ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
อิ่มอร่อยกับอาหารรสเด็ด เฉิงเหรินเพ่ย ผู้ใช้ตำรับอาหารบันทึกความทรงจำ
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2019-05-27

(ภาพ: หลินหมินเซวียน)

(ภาพ: หลินหมินเซวียน)

 

อาหารรสเด็ดเพียงจานเดียวจะทำให้คุณรู้ซึ้งถึงรสชาติแห่งชีวิต เริ่มจากรูปลักษณ์สู่จินตนาการ คุณเฉิงเหรินเพ่ย (程仁珮) ได้อาศัยกล้องในมือ รวมเอาความคิดถึงที่มีอยู่ให้ตกผลึกออกมา  กลายเป็น “วิวัฒนาการแห่งตำรับอาหาร” ที่ปรากฏออกมาให้เห็น บรรยายให้เห็นถึงจินตนาการ  เหนี่ยวรั้งรสชาติปลายลิ้นให้คงอยู่ ปลุกความคิดถึงที่มีต่อบ้านเกิดและญาติมิตร ซึ่งไม่อาจตัดขาดได้ของผู้มาอยู่ใหม่ เปรียบเสมือนปุ่มกดให้เชื่อมต่อกับบ้านเกิดของตนในชั่วพริบตา ปลอบประโลมวิญญาณที่ล่องลอยไป ให้กลับสู่อ้อมแขนอันอบอุ่นของมารดาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา

กลุ่มชนหลากหลายที่หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในสังคมไต้หวัน ส่งผลให้อาหารการกินค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปด้วยโดยปริยาย แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ความรู้สึกวิตกและว้าวุ่นที่เกิดขึ้นในจิตใจทำให้ต้องแสวงหาและสร้างครอบครัวที่มั่นคงขึ้น ในขณะที่อาหารจากบ้านเกิดในอดีตก็ได้หลอมละลายเป็นส่วนหนึ่งของรสชาติอาหารท้องถิ่น เหล้าหมักนานปีบรรจุในขวดใหม่ จุดประกายให้ความหอมหวานตลบอบอวลยิ่งขึ้น

 

จากซ้ายไปขวาเป็นผลงาน “วิวัฒนาการแห่งตำรับอาหาร” ของเฉิงเหรินเพ่ย ประกอบด้วย เปาะเปี๊ยะหลากอารมณ์, ต้นกล้าอ่อน และกระจกแห่งบรรพต (ภาพจาก เฉิงเหรินเพ่ย)(1)จากซ้ายไปขวาเป็นผลงาน “วิวัฒนาการแห่งตำรับอาหาร” ของเฉิงเหรินเพ่ย ประกอบด้วย เปาะเปี๊ยะหลากอารมณ์, ต้นกล้าอ่อน และกระจกแห่งบรรพต (ภาพจาก เฉิงเหรินเพ่ย)

ตำรับอาหารเชื่อมร้อยความคะนึงหา

ความทรงจำแห่งประสาทสัมผัสชัดขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป “วิวัฒนาการแห่งตำรับอาหาร” ได้อาศัยประสาทสัมผัสทั้งสายตา ลิ้น และจมูก เชื่อมร้อยเข้ากับความทรงจำลึกๆ ของตน ความรู้สึกดีใจ โกรธ เศร้า และความสุข ที่สะสมอยู่ในสมองทั้งหมดถ่ายทอดลงสู่ภาพอาหารเหล่านี้ ศิลปินเฉิงเหรินเพ่ยขอบคุณพระเจ้าที่เนรมิตดวงชะตานี้ให้แก่เธอ นำเธอก้าวไปสู่เส้นทางแห่งการออกแบบอาหารเพื่อบันทึกความรู้สึก

คุณเฉิงเหรินเพ่ย ผู้ซึ่งมีความไวต่อรสชาติอาหารมาตั้งแต่วัยเด็กบอกว่า “มันอาจจะเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่ดิฉันเติบโตขึ้นมาก็เป็นได้นะคะ” ความทรงจำที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นที่สมาชิกในครอบครัวนั่งล้อมโต๊ะอาหาร ได้ตกผลึกยังก้นบึ้งของหัวใจทีละน้อยๆ เป็นภาพที่ปรากฏชัดยิ่ง จากประสบการณ์พำนักในต่างประเทศในฐานะศิลปินแลกเปลี่ยน ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมการกินอันหลากหลายของแต่ละกลุ่มชน นำมาสู่การประสมประสานกันระหว่างอาหารกับอารยธรรมสู่ศิลปะแห่งประสาทสัมผัสทางตา

