สำนักข่าว CNA วันที่ 23 เม.ย. 62
คณะวรรณกรรมจีน (Department of Chinese Literature )มหาวิทยาลัยเฉิงกง (National Cheng Kung University,NCKU) ร่วมกับคณะวรรณกรรมจีน มหาวิทยาลัยมาลายา (University of Malaya, UM) เปิดตัว “นวนิยายสั้นเย่สือเทา” ฉบับแปลเป็นภาษามาเลเซีย ภายใต้การสนับสนุนของกองการท่องเที่ยว นครไถหนาน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและสร้างความเข้าใจทางวัฒนธรรม ระหว่างไต้หวัน – มาเลเซียในเชิงลึก
นายเย่สือเทา ผู้ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้จุดประทีปในแวดวงวรรณกรรมไต้หวัน เป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงในนครไถหนาน ซึ่งถือเป็นแหล่งวัฒนธรรมเก่าแก่ของไต้หวัน ตลอดระยะเวลา 60 ปี ในช่วงชีวิตการทำงานด้านวรรณกรรมของนายเย่สือเทา ได้สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรม ถูกตีพิมพ์กว่า 100 เล่ม ก่อนจากโลกใบนี้ไปด้วยวัย 83 ปี ในเดือนธ.ค. ปี 2008
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. นางโจวหย่าจิง รองผู้อำนวยการ กองวัฒนธรรม นครไถหนานได้จัดงานแถลงข่าวประชาสัมพันธ์ “นวนิยายสั้นเย่สือเทา” ฉบับแปลเป็นภาษามาเลเซีย พร้อมกล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีมากที่ได้เห็นนวนิยายดังกล่าวแปลเป็นภาษามาเลเซีย ซึ่งในปัจจุบัน ถูกแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลี และเวียดนามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื้อหาในนวนิยาย ส่วนใหญ่จะเป็นการบรรยายเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ในนครไถหนาน อันประกอบไปด้วย ตรอกซอยที่คดเคี้ยวและวกวนไปมาซึ่งเปี่ยมไปด้วยอัตลักษณ์ในท้องถิ่นของนครไถหนาน อาหารเลิศรส วัฒนธรรมการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดเก่าแก่เป็นต้น ซึ่งคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นสื่อกลางที่ทำให้นักอ่านชาวมาเลเซีย รู้จักกับวัฒนธรรมไถหนานมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ดร.พันปี้หัว คณบดีคณะวรรณกรรมจีน มหาวิทยาลัยUM ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว CNA หลังเสร็จสิ้นงานแถลงข่าวประชาสัมพันธ์ “นวนิยายสั้นเย่สือเทา” ฉบับแปลเป็นภาษามาเลเซียว่า นวนิยายแปลเล่มนี้ เป็นผลงานที่เกิดจากความร่วมกันของนักศึกษาชาวจีนโพ้นทะเลในมาเลเซีย 7 คน และนักศึกษาชาวมาเลเซียที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาจีนอีก 1 คน
ดร.เฉินอี้หยวน ศาสตาจารย์คณะวรรณกรรมจีน มหาวิทยาลัยNCKU ประธานโครงการแปลนวนิยายเล่มดังกล่าวเป็นภาษามาเลเซีย กล่าวว่า “แม้มิตรสหายชาวมาเลเซียบางคนไม่คุ้นเคยกับการเขียนบรรยายรายละเอียดเรื่องราวในชีวิตประจำวันลงในบทความ อาทิ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพหรือวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร หากแต่นี่คือวิถีชีวิตชาวไต้หวันที่ถูกเขียนบรรยายด้วยคนไต้หวัน จึงอยากขอให้มิตรสหายชาวมาเลเซียเข้าใจว่า หากหลีกเลี่ยงการเอ่ยถึงเรื่องราวในชีวิตจริงเหล่านี้ เย่สือเทาก็คงไม่ใช่เย่สือเทาอีกต่อไป เพราะฉะนั้นเราจึงเลือกใช้วิธีที่จริงใจที่สุด เพื่อให้มิตรสหายใหม่เข้าใจเรามากขึ้น”
ดร.เฉินอี้หยวนกล่าวปิดท้ายว่า สาเหตุที่เลือกบทประพันธ์เล่มนี้ เนื่องมาจากไต้หวันและมาเลเซียต่างเคยผ่านช่วงศึกสงครามและถูกญี่ปุ่นยึดครองมาก่อน ดังนั้นจึงมีผู้คนจำนวนมากเคยผ่านช่วงชีวิตที่ลำบากยากเข็ญช่วงสงครามโลก สูญเสียทั้งเลือดเนื้อและน้ำตา เช่นเดียวกัน