กู้กว่างอี้ ศิลปินไต้หวันแปลงสำรับอาหารแมนจูและฮั่นในรูปแบบใหม่ คว้าเงินสนับสนุนจากกองทุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เนเธอร์แลนด์
กระทรวงวัฒนธรรม วันที่ 21 พ.ค. 62
นายกู้กว่างอี้ ศิลปินชาวไต้หวันและ Adelaide Lala Tam ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบอาหารชาวฮ่องกง ร่วมกันวางแผนโครงการ “สำรับอาหารของชนชาติแมนจูและฮั่น โฉมใหม่” ได้รับการสนับสนุนจาก “โครงการทดลองสร้างสรรค์ แนะแนวและผลักดันนวัตกรรมศิลปะเชิงเทคโนโลยี” ของกระทรวงวัฒนธรรม ในปี 2019 และได้รับการชื่นชมจากกองทุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เนเธอร์แลนด์ (Creative Industries Fund NL) โดยได้รับเงินสนับสนุน 25,000 ยูโร
เป้าหมายของกระทรวงวัฒนธรรมคือการบ่มเพาะทีมงานศิลปะเชิงเทคโนโลยีรุ่นใหม่ สนับสนุนการพัฒนาผลงานศิลปะข้ามวงการ และดำเนินการตาม “โครงการทดลองสร้างสรรค์ แนะแนวและผลักดันนวัตกรรมศิลปะเชิงเทคโนโลยี” ซึ่งจะคอยดูแลและแนะแนว ตลอดจนส่งเสริมให้แนวคิดสร้างสรรค์ศิลปะเชิงเทคโนโลยีกลายเป็นผลงานนวัตกรรม ผ่านการบูรณาการทรัพยากรหน่วยงานด้านศิลปะและเทคโนโลยี รวมถึงวงการอุตสาหกรรม
กองทุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เนเธอร์แลนด์ เป็นโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ สนับสนุนแนวคิดด้านการออกแบบ การก่อสร้างและวัฒนธรรมดิจิทัล ผ่านการให้เงินสนับสนุน โดยงบประมานของกองทุนในปีนี้ อยู่ที่ 15 ล้านยูโร ซึ่งงบประมานดังกล่าว รวบรวมมาจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรมและเทคโนโลยี กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์
ในปี 2019 นายกู้กว่างอี้ ได้ริเริ่มและพัฒนา โครงการ “สำรับอาหารของชนชาติแมนจูและฮั่นโฉมใหม่” โดยยึดหลักการอนุรักษ์ระบบนิเวศ แปลงสำรับอาหารชาววังสุดคลาสสิก ออกมาในรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นผลงานที่ผสมผสานระหว่างการออกแบบ การสร้างสรรค์เชิงศิลปะและเทคโนโลยีระดับสูง ภายใต้บริบทที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าสงวน นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ไว้ซึ่งวัฒนธรรมอาหารดั้งเดิมของภูมิภาคเอเชียควบคู่กันไปด้วย
นายกู้กว่างอี้มุ่งเน้นด้านศิลปะชีวภาพเป็นหลัก ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งองค์กร Ouroboros Organic Organisms of O และเป็นผู้นำชุมชนศิลปะชีวภาพแห่งไต้หวัน (TW Bio Art) สำเร็จการศึกษาจากสถาบัน Design Academy Eindhovenและจบปริญญาโทจากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหยางหมิง (National Yang-Ming University) นับว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทหลายด้าน โดยเป็นทั้งทันตแพทย์ ศิลปินชีวภาพ และ social designer โดยได้พยายามแสวงหาความเป็นไปได้ในการผสมผสานระหว่างศิลปะ การออกแบบและหลักการทางวิทยาศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน
ในปี 2018 โครงการ “Tiger Penis Project” ของนายกู้กว่างอี้ ก็ได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจาก”โครงการทดลองสร้างสรรค์ แนะแนวและผลักดันนวัตกรรมศิลปะเชิงเทคโนโลยี” ของกระทรวงวัฒนธรรม และยังได้รับรางวัลนานาชาติ 3 รายการ ซึ่งประกอบด้วย รางวัลกิว กางคเกอร์ (Gijs Bakker) อันดับที่1 จากสถาบันDesign Academy Eindhoven รางวัลใหญ่ใน 3 อันดับแรกของ การแข่งขันออกแบบอาหารในโลกอนาคต(Future Food Design Award) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 7 ผลงานออกแบบนวัตกรรมยอดเยี่ยมของ Dornob ซึ่งเป็นเวทีพิจารณ์ผลงานศิลปะระดับนานาชาติของอเมริกา เป็นต้น โครงการ “Tiger Penis Project” ถูกเชิญให้ไปจัดแสดงที่เนเธอร์แลนด์ อิตาลี เบลเยี่ยมและในไต้หวัน โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างตระเวณจัดโรดโชว์ในยุโรป
ศิลปะเชิงเทคโนโลยีของไต้หวันเป็นนโยบายหลักและแนวทางการพัฒนาศิลปะที่สำคัญของกระทรวงวัฒนธรรม ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลงานศิลปะเชิงเทคโนโลยีของไต้หวันได้รับการยอมรับและได้รับเชิญไปจัดแสดงยังนานาประเทศ การที่นายกู้กว่างอี้ได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจากต่างประเทศในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ข้ามวงการของศิลปินและทีมงานชาวไต้หวันได้อย่างชัดเจน