ผลงาน “ดิฉันชอบทำอาหารมาก” ของคุณเฉิงเหรินเพ่ยได้รับคัดเลือกให้เป็นผลงานตัวแทนของกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันในปี 2014 เข้าร่วมโครงการศิลปินพำนักที่ฝรั่งเศส ภายใต้หัวข้อ “อาหารของคุณ ตำรับอาหารของฉัน” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะการทดลองตาม “โครงการแกะสลักอาหาร” “อธิษฐานสักครั้ง ฉันจะป้อนอาหารให้” แสดงออกถึงซอฟต์เพาเวอร์ของไต้หวัน เชิญชาวบ้านทั่วไปเข้าร่วมโครงการ บอกเล่าอาหารบ้านเกิดของตน โดยมีคุณเฉิงเหรินเพ่ยทำหน้าที่ลงมือด้วยตนเอง “เนื่องจากประเพณีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้อาหารที่ปรุงออกมามีรสชาติแตกต่างจากที่ได้คาดหวังไว้” “ศิลปะในรูปแบบของการมีส่วนร่วม” นี้ ทำให้คุณเฉิงเหรินเพ่ยยิ่งได้คิดที่จะเชื่อมต่อระหว่างอาหารกับความทรงจำเข้าด้วยกัน “ความจริงแล้ว สิ่งที่พวกเขาคาดหวังเป็นรสชาติพื้นบ้านที่บ้านเกิด ซึ่งยากจะหาอะไรมาทดแทนได้” เมื่อคุณเฉิงเหรินเพ่ยกลับไต้หวันในปีค.ศ.2017 ก็เริ่มโครงการ “วิวัฒนาการตำรับอาหาร” จากแนวคิดที่ได้เหล่านั้น อาศัยการกลั่นกรองอย่างละเอียดของศิลปะอันประณีต ประสมประสานกับการรวมเป็นหนึ่งของส่วนประกอบอาหาร บรรยายประวัติความเป็นมาและความในใจเป็นตัวอักษรของสะใภ้ต่างชาติในไต้หวัน

“ทวนกระแส” ที่จัดโดยหอศิลป์จงไท่ ได้เชิญคุณเฉิงเหรินเพ่ย นำผลงาน “วิวัฒนาการตำรับอาหาร” ร่วมจัดแสดงด้วย (ภาพ: หลินหมินเซวียน)“ทวนกระแส” ที่จัดโดยหอศิลป์จงไท่ ได้เชิญคุณเฉิงเหรินเพ่ย นำผลงาน “วิวัฒนาการตำรับอาหาร” ร่วมจัดแสดงด้วย (ภาพ: หลินหมินเซวียน)

 

ตำรับอาหารแห่งการหล่อเลี้ยงชีวิต

คุณเฉิงเหรินเพ่ยได้ส่งผลงานเข้าร่วมแสดง ณ หอศิลป์จงไท่ในกรุงไทเป เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และเล่าให้ฟังว่า “ผลงานชิ้นแรกของโครงการ “วิวัฒนาการตำรับอาหาร” ได้รับเชิญจากคุณหวงอี้สง (黃義雄) ผู้เป็นภัณฑารักษ์ ดิฉันได้สร้างผลงานขึ้นที่หมู่บ้านชาวฮากกา ในเหมียวลี่ คุณหวงจึงเป็นผู้มีพระคุณต่อดิฉัน” ผลงานทุกชิ้นที่นำมาจัดแสดงเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวแห่งชีวิตของคน ทั้งหวานชื่นและขมขื่น แต่ละคนจะมีชะตาชีวิตที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง การแต่งงานมาไต้หวันทำให้ต้องตกอยู่ท่ามกลางความว้าเหว่ที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอน แต่เมื่อได้ลิ้มรสอาหารจากบ้านเกิดที่คุ้นเคยก็เหมือนกับได้รับการปลดปล่อย

“กระจกแห่งบรรพต” หรือ “Mirage Mountain” ใช้หมูสามชั้นรวนเค็ม หงเจา (ข้าวราแดงโมแนสคัส) เต้าหู้ยี้ คู่กับแผ่นเปาะเปี๊ยะสดเวียดนามห่อตะไคร้ และพริกกุ้งเกลือ สัญลักษณ์เรื่องราวแห่งความสุข บรรยากาศของเขตภูเขาอันสลับซับซ้อนที่เหมียวลี่มีความละม้ายคล้ายคลึงกับจังหวัดเต็ยนิญ บ้านเกิดของเจ้าสาวเวียดนามที่แต่งงานมาตั้งรกรากยังหมู่บ้านฮากกาที่นี่ เป็นไร่นาในเมืองหุบเขา ทำให้ความวิตกกังวลที่ต้องก้าวสู่ดินแดนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนเจือจางลงไม่น้อย ความรัก ความห่วงใยและความเอื้ออาทรของสามี ทำให้พวกเธอมีความรู้สึกเหมือนเป็นบ้านของตัวเอง แม่สามีที่ให้ความรักเอ็นดูสะใภ้ดุจลูกสาวในไส้ หัดทำอาหารเวียดนาม แม้จะใช้วัตถุดิบ-เครื่องปรุงไม่เหมือนกัน แต่ก็ได้พยายามหาสิ่งอื่นๆ มาทดแทน อาศัยอาหารการกินมาผ่อนคลายความคิดถึงบ้านของสะใภ้ การดูแลด้วยความตั้งใจเช่นนี้ ทำให้สะใภ้เวียดนามต้องคิดถึงฝีมือการทำอาหารของแม่สามีทุกครั้งเมื่อกลับไปเยี่ยมญาติที่เวียดนาม กลายเป็นอรรถรสแห่งบ้านเกิดที่ชีวิตนี้ไม่อาจตัดขาดได้

จากซ้ายไปขวาเป็นผลงาน “วิวัฒนาการแห่งตำรับอาหาร” ของเฉิงเหรินเพ่ย ประกอบด้วย เปาะเปี๊ยะหลากอารมณ์, ต้นกล้าอ่อน และกระจกแห่งบรรพต (ภาพจาก เฉิงเหรินเพ่ย)(2)จากซ้ายไปขวาเป็นผลงาน “วิวัฒนาการแห่งตำรับอาหาร” ของเฉิงเหรินเพ่ย ประกอบด้วย เปาะเปี๊ยะหลากอารมณ์, ต้นกล้าอ่อน และกระจกแห่งบรรพต (ภาพจาก เฉิงเหรินเพ่ย)

คุณเฉิงบอกว่า “รู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของเจ้าสาวเวียดนามเหล่านี้ที่ยินดีเปิดอกเล่าความในใจให้ฟัง” รับฟังความรู้สึกของพวกเธอด้วยน้ำตาคลอเบ้าและได้นำเอาความประทับใจเหล่านี้หลอมลงสู่ผลงานของเธอ บันทึก “อีย่วนเซียง” (Aromatic Courtyard) บรรยายความระทมขมขื่นด้วยน้ำตานองหน้าของเจ้าสาวจากมณฑลซานตง ให้อารมณ์ความรู้สึกของพวกเธอถูกทลายลงด้วยอาหารที่วางอยู่เบื้องหน้า ระบายอารมณ์ออกมาให้เต็มที่ แม้จะไม่ขาดแคลนวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ก็ตาม แต่การใช้ชีวิตที่ตัดขาดจากโลกภายนอก ความอึดอัด ความทุกข์ระทม กลับทำให้ความวังเวงไม่มีทางออก แต่สิ่งเดียวที่สามารถปลอบประโลมได้ก็คือ ความทรงจำในวัยเด็กที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น

ผลงานที่สรรค์สร้างจากเศษก้อนซีเมนต์สะท้อนให้เห็นถึงครอบครัวเจ้าสาวเหล่านี้ที่แม้จะยากจนแต่ก็เต็มไปด้วยความอบอุ่น พ่อบุญธรรมที่รักและเอาใจใส่เธอมากที่สุดมีอาชีพเกษตรกร ท่ามกลางชีวิตอันทุกข์ยาก ใช้ใยข้าวโพดมาชงน้ำชาดื่มร่วมกัน เป็นความสุขที่หาที่เปรียบมิได้จริงๆ  คุณเฉิงใช้หนามแหลมมาเปรียบเปรยแรงกดดันที่เกิดขึ้น ผู้คนเสมือนนั่งอยู่บนหนามแหลมเหล่านี้ ชาใยข้าวโพดกลิ่นหอมดอกมะลิในชามหยก อบอวลโชยชายไปทั่ว เต็มไปด้วยความหอมหวนแห่งความทรงจำ ใช้แท่งเหล็กร้อยเมล็ดข้าวโพด ตั้งเด่นเป็นตระหง่าน สัญลักษณ์แห่งความเด็ดเดี่ยวที่ยอมสละทุกอย่างเพื่อความรัก แม้จะต้องทุกข์ระทมขมขื่นเพียงใดก็ตาม ก็จะยืนหยัดจนกว่าเมฆดำทะมึนจะจางหายไป แล้วแสงจันทร์ส่องสว่างไปทั่วท้องฟ้า

ส่วนผลงาน “ชูยางหยา” หรือ “ต้นกล้าอ่อน” ก็เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านศิลปะของคุณเฉิงเหรินเพ่ย เครื่องปรุงเป็นเพียงสื่อเท่านั้น แต่รสนิยมเป็นเป้าหมาย ใช้ดอกกุยช่ายเป็นฉาก แล้วใช้ริบบิ้นลายดอกแทนตุ๊กตาผ้าที่น้องสาวส่งมาจากโปแลนด์ ใช้เนื้อหมูผสมกับข้าว แสดงให้เห็นถึงการดูแลด้วยความใส่ใจของสามีไต้หวัน ทำให้หญิงสาวโปแลนด์ที่ไม่กล้ารับประทานเนื้อหมูเมื่อมาถึงไต้หวัน สามารถปรับตัวใช้ชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับที่นี่ได้ด้วยกำลังใจจากความรักที่ได้รับ มีเพียงเปลือกเกี๊ยวเพียงอย่างเดียวที่เหมือนกับอาหารที่บ้านเกิด ย้อมด้วยรากบีทรูทและน้ำผักโขม ห่อด้วยแผ่นชีสและแตงกวาดอง กับเกล็ดน้ำผึ้ง แสดงออกถึงการหลอมละลายเป็นหนึ่งเดียวระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกกับวัฒนธรรมตะวันตก เปี่ยมไปด้วยสีสันแบบยุโรปตะวันออกรสชาติแบบไต้หวัน

คุณเฉิงเหรินเพ่ยออกแบบชุด “อธิษฐานสักครั้ง ฉันจะป้อนอาหารให้” เข้าร่วมแสดงในช่วงที่เข้าร่วมโครงการศิลปินพำนักที่ฝรั่งเศสคุณเฉิงเหรินเพ่ยออกแบบชุด “อธิษฐานสักครั้ง ฉันจะป้อนอาหารให้” เข้าร่วมแสดงในช่วงที่เข้าร่วมโครงการศิลปินพำนักที่ฝรั่งเศส

วิวัฒนาการตำรับอาหารต้องใช้เวลาไปกับการคิดค้นสูตร ใช้วัตถุดิบอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ มาสะท้อนถึงความรู้สึกที่มีอยู่ “เปาะเปี๊ยะหลากอารมณ์” มีขั้นตอนการทำที่ค่อนข้างซับซ้อน วุ้นเนื้อที่ปรุงขึ้นด้วยความประณีต สะท้อนถึงการใช้ชีวิตท่ามกลางหิมะอากาศหนาวเหน็บในยูเครน “ดิฉันต้องการที่จะนำเอาความคิดถึงบ้านรวมเข้าด้วยกัน”

ความคิดถึงบ้านไม่ได้อยู่ที่ระยะทางว่าจะใกล้หรือไกล แม้จะเป็นประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม แต่ก็ยังจะทำให้ผู้คนเกิดความคิดถึงบ้านได้เหมือนกัน ส่วนความงดงามของ “กานลู่ซวง” ก็ทำจากของที่ระลึกที่คุณพ่อคุณแม่ชาวญี่ปุ่นมอบให้ หมายถึงคำอวยพรให้แก่ลูกหัวแก้วหัวแหวนของท่าน และยังสะท้อนถึงความคิดถึงบุพการีอย่างสุดมิได้ของเจ้าสาวต่างถิ่นเหล่านี้

