นิตยสาร Foreign Policy ตีพิมพ์บทความของปธน.ไช่ฯ ว่า ประชาธิปไตยของไต้หวัน ต้องการความร่วมมือจากสหรัฐฯ (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)
สำนักข่าว CNA วันที่ 9 พ.ค. 62
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา นิตยสาร Foreign Policy ได้ตีพิมพ์บทความของประธานาธิบดี ไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งระบุว่า การพัฒนาประชาธิปไตยด้วยตนเองของไต้หวัน ยังคงต้องการความร่วมมือจากสหรัฐฯ พร้อมนี้ปธน.ไช่ฯ ได้ให้คำมั่นว่า จะร่วมสรรสร้างโลกที่ดีขึ้น และกระตุ้นให้เกิดอิสระเสรีภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกต่อไป
โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ค. นิตยสาร Foreign Policy ได้จั่วหัวข้อบทความของปธน.ไช่ฯ ว่า “ประชาธิปไตยที่พัฒนาด้วยตนเองของไต้หวัน ยังคงต้องการความร่วมมือจากสหรัฐฯ” (Taiwan's Self-Made Democracy Still Needs U.S. Partnership) โดยเนื้อหาสาระสำคัญในบทความระบุถึง ปธน.ไช่ฯ ย้อนไปถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของการบัญญัติ “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” โดยย่อ ซึ่งได้กล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้ได้เป็นสื่อกลางที่กำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ และรับรองศักยภาพความสามารถในการป้องกันประเทศของไต้หวัน
ปธน.ไช่ฯ ย้อนรำลึกถึงเหตุการ์ณในอดีตว่า ภายใต้บริบทของสงครามเย็น ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าไต้หวันจะเป็นประภาคารแห่งประชาธิปไตยที่ส่องสว่างในภูมิภาคเอเชีย คนไต้หวันต้องการเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ภายใต้อ้อมกอดของคุณค่าแห่งประชาธิปไตย และคนไต้หวันมีความเข้มแข็งที่จะต่อสู้กับอุปสรรคขวากหนาม และก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า ภายใต้การสนับสนุนอันแน่วแน่มั่นคงของสหรัฐฯ ประเทศพันธมิตรทางประชาธิปไตย ทำให้ไต้หวันสามารถก้าวผ่านระบอบเผด็จการ มาเป็นประเทศที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาแห่งความเป็นประชาธิปไตย ในปี 1996 เป็นปีแรกที่ีมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในไต้หวัน 4 ปีหลังจากนั้น อำนาจทางการเมืองได้ถ่ายโอนจากพรรคหนึ่งไปให้อีกพรรคอย่างสันติภาพ และในปี 2016 เป็นปีแรกที่ผู้นำหญิงขึ้นดำรงประธานาธิบดีเป็นครั้งแรก ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายกำแพงแห่งความไม่เสมอภาคทางเพศอย่างชัดเจนที่สุด รวมไปถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติที่เป็นผู้หญิง ก็มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันเริ่มจากการเป็นผู้ให้ จนปัจจุบันกลายมาเป็นประเทศผู้นำเทคโนโลยีระดับสูงที่แข็งแกร่ง มีคลังบุคลากรที่ยอดเยี่ยม และมีตลาดที่เปิดกว้างอย่างมีระบบ อีกทั้งยังมีโครงสร้างของกฎหมายคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ นอกจากนี้ไต้หวันยังเป็น 1 ใน 10 ประเทศเศรษฐกิจเสรี และเป็นหุ้นส่วนสำคัญของบริษัทสหรัฐฯ ทั้งในภูมิภาคและทั่วโลกอีกด้วย
ปธน.ไช่ฯ เผยว่า 40 ปีที่่ผ่านมา รัฐสภาสหรัฐฯ และหน่วยงานสภาบริหาร เคารพและดำเนินการตาม “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” อย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นการเน้นย้ำว่าความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ มิอาจถูกแทนที่ได้ ขณะเดียวกัน กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวันยังช่วยเสริมสร้างสันติภาพในภูมิภาค ให้พ้นจากการถูกรุกรานโดยกลุ่มพลังต่อต้านประชาธิปไตย ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น การที่ไต้หวัน – สหรัฐฯ ยืนหยัดเคียงข้างกัน ก็เพราะเชื่อว่า อำนาจเผด็จการที่นำมาซึ่งความมืดมนและความหวาดกลัว ไม่สามารถเอาชนะความสว่างไสวของประชาธิปไตยได้
กรณีที่สมาชิกข้ามพรรคของรัฐสภาสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่น และมีมติเห็นชอบให้ผ่าน “ร่างกฎหมายการเดินทางไต้หวัน” โดยไร้เสียงคัดค้าน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในเชิงลึกร่วมกับไต้หวัน ปธน.ไช่กล่าวว่า นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า จนถึงปัจจุบันรัฐสภาสหรัฐฯ ไม่เคยหยุดนิ่งในการดำเนินการตาม “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” ที่เป็นคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้เมื่อครั้งอดีต
ปธน.ไช่ฯ กล่าวปิดท้ายว่า ภายในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่ไต้หวันสามารถยืนหยัดและพัฒนาอย่างรุ่งโรจน์ ภายใต้บริบทที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างรุนแรง เนื่องมาจากการที่คนไต้หวันไม่เคยยอมจำนนให้กับการข่มขู่จากอำนาจเผด็จการ ซึ่งในอนาคตก็จะยังคงเป็นแบบนี้ ในช่วงเวลาแห่งความสำคัญนี้ ไต้หวัน – สหรัฐฯ ได้ร่วมเฉลิมฉลอง และตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่เห็นเรื่องราวความสำเร็จบทใหม่ในอนาคต
ในฐานะที่เป็นปธน.ของประภาคารแห่งประชาธิปไตยที่ส่องสว่างไปทั่ว ปธน.ไช่ฯ ให้คำมั่นว่าจะยืนหยัดต่อสู้ และร่วมมือกับหุ้นส่วนทางประชาธิปไตยต่อไป เพื่อร่วมสร้างสรรค์โลกที่สวยงาม ตลอดจนร่วมเป็นกำลังสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดอิสระเสรีภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกและภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป