ไต้หวันกับสหภาพยุโรป (EU) ได้ร่วมกันจัดการประชุมสัมมนาในประเด็น “เงื่อนไขการทำงานและความเป็นอยู่ของแรงงานประมง” ที่นครเกาสง ระหว่างวันที่ 6 – 7 พ.ค. ผู้เข้าร่วมร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึก (ภาพจากกรมประมง) สำนักข่าว CNA วันที่ 7 พ.ค. 62
สำนักข่าว CNA วันที่ 7 พ.ค. 62
ไต้หวันกับสหภาพยุโรป (EU) ได้ร่วมกันจัดการประชุมสัมมนาในประเด็น “เงื่อนไขการทำงานและความเป็นอยู่ของแรงงานประมง” ที่นครเกาสง ระหว่างวันที่ 6 – 7 พ.ค. โดยกรมประมงเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการปรับปรุงแก้ไขสภาพการณ์ที่แรงงานประมงสูญเสียสิทธิประโยชน์ อีกทั้งจัดการประเมินบริษัทจัดหางาน ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ ด้านกรีนพีซ (Greenpeace) คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สภาบริหารสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จะเร่งนำมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ บัญญัติเป็นกฏหมายภายในประเทศ
คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (DG EMPL) จัดการประชุมสัมมนาเรื่อง “เงื่อนไขการทำงานและความเป็นอยู่ของแรงงานประมง” ระหว่างวันที่ 6 – 7 พ.ค. ที่นครเกาสง ไต้หวัน โดยกรมประมง คณะกรรมการการเกษตร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุม ซึ่งหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมสัมมนาครั้งนี้ ประกอบไปด้วย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลท้องถิ่น ตลอดจนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่รัฐและนักวิชาการ
นายหลินกั๋วผิง รองอธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญจากเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส ในประเด็นเรื่อง วิธีบริหารจัดการลูกเรือประมง (แรงงานประมงต่างชาติ) ซึ่งกรมประมงได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ 20 คน ไปตรวจสอบที่ท่าเรือประมงนอกชายฝั่ง ขณะเดียวกันก็ถือโอกาสตรวจเยี่ยมลูกเรือประมงว่าได้รับการปฎิบัติตามหลักกฏหมายหรือถูกละเมิดสิทธิประโยชน์หรือไม่
การประชุมสัมมนาครั้งนี้ ยังมีตัวแทนขององค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมด้วย โดยไช่เพ่ยหยุน นักรณรงค์ (Campaigner) กรีนพีซแถลงว่า อนุสัญญาไอแอลโอ (ILO) ฉบับที่ 188 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน พ.ย. ปี 2017 ระบุถึงเงื่อนไขการทำงานของแรงงานประมงอย่างสมบูรณ์ อาทิ ชั่วโมงทำงาน สภาพแวดล้อม สุขอนามัยและการรักษาพยาบาล ซึ่งมีบางประเทศได้บัญญัติเป็นกฎหมายภายในประเทศแล้ว อาทิ ประเทศไทย ด้านนายหลัวปิ่งเฉิง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร ซึ่งเข้าร่วมการประชุมสัมมนาครั้งนี้ด้วย แสดงความคาดหวังว่า จะเร่งผลักดันมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ บัญญัติเป็นกฏหมายภายในประเทศโดยเร็วที่สุด
แม้ไม่ใช่หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านแรงงานโดยตรง แต่กรมประมงย้ำว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ปี 2017 กรมประมงได้ประกาศใช้ “ระเบียบว่าด้วยการอนุญาตว่าจ้างและบริหารจัดการลูกเรือประมงที่ไม่ใช่สัญชาติไต้หวัน นอกประเทศ” โดยระบุชัดเจนเกี่ยวกับ ค่าจ้างขั้นต่ำ (450 ดอลลาร์/เดือน) วิธีจ่ายค่าจ้าง เพิ่มประเภทของประกันภัยและปรับเพิ่มวงเงินประกันเบื้องต้น เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบบริษัทจัดหางาน ผ่านระบบใบอนุญาตประกอบกิจการและเงินค้ำประกัน ตลอดจนเพิ่มค่าปรับบริษัทจัดหางาน และเจ้าของเรือประมงผิดกฎหมาย เป็นต้น
นายหลินกั๋วผิงกล่าวว่า การที่กรมประมงจัดให้มีการประเมินบริษัทจัดหางานในประเทศ และลงโทษสั่งปรับผู้ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับนั้น ผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศส นอกจากจะแสดงความชื่นชมแล้ว ยังเตรียมที่จะดำเนินการตามแนวทางของไต้หวันด้วย