ประสาทสัมผัสที่มีต่อรสชาติต่างๆ ในวัยเด็ก มักยากที่จะแปรเปลี่ยน การยอมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ต้องอาศัยพลังแห่งความรักอย่างมหาศาล คอกเทลรสชาติผสมระหว่างไต้หวันกับญี่ปุ่น มีรสชาติของมิโซะเป็นพื้นแล้วผสมลงไปด้วยผงชาเขียวกับน้ำมันงา ซ้อนกันขึ้นเป็นชั้นๆ กลายเป็นรสชาติสากลที่ี่ยากจะพรรณนาได้ กลายเป็นน้ำทิพย์ชโลมความคิดถึงบ้าน ในขณะที่อารมณ์เปราะบาง ถั่วเพียงเม็ดเดียวก็ขบเคี้ยวลดความคิดถึงบ้านได้ ใบโหระพาเพียงใบเดียวก็ทำให้ความทุกข์ระทมระบายออกมาพร้อมน้ำตา

 

ดินแดนแห่งศิลปะ การละเล่นและการกิน รวบรวมรสชาติท้องถิ่น

Hong-gah Museum กรุงไทเป ซึ่งปักรากฝังลึกในท้องถิ่นมาเป็นเวลาช้านาน ได้จัดกิจกรรมที่มีชื่อว่า “Beitou Local Flavors Collecting Project” หรือ “ดินแดนแห่งศิลปะ การละเล่น และการกิน” ตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ. 2562 เป็นเวลา 1 เดือนเต็มๆ เป็นการรวมเอาสีสันท้องถิ่นของเขตเป่ยโถวเข้าไว้ด้วยกัน คุณเฉิง เหรินเพ่ยได้เข้าร่วมโครงการระดมรสชาติของนักเรียนผู้สูงวัยโรงเรียนประถมศึกษาสือผาย ใช้วัตถุดิบอาหารในท้องถิ่นเป็นสื่อนำผู้เข้าร่วมโครงการเปลี่ยนความทรงจำในส่วนลึกของสมองตน แล้วอาศัยเรื่องราวบนโต๊ะอาหารมาแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตในท้องถิ่นที่เต็มไปด้วยความทรงจำแห่งความหวานชื่น สุขสดชื่น ความวิตกกังวล ตลอดจนความคิดถึง และเมื่อเวลาผ่านพ้นไปนานวันเข้า ความทุกข์ระทมก็ได้กลับกลายเป็นความหวานชื่น ทำให้บรรดานักเรียนผู้สูงวัยดีใจโลดเต้นดุจวัยรุ่นทีเดียว โดยการนำพาของคุณเฉิงเหรินเพ่ย กระตุ้นต่อมความคิดสร้างสรรค์ สรรค์สร้างผลงานคุณภาพที่เต็มไปด้วยพลัง

จากซ้ายไปขวาเป็นผลงาน “วิวัฒนาการแห่งตำรับอาหาร” ของเฉิงเหรินเพ่ย ประกอบด้วย เปาะเปี๊ยะหลากอารมณ์, ต้นกล้าอ่อน และกระจกแห่งบรรพต (ภาพจาก เฉิงเหรินเพ่ย)(3)จากซ้ายไปขวาเป็นผลงาน “วิวัฒนาการแห่งตำรับอาหาร” ของเฉิงเหรินเพ่ย ประกอบด้วย เปาะเปี๊ยะหลากอารมณ์, ต้นกล้าอ่อน และกระจกแห่งบรรพต (ภาพจาก เฉิงเหรินเพ่ย)

อาหารรสชาติแปลกๆ ของประเทศต่าง ๆ ย่อมสะกดลิ้นผู้คนไว้ได้อย่างอยู่หมัดเลยทีเดียว รสชาติท้องถิ่นที่แตกต่างออกไปแสดงให้เห็นถึงการใช้วัตถุดิบ-เครื่องปรุงที่แตกต่างกัน เกิดเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน คุณเฉิงเหรินเพ่ยผุดไอเดียออกมาอย่างไม่ขาดสาย ด้วยความรักและความเร่าร้อน ใช้พรสวรรค์ของตนถ่ายทอดสู่อาหารและการถ่ายภาพ พร้อมกับบอกพวกเราว่า “คราวต่อไปดิฉันจะใช้แป้งนวดมาประทับร่องรอยของเมืองต่างๆ”

นักประวัติศาสตร์บันทึกเรื่องราวด้วยตัวอักษร จิตรกรใช้พู่กันถ่ายทอดภาพวิวทิวทัศน์อันสวยงาม นักดนตรีใช้โน้ตเพลงขับกล่อมอารมณ์ความรู้สึก เมื่อเวลาล่วงเลยไปร้อยวันพันปี สืบเสาะเรื่องราววัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนรุ่นก่อนจากภาพตำรับอาหาร ก็จะทราบได้ถึงร่องรอยแห่งวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย.