอร์ตโซนที่ผ่านมาเหมือนกับการหลอกตัวเองให้ติดกับพันธนาการไปวันๆ การที่เขาทุ่มเทให้กับการทำครัวส่วนตัวนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากแรงขับดันและกำลังใจจากแฟนสาวของเขา นึกไม่ถึงเลยว่า พอทำไปแล้วก็รู้สึกติดใจ จนไม่อาจถอนตัวออกมาได้

สำหรับหลินจวิ้นควนแล้ว การปรุงอาหารเป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะ ซึ่งเป็นอะไรที่ตรงกับนิสัยส่วนตัวของเขามาก คุณหลินอธิบายว่า ขั้นตอนต่างๆ ของการปรุงอาหาร แม้จะสามารถควบคุมผ่านวิถีทางแบบวิทยาศาสตร์และการทดลอง แต่ในส่วนของการนำเอาวัตถุดิบมาใช้ การผสมผสานรสชาติ การประดับจาน และวิธีการเสิร์ฟ ต่างก็เป็นสิ่งที่เปิดโอกาสให้พ่อครัวได้มีโอกาสแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ของตน ไม่เพียงเท่านั้น คุณหลินที่เป็นคนมีพรสวรรค์และชอบการแสดงออก จึงชอบที่จะทำให้การรับประทานอาหารสักมื้อหนึ่ง กลายเป็นประสบการณ์อันแปลกใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยความทรงจำดีๆ ซึ่งมีแต่ความสุขและความประหลาดใจ

ในบ้านหลังเล็กๆ ที่หลินจวิ้นควนนำมาใช้เป็นร้านอาหารชั่วคราวนี้ ทั้งโคมไฟ เฟอร์นิเจอร์ไม้ และเคาน์เตอร์บาร์ ต่างก็เป็นสิ่งที่เขาทำขึ้นกับมือ โดยแขกผู้มาเยือนสามารถหยิบจับสิ่งละอันพันละน้อยต่างๆ ที่ถูกนำมาประดับประดาอยู่ภายใน ทั้งที่เป็นของโบราณ จานชาม และอื่นๆ ขึ้นมาชมดูได้ตามอัธยาศัย หลังจากเสิร์ฟอาหารหวานซึ่งถือเป็นการปิดคอร์สของอาหารแล้ว ในบางครั้งหลินจวิ้นควนจะถอดผ้ากันเปื้อนออก แล้วแสดงการเล่น Box Drum หรือหยิบกีตาร์ขึ้นมาเล่นและร้องเพลง สุดท้ายก็มักจะจบลงด้วยการที่ทั้งแขกและเจ้าของสถานที่ต่างก็ร่วมกันร้องเพลงอย่างสนุกสนานจนไม่อยากเลิกรา

ชีวิตการเป็นพ่อครัวไม่ได้ราบรื่นเสมอไป หากแต่ไม่ว่าเขาจะต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างไร เขาก็จะยังคงทะนุถนอมโอกาสที่ได้รู้จักกับผู้คนผ่านโต๊ะอาหาร “บทบาทของครัวส่วนตัว ก็คือช่วยเพิ่มสิ่งดีๆ ให้กับความทรงจำของผู้คน การมีโอกาสได้เห็นและมีส่วนร่วมในช่วงเวลาอันแสนสุขในชีวิตของใครบางคน ทำให้รู้สึกว่ามันมีความหมายมาก” หลินจวิ้นควนกล่าว

คุณรู้สึกเบื่อการรับประทานอาหารในร้านอาหารที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงทั้งรายการอาหารและบริการบ้างหรือเปล่า? อยากจะมีประสบการณ์ในค่ำคืนอันโรแมนติกและเป็นส่วนตัวกับคนสำคัญของคุณไหม? ไม่ว่าคุณอยากได้บรรยากาศ อยากรับประทานอะไรอร่อยๆ หรืออยากได้ความรู้สึกดีๆ ลองติดต่อนัดครัวส่วนตัวดูซิ แล้วไปลองลิ้มรสชาติแห่งชีวิตที่เป็นของคุณกันดู