ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวัน แดนวีแกนโลก วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2019-05-20

ในการประชุม COP21 จางโย่วเฉวียนแสดงปาฐกถาในฐานะผู้ก่อตั้งองค์กร “งดเนื้อสัตว์วันจันทร์ไต้หวัน” (ภาพจาก จางโย่วเฉวียน)

ในการประชุม COP21 จางโย่วเฉวียนแสดงปาฐกถาในฐานะผู้ก่อตั้งองค์กร “งดเนื้อสัตว์วันจันทร์ไต้หวัน” (ภาพจาก จางโย่วเฉวียน)

 

เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.2017 สถานีโทรทัศน์ CNN ของสหรัฐฯ ได้ยกให้ไทเปเป็น 1 ใน 10 เมืองแห่งวีแกนของโลกอีกครั้ง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่อต่างชาติยกย่องไต้หวันในเรื่องอาหารวีแกน ความภูมิใจโดดเด่นขึ้นชื่อของไต้หวันที่ทุกคนทราบกันดี นอกจากกีฬาเบสบอล เสี่ยวหลงเปา และตลาดไนท์มาร์เก็ตแล้ว อันที่จริงอิทธิพลของอาหารวีแกนในไต้หวันก็โดดเด่นไม่แพ้กัน

 

จางโย่วเฉวียน ผู้ก่อตั้งองค์กรงดเนื้อสัตว์วันจันทร์ไต้หวัน (ซ้าย) และสวีเหรินซิว ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิป่า (ขวา)จางโย่วเฉวียน ผู้ก่อตั้งองค์กรงดเนื้อสัตว์วันจันทร์ไต้หวัน (ซ้าย) และสวีเหรินซิว ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิป่า (ขวา)

วีแกน (Vegan) คือผู้ที่นอกจากหลีกเลี่ยงจากอาหารซึ่งทำมาจากส่วนประกอบทั้งทางตรงและทางอ้อมของสัตว์ เช่น ไข่, ผลิตภัณฑ์จากนม, ชีส และน้ำผึ้งแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม การศึกษา และการใช้ชีวิตด้วย ดังนั้นจึงมิใช่แค่เพียงงดการรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์แล้วจะเรียกว่าผู้นั้นเป็นวีแกน แต่จะต้องมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์ และมนุษย์ทั้งปวงด้วย

 

วีแกนไต้หวันเฉิดฉายในเวทีโลก

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP21) เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2015 ณ กรุงปารีส มีองค์กร “งดเนื้อสัตว์วันจันทร์” 18 แห่ง จากภาค NGO ใน 13 ประเทศ (เช่น สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, บราซิล, อิตาลี, จาไมกา, อิสราเอล, เกาหลี ฯลฯ) เข้าร่วมการประชุมใหญ่นี้ด้วย จางโย่วเฉวียน(張祐銓) ผู้ก่อตั้งองค์กร “งดเนื้อสัตว์วันจันทร์ไต้หวัน” ได้แสดงปาฐกถาโดยยกประเด็นเรื่องการที่มนุษย์บริโภคเนื้อสัตว์แผ่ขยายไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก ก่อให้เกิดการทำลายป่าฝน, มหาสมุทร และแผ่นดิน ซึ่งในการนี้สัตว์เศรษฐกิจที่เลี้ยงในอุตสาหกรรมปศุสัตว์บริโภคพืชพันธุ์ธัญญาหารมากถึง 1 ใน 3 ของโลก นอกจากนี้ จากสถิติการรณรงค์ให้บริโภคอาหารวีแกนในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เช่น ปี 2012 สถิติจากกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน มีโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 2,328 แห่ง ที่ประสบความสำเร็จในการรณรงค์ให้รับประทานอาหารวีแกนสัปดาห์ละ 1 วัน สามารถคิดเป็นจำนวนรวมได้สูงถึง 7 ล้านคน/ครั้ง ในช่วงนั้นไม่เพียงแต่เฉพาะสถานศึกษา เจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานราชการทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นจำนวนมากยังให้การตอบรับเป็นอย่างดีด้วย “หลังจากการประชุมเสร็จสิ้น มีสหายจากสวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์เข้ามาสอบถามว่าไต้หวันทำได้อย่างไร? และแสดงความชื่นชมโครงการรณรงค์บริโภควีแกนของไต้หวันเป็นอย่างมาก” จางโย่วเฉวียนกล่าว

