ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน)ขอขอบคุณ14ประเทศพันธมิตรที่เรียกร้องต่อWHOให้เชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุมWHAปี2019ในฐานะผู้สังเกตการณ์
2019-05-21

กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน)ขอขอบคุณ14ประเทศพันธมิตรที่เรียกร้องต่อWHOให้เชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุมWHAปี2019ในฐานะผู้สังเกตการณ์

กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน)ขอขอบคุณ14ประเทศพันธมิตรที่เรียกร้องต่อWHOให้เชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุมWHAปี2019ในฐานะผู้สังเกตการณ์

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 20 พ.ค. 62

 

กรณีที่ 14 ประเทศพันธมิตร อันประกอบด้วย หมู่เกาะมาร์แชลล์ คิริบาส ปาเลา เซนต์ลูเชีย ตูวาลู เฮติ เบลีซ เอสวาตินี เซนต์คิตส์และเนวิส นาอูรู หมู่เกาะโซโลมอน ปารากวัย ฮอนดูรัส และเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ ได้เสนอญัตติ เรียกร้องต่อ นายแพทย์ อัดฮานอม กีเบรเยซุ (Tedros Adhanom Ghebreyesus) เลขาธิการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ในหัวข้อเรื่อง “เชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลกในฐานะผู้สังเกตการณ์” (Inviting Taiwan to participate in the World Health Assembly as an observer) ซึ่งทางWHO ได้จัดญัตติดังกล่าวเป็นประเด็นเสริมในวาระการประชุม WHA ประจำปีนี้ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน)ขอขอบคุณประเทศพันธมิตรเป็นอย่างยิ่ง ที่ยืนหยัดให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเหนียวแน่นและกระตือรือร้น โดยไม่หวั่นเกรงต่อแรงกดดันใดๆ


 

เนื้อหาของญัตติซึ่งจัดทำเป็นหนังสือเรียกร้องที่ประเทศพันธมิตรส่งถึงนายแพทย์เทโดรส ระบุว่า นับตั้งแต่ปี2017 เป็นต้นมา ไต้หวันไม่ได้ถูกเชิญให้เข้าร่วมการประชุม WHA ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุขของประชาชนชาวไต้หวันเท่านั้น ยังก่อให้เกิดช่องโหว่ในเครือข่ายระบบความปลอดภัยทางสาธารณสุขทั่วโลกอย่างรุนแรง ภารกิจของWHOจะสำเร็จลงได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและหุ้นส่วนในประชาคมโลก การกีดกันไต้หวันออกไปจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประสิทธิภาพโดยรวมของWHOและผลประโยชน์โดยรวมของสมาชิกWHO ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลเสียต่อสุขภาพอนามัยของมวลมนุษยชาติอีกด้วย ดังนั้น WHO จึงควรยอมรับ โดยให้ประชาชนชาวไต้หวันมีสิทธิทัดเทียมกับประชาชนทั่วโลกในการเข้าร่วมระบบการแพทย์สาธารณสุขโลก การที่ไต้หวันได้เข้ามีส่วนร่วมในการประชุม WHA จะสร้างคุณประโยชน์ให้กับ WHOและทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจะช่วยผลักดันให้เป้าหมายประการที่ 3 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สำเร็จลุล่วงก่อนปี 2030 เพื่อเป็นหลักประกันและสร้างความก้าวหน้าในด้านสุขภาพอนามัยและความผาสุกของมวลมนุษยชาติ


 

ความสำเร็จทางการแพทย์สาธารณสุข ประกอบกับความตั้งใจจริงและศักยภาพของไต้หวัน เพียงพอที่จะช่วยเหลือWHOให้สามารถบรรลุเป้าหมายสุขภาพดีถ้วนหน้า(Health for All) ซึ่งได้รับการยอมรับและคำชื่นชมจากประชาคมโลกอย่างล้นหลาม โดยเห็นได้จากในปีนี้ไต้หวันได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ซึ่งถือเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ดีที่สุด กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันขอยืนยันอีกครั้งว่า ไต้หวันก็คือไต้หวัน ซึ่งไม่เคยถูกปกครองโดยรัฐบาลจีนเลยแม้แต่วันเดียว เพราะฉะนั้นรัฐบาลจีนก็ไม่มีสิทธิและไม่สามารถเป็นตัวแทนของไต้หวันในWHOได้ มีเพียงรัฐบาลไต้หวันที่ได้รับเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น ที่เป็นตัวแทนประชาชนชาวไต้หวัน 23 ล้านคนใน WHO และทำหน้าที่รับผิดชอบสุขภาพอนามัยของคนในประเทศ กต.ไต้หวันเรียกร้องสำนักเลขาธิการ WHO ให้รับฟังเสียงสนับสนุนไต้หวันจากประชาคมโลกที่ดังสนั่น ละทิ้งซึ่งเหตุผลทางการเมือง เร่งยอมรับไต้หวันเข้าร่วมการประชุม กลไกและกิจกรรมต่างๆทุกรายการ โดยปราศจากเงื่อนไขและอุปสรรคใดๆโดยเร็ว จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมาย “การประกันสุขภาพถ้วนหน้า - ไม่ละทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง” (Universal Health Coverage – leaving no one behind) โดยเร็ววัน