ในระหว่างการประชุม COP21 ณ กรุงปารีส ยังมีการหยิบยกประเด็นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งนายอาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) ดาราฮอลลีวูดชื่อดัง เคยแสดงความห่วงใยก่อนหน้านี้ด้วย โดยองค์กรงดเนื้อสัตว์วันจันทร์นิวยอร์กอธิบายว่า หลังจากที่คุณอาร์โนลด์กลับมายังสหรัฐอเมริกา ก็ได้ประกาศเรียกร้องให้ประชาชนลดการบริโภคเนื้อสัตว์และถ่ายทำวิดีโอเพื่อการรณรงค์ด้วย ด้านผู้สนับสนุนของอิสราเอลซึ่งเป็นผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์นามว่า มิกิ ไฮโมวิช (Miki Haimovich) หลังจากที่เธอได้อธิบายเหตุผลที่ควรลดการบริโภคเนื้อสัตว์ต่อประธานาธิบดีอิสราเอลโดยตรงแล้ว ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากรัฐบาล ส่วนเมืองเกนต์ (Ghent) ในเบลเยียม ทางเทศบาลได้ประกาศให้วันพฤหัสบดีเป็นวันงดเนื้อสัตว์ และมีการบังคับใช้ระเบียบนี้ให้ครอบคลุมทั้งหน่วยงานภาครัฐและสถานศึกษาด้วย ด้านองค์กรงดเนื้อสัตว์วันจันทร์แห่งนิวยอร์กได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) ผลักดันการลดเนื้อสัตว์โดยนำเสนอในแง่มุมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประเทศอิตาลีและฝรั่งเศสใช้เมนูอาหารมังสวิรัติในร้านอาหารเป็นวิธีหลักในการรณรงค์ นอกจากนี้ พอล แมคคาร์ทนีย์ (Paul McCartney) อดีตสมาชิกวงเดอะบีทเทิลส์ (The Beatles) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนขององค์กรงดเนื้อสัตว์วันจันทร์อังกฤษ ก็ช่วยทำให้ได้รับการสนับสนุนจากฐานแฟนคลับของเขาเป็นจำนวนมากเช่นกัน

แอนดรูว์ทำชีสพายโดยไม่ใช้นมและไข่แบบมังสวิรัติแท้ และรสชาติอร่อยแอนดรูว์ทำชีสพายโดยไม่ใช้นมและไข่แบบมังสวิรัติแท้ และรสชาติอร่อย

จางโย่วเฉวียนระบุว่ามีประมาณ 40 ประเทศที่กำลังโปรโมทกิจกรรม “กินมังสวิรัติสัปดาห์ละ 1 วัน” แม้ว่าการรณรงค์กินมังสวิรัติและวีแกนทั่วโลกจะดำเนินการโดยองค์กร NGO ในแต่ละประเทศ แต่ในประเด็นเรื่องร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมโลก ทุกฝ่ายต่างมีเป้าหมายเดียวกัน

 

ชาววีแกนทั่วโลกต่างจับตามองไต้หวัน

แอนดรูว์ นิโคลส์ (Andrew Nicholls), เอลเบิร์ต กู (Elbert Gu) และมิเชล คาสัน (Michel Cason) จากออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา และแอฟริกาใต้ แม้จะมาจากคนละประเทศและมีภูมิหลังที่แตกต่างกัน แต่เพราะยึดถือหลักการวีแกนเหมือนกัน พวกเขาจึงได้รู้จักกันที่ไต้หวัน แอนดรูว์เดินทางมาอยู่ที่ไต้หวันนาน 9 ปีแล้ว เขาจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและพลศึกษาจากออสเตรเลีย เชี่ยวชาญในด้านการปรับเปลี่ยนและฝึกนักกีฬา เป็นอาจารย์สอนพิลาทีสระดับสากล หลังจากที่เขาอ่านหนังสือด้านอาหาร “Diet for a New America” เมื่อปี 1988 พบว่าในหนังสือระบุถึงการฆ่าและปฏิบัติต่อปศุสัตว์อย่างไม่เหมาะสม ซึ่งตรงกับภาพการฆ่าสัตว์ในฟาร์มของครอบครัวเขาสมัยยังเด็ก ประกอบกับหลังจากนั้นที่สิงคโปร์รณรงค์เรื่องการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี ซึ่งมีกรณีตัวอย่างนับไม่ถ้วนที่พิสูจน์แล้วว่า การรับประทานวีแกนส่งผลดีต่อสุขภาพของคนเรา แอนดรูว์ผู้เป็นวีแกนมานานเกือบ 25 ปีแล้ว เขารู้สึกประทับใจด้านพัฒนาการวีแกนในไต้หวันในช่วง 8 ปีมาเป็นอย่างยิ่ง จากสมัยก่อนถึงแม้จะเป็นอาหารมังสวิรัติแต่ก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการและรสชาติ จนกระทั่งปัจจุบันนี้เกือบทุก 1-2 เดือน จะมีร้านอาหารวีแกนเปิดใหม่เรื่อยๆ แอนดรูว์จึงถือว่า ไต้หวันเป็นบ้านหลังที่สองของเขานอกเหนือจากออสเตรเลีย

เอลเบิร์ตนำประสบการณ์ด้านอาหารและเครื่องดื่มจากการเดินทางรอบโลกเพื่อไปสอนวาดภาพสีน้ำมันและจัดแสดงผลงาน มาเล่าสู่กันฟังถึงความสะดวกสบายในการกินวีแกนในไต้หวันเอลเบิร์ตนำประสบการณ์ด้านอาหารและเครื่องดื่มจากการเดินทางรอบโลกเพื่อไปสอนวาดภาพสีน้ำมันและจัดแสดงผลงาน มาเล่าสู่กันฟังถึงความสะดวกสบายในการกินวีแกนในไต้หวัน

มิเชล ผู้สนับสนุนวีแกนผ่านร้านอาหารวีแกนของเธอในไต้หวัน เธอกลายเป็นวีแกนเพราะได้รับแรงบันดาลใจจากชาวไต้หวัน ในตอนนั้นเธอเดินทางมาไต้หวันเพื่อท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เมื่อพบว่าแนวคิดเรื่องวีแกนในไต้หวันได้รับความนิยมสูง อีกทั้งทัศนคติของชาวไต้หวันเรื่องการให้ความเคารพและความสำคัญต่อผู้กินมังสวิรัติอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่นมาก หลังจากเข้าใจเจตนารมณ์ของวีแกนในเชิงลึกว่าดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสัตว์อย่างถ่องแท้แล้ว เธอจึงกลายมาเป็นวีแกนด้วยความแน่วแน่ มิเชลมาอยู่ไต้หวันนาน 7 ปีแล้ว เนื่องจากเธอมีอาชีพเป็นเชฟอยู่แล้ว จึงมีความประทับใจเป็นอย่างยิ่งต่อไต้หวันซึ่งมีพืชผักมากมายหลายชนิด โดยไต้หวันมีพืชผักผลไม้อุดมสมบูรณ์ตลอดสี่ฤดูกาล ซึ่งในแต่ละฤดูก็จะมีพืชผักผลไม้ประจำฤดู ด้วยสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบเช่นนี้
ทำให้เธอมีความสุขในการใช้ชีวิตอยู่ในเกาะไต้หวันเป็นอย่างมาก

ส่วนเอลเบิร์ตมาอยู่ไต้หวัน 4 ปีแล้ว เขาเป็นนักวิชาการแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยศิลปะหนานจิงของจีน (Nanjing University of the Arts) จากประสบการณ์การเดินทางรอบโลกไปสอนการวาดภาพสีน้ำมันและจัดแสดงผลงานของเขา ทำให้รู้ว่าอันที่จริงการกินวีแกนไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ที่ไต้หวันสามารถหาอาหารและเครื่องดื่มวีแกนได้เกือบทั่วทุกมุมถนน เขาเชื่อว่าเป็นเพราะไต้หวันผ่านประสบการณ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในแต่ละช่วงมาอย่างโชกโชน การที่ไต้หวันมีอาหารวีแกนให้เลือก ก็แสดงถึงการให้ความสำคัญต่อรสนิยมที่หลากหลายเช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้ เขากำลังดำเนินการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เกี่ยวกับอาหารวีแกนอยู่โครงการหนึ่ง โดยหวังว่าจะสามารถทำให้ทุกคนเห็นว่าภาพความร่าเริงของสัตว์บนบรรจุภัณฑ์อาหารประเภทนมและเนื้อสัตว์นั้น ที่จริงแล้วเบื้องหลังได้ซ่อนสุสานและโศกนาฏกรรมของสัตว์เอาไว้

 

จากความทรงจำในวัยเยาว์ มิเชลใช้เครื่องปรุงอาหารของอิตาเลียนกับวัตถุดิบอาหารตามสี่ฤดูของไต้หวัน ทำเป็นสปาเก็ตตี้มังสวิรัติแท้จากความทรงจำในวัยเยาว์ มิเชลใช้เครื่องปรุงอาหารของอิตาเลียนกับวัตถุดิบอาหารตามสี่ฤดูของไต้หวัน ทำเป็นสปาเก็ตตี้มังสวิรัติแท้

เชื่อมโยงกับป่าด้วยการปฏิวัติสีเขียว

จากรายงานเรื่อง “ปศุสัตว์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิทัศน์” ประจำปี 2008 ที่จัดทำโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ระบุว่า พื้นที่ที่ไม่มีน้ำแข็งเกือบ 30% บนโลกใช้ในการผลิตปศุสัตว์ มีเพียง 8% เท่านั้นที่ใช้ในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรที่มนุษย์บริโภคโดยตรง นอกจากนี้ การผลิตอุตสาหกรรมปศุสัตว์ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศอย่างรุนแรง ทำให้เกิดฝนกรดและความเป็นกรดในระบบนิเวศ รวมถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 9% มีเทน 37% และไนโตรเจนไดออกไซด์ 65% ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ยิ่งไปกว่านั้นไม่ต้องพูดถึงความเสี่ยงของโรคภัยจากปศุสัตว์ที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ

“สำหรับระบบนิเวศในธรรมชาติแล้ว สิ่งมีชีวิตทุกสปีชีส์ล้วนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน” สวีเหรินซิว (徐仁修) ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิป่า ผู้ซึ่งทุ่มเทกำลังในการอนุรักษ์ป่ามานานหลายทศวรรษ ตอบสนองต่อการปฏิวัติสีเขียวจากแง่มุมด้านการอนุรักษ์โลก เพราะความโลภและความปรารถนาของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด เกินกว่าความต้องการเพื่อการดำรงชีพของมนุษย์ มีการตัดไม้ทำลายป่า ดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เพื่อแสวงผลประโยชน์ ในบางประเทศใช้วิธีเติมผงเนื้อและกระดูกป่นในอาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงวัว เพื่อที่จะลดต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์ ก่อให้เกิดการระบาดของโรควัวบ้า แต่เมื่อแนวคิดเรื่องวีแกนบังเกิดขึ้นในไต้หวัน ก็ช่วยแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างมาก สวีเหรินซิวพูดถึงบรรดาจิตอาสาอนุรักษ์ป่ากลุ่มหนึ่งเดินทางไปยังเมืองไถตงเพื่อทำเกษตรธรรมชาติ โดยหวังว่าจะช่วยลดการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ทำลายสิ่งแวดล้อมลงได้

นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สวีเหรินซิวได้นำเอาวิธีการของสมาคมอนุรักษ์ป่ามาใช้ในการสนับสนุนให้ชาวจีนโพ้นทะเลก่อตั้งองค์กรเพื่อการศึกษานิเวศธรรมชาติ โดยประเทศที่ดำเนินตามรอยได้ขยายไปถึงนิคารากัว, ออสเตรเลีย, มาเลเซีย (เช่น รัฐซาบาห์) และทวีปอเมริกากลาง “ที่รัฐซาราวัก (มาเลเซีย) มีสถานที่แห่งหนึ่งชื่อว่า อูรูแอร์ (Uru Air) มีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างมหาศาลเพื่อทำให้ป่าไม้กลายเป็นสวนปาล์มน้ำมัน วิธีการของเราคือเข้าไปในนั้นเพื่อชักชวนให้หัวหน้าเผ่าของที่นั่นพิจารณาไตร่ตรองให้ดีและสื่อสารกับผู้ว่าการรัฐโดยตรง”  จากความพยายามประสานงานอย่างไม่หยุดหย่อนโดยจิตอาสาอย่างสวีเหรินซิว ในที่สุดก็ทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าของป่าไม้และการอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติอันล้ำค่าผืนนี้ไว้

 

เมื่อเอ่ยถึงอาหาร ฝงเผยเก๋อมีท่าทางปลื้มปีติ สร้างความประทับใจให้ผู้คนอย่างมากเมื่อเอ่ยถึงอาหาร ฝงเผยเก๋อมีท่าทางปลื้มปีติ สร้างความประทับใจให้ผู้คนอย่างมาก

การรณรงค์หยั่งรากลึกในหมู่คนรุ่นใหม่

ในไต้หวัน คนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งได้ใช้พลังของตนในการตอบรับกระแสวีแกนโลก บนโต๊ะอาหารในงานเลี้ยงเต็มไปด้วยอาหารวีแกนจากฝีมือของเชฟฝงเผยเก๋อ (馮培格) หลังจากจบการศึกษาปริญญาโท สาขาอาหาร จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติผิงตง (National Pingtung University of Science and Technology) เขาทำงานในร้านอาหารมังสวิรัตินานหลายปี จากการเรียนรู้ด้วยตนเองผนวกกับหลักการความรู้ด้านอาหารที่ได้จากการเรียนในมหาวิทยาลัย และจากประสบการณ์ล้มเหลวในการทดลองทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เขาค่อยๆ ตกผลึกความรู้ที่ได้จากการเรียนหลอมรวมเข้ากับส่วนประกอบอาหาร

ปัจจุบัน นอกจากฝงเผยเก๋อจะเป็นวิทยากรให้กับเวิร์คชอปสอนทำอาหารวีแกนแล้ว ยังได้รับเชิญให้ไปแสดงศิลปะการประกอบอาหารในรายการโทรทัศน์อีกด้วย “เวลาเชฟชาวต่างชาติทำอาหารจะถนัดการใช้รสขม ฝาด และเปรี้ยว หลังจากที่ศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดแล้ว พบว่าพวกเขาใช้รสขมขับรสชาติที่อยู่ส่วนลึกในอาหารออกมาและปรับสมดุลให้เข้ากับรสชาติอื่นๆ ใช้รสฝาดทำให้สิ่งเดิมที่อร่อยอยู่แล้วในอาหารออกมา ทำให้รู้สึกได้ถึงระดับความสดของอาหาร” เมื่อเอ่ยถึงอาหาร สีหน้าของฝงเผยเก๋อก็เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มที่เปล่งประกาย สร้างความประทับใจให้แก่ผู้คนอย่างมาก และนี่ก็คือวิธีที่เขาตอบสนองต่อวิถีชีวิตของวีแกน

แต่ละมุมเมืองในไต้หวัน ยังมีคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งที่ใช้เงินส่วนตัวและทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อโปรโมทหลักการวีแกนและปกป้องสิทธิของสัตว์แต่ละมุมเมืองในไต้หวัน ยังมีคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งที่ใช้เงินส่วนตัวและทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อโปรโมทหลักการวีแกนและปกป้องสิทธิของสัตว์

นอกจากนี้ ยังมีคนรุ่นใหม่อีกกลุ่มหนึ่งที่เจาะลึกไปทั่วทุกมุมในไต้หวันเพื่อโปรโมทหลักการของวีแกนและปกป้องสิทธิของสัตว์ เช่น อู๋จื้อฮุย (吳智輝) ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “Vegan 30 days” ใช้เวลานอกเหนือจากการทำงานประจำ ใช้เงินส่วนตัวและทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อรวบรวมเพื่อนร่วมอุดมการณ์ โดยขึ้นเหนือล่องใต้ไปตามถนนหนทางต่างๆ เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ จางเจียเพ่ย (張家珮) ที่ปรึกษาชมรมพิทักษ์สิทธิสัตว์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University) ไต้อวี่เซิง (戴宇陞) เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยครุศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan Normal University) พวกเขาใช้ความพยายามโดยการจัดกิจกรรมตามสถานศึกษา ทั้งการบรรยาย ออกร้าน แจกอาหาร และอื่นๆ เพื่อโปรโมทวิถีชีวิตแบบวีแกน

คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ได้อุทิศตนอย่างไม่เห็นแก่ตัว เพื่ออุดมการณ์ของตัวเอง และแสดงให้เห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่ ทั่วโลกเกิดกระแสวีแกนขึ้นมานานแล้ว ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี แม้ว่าจะเป็นร้านสเต็กแต่ก็มีรายการอาหารวีแกน ในช่วงหลายปีมานี้ ร้านอาหารวีแกนในแอฟริกาใต้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศเพื่อนบ้านของไต้หวันอย่างเกาหลีใต้นอกจากจะพบเห็นร้านอาหารวีแกนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ที่กรุงโซลยังมักจัดงานเทศกาลอาหารมังสวิรัติขึ้นเป็นประจำทุกเดือนอีกด้วย ในขณะที่ทั่วโลกให้การต้อนรับกระแสวีแกนเป็นอย่างดี โชคดีที่ไต้หวันเองก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าไต้หวันจะมีศักยภาพในการเป็นผู้นำการปฏิวัติสีเขียวในเอเชียด้วยเช่นกัน