ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การแลกเปลี่ยนตะวันออก-ตะวันตก นวัตกรรมและความยั่งยืน รางวัลถังไพรส์ ครั้งที่ 3 ชื่อเสียงขจรไกล
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2019-07-22

การแลกเปลี่ยนตะวันออก-ตะวันตก นวัตกรรมและความยั่งยืน

 

“ผลสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง คือการแผ่ขยายของพลังแห่งมวลชน” ดร.โยชิโนบุ ชิบะ (Yoshinobu Shiba) เจ้าของรางวัลถังไพรส์ ครั้งที่ 3 สาขาจีนศึกษา กล่าวขณะให้สัมภาษณ์พิเศษกับนิตยสารไต้หวันพาโนรามา พลังของมวลชนไม่เพียงแต่ช่วยสนับสนุนราชวงศ์ถังและซ่งในการต่อต้านการรุกรานของพวกอนารยชน ยังก่อให้เกิดการพัฒนาของอารยธรรมในสมัยราชวงศ์ถังและซ่งอีกด้วย นอกจากนี้ ยังนำชาวจีนรุ่นหนึ่งในมณฑลฝูเจี้ยนย้ายไปต่างประเทศ สร้างคุณูปการของชาวจีนโพ้นทะเลในวันนี้

 

ภาพจาก มูลนิธิถังไพรส์(1)ภาพจาก มูลนิธิถังไพรส์

“รางวัลถังไพรส์” ได้รับการขนานนามว่าเป็นรางวัลโนเบลแห่งโลกตะวันออก การจัดงานครั้งที่ 3 มีผู้ได้รับรางวัล 8 ท่าน ซึ่งได้เดินทางมายังไต้หวันในเดือนกันยายน 2018 เพื่อเข้าร่วมพิธีมอบรางวัลและมาบรรยายในกิจกรรมที่จัดขึ้น ผู้ได้รับรางวัลต่างก็มีส่วนร่วมในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการรับมือกับการคุกคามของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนายารักษามะเร็ง การถ่ายทอดความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจและวรรณกรรมในสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง และการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของบทบาทของกฎหมายที่มีต่อเสรีภาพและประชาธิปไตย เพื่อถ่ายทอดมุมมองและค่านิยมแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ไปสู่ทั่วโลก

ในฐานะที่เป็นรางวัลระดับโลก ดร.เฉินเจิ้นชวน (陳振川) อดีตประธานคณะกรรมการการโยธาสาธารณะ สภาบริหารไต้หวัน สาธารณรัฐจีน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานบริหารมูลนิธิถังไพรส์ ชี้ว่า มูลนิธิถังไพรส์ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 จากทุนบริจาคของคุณหยินเหยี่ยนเหลียง (尹衍樑) นักธุรกิจไต้หวัน และเป็นรางวัลที่แตกต่างจากรางวัลโนเบล ซึ่งมอบรางวัลสำหรับผู้สร้างคุณูปการในด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วรรณกรรม และสันติภาพ โดยรางวัลถังไพรส์ได้ปรับเปลี่ยนให้ตอบสนองต่อการพัฒนาและความท้าทายในโลกปัจจุบัน ด้วยการมอบรางวัลสาขาพัฒนาอย่างยั่งยืน, สาขาชีวเภสัชศาสตร์ และสาขานิติธรรม นอกจากนี้ ยังจัดตั้งสาขาจีนศึกษาขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างและคุณค่าของวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตกอย่างเด่นชัด

สตีเฟน โอเวน ได้รับรางวัลจีนศึกษา เขาจัดทำหนังสือชุด “หอสมุดมนุษยศาสตร์จีน” ฉบับแปล สร้างความก้าวหน้าให้แก่ทฤษฎีการเปรียบเทียบวรรณกรรมตะวันออกกับตะวันตก ช่วยส่งเสริมให้วงการวิชาการนานาชาติเห็นความสำคัญของรางวัลถังไพรส์ สาขาจีนศึกษา (ภาพจาก มูลนิธิถังไพรส์)สตีเฟน โอเวน ได้รับรางวัลจีนศึกษา เขาจัดทำหนังสือชุด “หอสมุดมนุษยศาสตร์จีน” ฉบับแปล สร้างความก้าวหน้าให้แก่ทฤษฎีการเปรียบเทียบวรรณกรรมตะวันออกกับตะวันตก ช่วยส่งเสริมให้วงการวิชาการนานาชาติเห็นความสำคัญของรางวัลถังไพรส์ สาขาจีนศึกษา (ภาพจาก มูลนิธิถังไพรส์)

 

โยชิโนบุ ชิบะ: ความยิ่งใหญ่ของพลังมวลชน

ผู้ได้รับรางวัลสาขาจีนศึกษาในการจัดงานครั้งนี้มี 2 ท่าน หนึ่งในนั้นคือคุณโยชิโนบุ ชิบะ ซึ่งเกิดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมจีน และยังเป็นผู้แทนของ “สำนักปรัชญาโตเกียว” ในวงการจีนศึกษาของญี่ปุ่น ปัจจุบันมีอายุ 88 ปีแล้ว โดยคุณชิบะได้ใช้เวลาทุ่มเทในการวิจัยด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการค้าในยุคราชวงศ์ซ่งและเรื่องชาวจีนโพ้นทะเลเป็นเวลานานกว่า 6 ทศวรรษ

คุณโยชิโนบุ ชิบะ ให้สัมภาษณ์ต่อนิตยสารไต้หวันพาโนรามา ที่โรงแรมแกรนด์ (Grand Hotel) ในไทเปว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ตนสนใจทำงานวิจัยด้านจีนศึกษานั้น เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากบิดามารดา “แต่เดิม ผมอยากจะทำงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศเยอรมนี แต่คุณพ่อเห็นว่าอักษรจีนหรือคันจินั้น เป็นภาษาต่างประเทศที่ญี่ปุ่นยืมใช้มาโดยตลอด จึงเชื่อว่าผมจะสามารถใช้ภาษาจีนมาทำการวิจัยได้ดีกว่าใช้ภาษาเยอรมันอย่างแน่นอน ประกอบกับญาติฝ่ายแม่ก็ทำงานวิจัยด้านสังคมจีน เขามักจะพูดคุยกันในครอบครัวถึงความสนุกในการเดินทางไปดูงานที่ประเทศจีนเพื่อทำวิจัยสำรวจอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ผมเกิดความรู้สึกสนใจเป็นอย่างมาก”

คุณโยชิโนบุ ชิบะ มักจะใช้นิ้วมือทาบไว้ที่หน้าผากเพื่อขบคิดชั่วขณะถึงสิ่งที่ถูกถามก่อนจะตอบออกมา เขากล่าวว่า ผลสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในยุคราชวงศ์ถังและซ่งสามารถอธิบายโดยใช้เพียงประโยคเดียวคือ นำพลังสู่ประชาชน ในยุโรปได้เกิดการปฏิวัติทางการค้าขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 11 ประชาชนจึงได้เข้ามามีบทบาท ส่วนในญี่ปุ่นล่วงเลยมาจนถึงสมัยรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ (ยุคเอโดะ) ประชาชนจึงเริ่มมีบทบาทขึ้น แต่สำหรับจีนเกิดขึ้นเร็วกว่านั้นและอิทธิพลแผ่ขยายกว้างกว่า นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนมีอารยธรรมที่รุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์ถังและซ่งในช่วงศตวรรษที่ 8

ทาสุคุ ฮอนโจ (Tasuku Honjo) เจ้าของรางวัลถังไพรส์ครั้งที่ 1 สาขาชีวเภสัชศาสตร์ มอบรางวัลให้แก่ไบรอัน เจ. ดรูเกอร์ ผู้ได้รับรางวัลถังไพรส์ครั้งที่ 3 สาขาชีวเภสัชศาสตร์ ที่ประสบความสำเร็จในการใช้วิธีรักษาแบบมุ่งเป้าในเวชศาสตร์คลินิก (ภาพจาก มูลนิธิถังไพรส์)ทาสุคุ ฮอนโจ (Tasuku Honjo) เจ้าของรางวัลถังไพรส์ครั้งที่ 1 สาขาชีวเภสัชศาสตร์ มอบรางวัลให้แก่ไบรอัน เจ. ดรูเกอร์ ผู้ได้รับรางวัลถังไพรส์ครั้งที่ 3 สาขาชีวเภสัชศาสตร์ ที่ประสบความสำเร็จในการใช้วิธีรักษาแบบมุ่งเป้าในเวชศาสตร์คลินิก (ภาพจาก มูลนิธิถังไพรส์)

เขายกตัวอย่าง ช่วงกลางของราชวงศ์ถังซึ่งมีทหารรับจ้างกว่า 1 ล้านคน กองทัพจำเป็นต้องจัดส่งเสบียงอาหารให้ รัฐบาลจึงเปลี่ยนมาให้พ่อค้าวาณิชและผู้ประกอบการรับจ้างขนส่งทำหน้าที่แทน นี่เป็นผลที่เห็นได้ชัดในการช่วยป้องกันการรุกรานจากชาวชี่ตันและหนี่ว์เจินได้ และทำให้สถานะของพ่อค้าสูงขึ้น การขุดคลองลำเลียงขนาดใหญ่ (ต้ายุ่นเหอ) ในสมัยราชวงศ์สุย ทำให้ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นถูกจำหน่ายไปทั่วประเทศ ในสมัยนั้นจึงเกิดผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น เช่น ผ้าไหมทอดิ้นของเฉิงตู เครื่องเซรามิกของติงโจว และสินค้าชั้นดีอื่นๆ รวม 28 รายการ บรรดาพ่อค้าก็ได้ประโยชน์จากความแตกต่างของราคาระหว่างแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายจนสร้างความร่ำรวยให้กับตัวเองได้เป็นอย่างมาก

คุณโยชิโนบุ ชิบะ ได้กลั่นกรองข้อมูลความรู้จากอารยธรรมสมัยราชวงศ์ถังและซ่งจนตกผลึก  และได้ความรู้ที่ละเอียดและกว้างขวางเป็นอย่างมาก ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ เขาพูดถึงจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดในชีวิตคนเราคือ “อย่าปล่อยให้ตนเองหวั่นไหวไปกับโลกภายนอก ต้องยึดมั่นในจุดยืน”  ตัวอย่างเช่น ตอนที่เขาทำงานวิจัยด้านจีนศึกษาในยุค 1970 ขณะนั้นจีนเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นอย่างฉับพลัน ประกอบกับลัทธิมาร์กซิสต์เป็นแนวคิดกระแสหลักของโลกในสมัยนั้น แนวคิดต่อต้านทุนนิยมทำให้เขาทำการวิจัยและเก็บรวบรวมข้อมูลได้ยากลำบาก แต่ถึงแม้ว่างานวิจัยของเขาจะขัดกับกระแสหลัก เขาก็ยังยืนหยัดในเจตนารมณ์เดิมและเดินหน้าต่อไป

งานวิจัยด้านจีนศึกษาของโยชิโนบุ ชิบะ ที่ได้รับการสดุดีจากรางวัลถังไพรส์ ผนึกวิชาความรู้ของจีน ญี่ปุ่น และตะวันตกไว้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์แบบงานวิจัยด้านจีนศึกษาของโยชิโนบุ ชิบะ ที่ได้รับการสดุดีจากรางวัลถังไพรส์ ผนึกวิชาความรู้ของจีน ญี่ปุ่น และตะวันตกไว้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์แบบ

 

งานสัมมนาระดับปรมาจารย์ จุดประกายปัญญาแก่โลก

มูลนิธิถังไพรส์ร่วมกับองค์กรวิชาการที่สำคัญในระดับโลก จัดงานสัมมนาบรรยายหัวข้อพิเศษของรางวัลถังไพรส์ (Tang Prize Lecture) ทำให้อิทธิพลของรางวัลถังไพรส์แผ่ขยายไปทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็ช่วยยกระดับไต้หวันไปสู่สายตาทั่วโลกด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อปีค.ศ.2016 มูลนิธิถังไพรส์ได้ลงนามความตกลงร่วมกับสหพันธ์นานาชาติชีวเคมีและอณูชีววิทยา (IUBMB) เป็นเวลา 9 ปี เพื่อสนับสนุนการจัดการประชุมนานาชาติสาขาชีวเคมีและอณูชีววิทยา และมอบทุนค่าเดินทางให้แก่นักวิชาการรุ่นใหม่เพื่อทำการวิจัยในต่างประเทศและเข้าร่วมประชุมนานาชาติ เป็นการบ่มเพาะบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและสร้างนวัตกรรมในสาขาชีวแพทย์

ในปีค.ศ.2018 IUBMB จัดการประชุมขึ้นที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เปิดการประชุมโดยเชิญคุณทาสุคุ ฮอนโจ (Tasuku Honjo) เจ้าของรางวัลถังไพรส์ครั้งที่ 1 สาขาชีวเภสัชศาสตร์ และรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ บรรยายหัวข้อพิเศษของรางวัลถังไพรส์ (Tang Prize Lecture) ต่อผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพและชีววิทยาศาสตร์กว่า 2,500 คน เพื่อแบ่งปันความสำเร็จของเขาในการรักษามะเร็งด้วยวิธีการภูมิคุ้มกันบำบัด

 

Pโจเซฟ ราซ (Joseph Raz) เจ้าของรางวัลสาขานิติธรรม บรรยายที่มหาวิทยาลัยเจิ้งจื้อ เรื่องคุณธรรรมในกฎหมาย (ภาพจาก มูลนิธิถังไพรส์)โจเซฟ ราซ (Joseph Raz) เจ้าของรางวัลสาขานิติธรรม บรรยายที่มหาวิทยาลัยเจิ้งจื้อ เรื่องคุณธรรรมในกฎหมาย (ภาพจาก มูลนิธิถังไพรส์)

อาจารย์ผู้สอนสั่งกับศิษย์รุ่นเยาว์

ไม่เพียงแต่มุ่งสู่เวทีนานาชาติ มูลนิธิถังไพรส์ยังให้ผู้ได้รับรางวัลได้มีส่วนร่วมในการมอบความรู้สู่มหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมปลายของไต้หวัน โดยร่วมกับสถานศึกษาจัดการประชุมสัมมนา Tang Prize Master Forum เพื่อถ่ายทอดความรู้และจุดประกายแรงบันดาลใจให้แก่เหล่านักเรียนนักศึกษา

ในปี 2018 ผู้ได้รับรางวัลสาขาพัฒนาอย่างยั่งยืน 2 ท่าน คือ คุณเจมส์ อี. ฮานเซน (James E. Hansen) และคุณวีรา
บราดัน รามานาทัน (Veerabhadran Ramanathan) ได้เดินทางไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติจงยาง (NCU) และมหาวิทยาลัยแห่งชาติจงซิง (NCHU) ตามลำดับ ในหัวข้อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแนวทางการรับมือแก้ปัญหา ขณะที่ผู้ได้รับรางวัลสาขาชีวเภสัชศาสตร์ ได้แก่ คุณโทนี ฮันเตอร์ (Tony Hunter) ผู้บุกเบิกการรักษาแบบมุ่งเป้า และคุณไบรอัน เจ. ดรูเกอร์ (Brian J. Druker) ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน และมหาวิทยาลัยการแพทย์จีน ในหัวข้อเกี่ยวกับอุปสรรคและความก้าวหน้าที่ต้องเผชิญบนเส้นทางการวิจัยวิทยาศาสตร์ ด้านคุณโยชิโนบุ ชิบะ เจ้าของรางวัลสาขาจีนศึกษา เดินทางไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเฉิงกง ในนครไถหนาน ในหัวข้อ “จิ้ง” ในวัดวาอารามของเมืองไถหนาน และองค์กรทางสังคมของชาวจีน เจ้าของรางวัลจีนศึกษาอีกท่านหนึ่งคือ คุณสตีเฟน โอเวน (Stephen Owen) ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยครุศาสตร์แห่งชาติไต้หวันในหัวข้อที่เกี่ยวกับอุปสรรคในการวิจัยวรรณกรรมจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นถึงราชวงศ์ถังและซ่ง และคุณโจเซฟ ราซ (Joseph Raz) เจ้าของรางวัลสาขานิติธรรม ได้รับเชิญให้ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเจิ้งจื้อในหัวข้อเกี่ยวกับการค้นคว้าแก่นแท้ของกฎหมาย”

เจมส์ ฮานเซน ผู้ได้รับรางวัลสาขาพัฒนาอย่างยั่งยืน ขณะพูดคุยปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนมัธยมปลายไต้หวัน (ภาพ: หลินหมินเซวียน)เจมส์ ฮานเซน ผู้ได้รับรางวัลสาขาพัฒนาอย่างยั่งยืน ขณะพูดคุยปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนมัธยมปลายไต้หวัน (ภาพ: หลินหมินเซวียน)

คุณเจมส์ ฮานเซน เจ้าของรางวัลสาขาพัฒนาอย่างยั่งยืน เคยเป็นหัวหน้าสถาบันศึกษาอวกาศก็อดดาร์ด (Goddard Institute for Space Studies) ของนาซา สหรัฐอเมริกา บรรยายในหัวข้อ “โลกของคนรุ่นใหม่ สร้างอนาคตใหม่ของตนเอง” (Young People's World: Making Your Future) ที่โรงเรียนมัธยมปลายสาธิตมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ไทเป มีนักเรียนมัธยมปลายทั่วประเทศกว่า 200 คน เข้าร่วม ศิษย์รุ่นเยาว์เหล่านี้ต่างก็ได้สอบถามอาจารย์ฮานเซนเกี่ยวกับคตินิยมกับปัญหาเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงานและการพัฒนานิวเคลียร์ของไต้หวัน

 

เงินรางวัลถังไพรส์ สร้างคุณประโยชน์อย่างกว้างขวาง

รางวัลถังไพรส์แต่ละรายการมีเงินรางวัล 50 ล้านเหรียญไต้หวัน ในจำนวนนี้ 10 ล้านเหรียญ จะถูกนำไปใช้ในการสนับสนุนงานวิจัย วัตถุประสงค์ในการใช้เงินจำนวนนี้ทำให้กลายเป็น “รางวัลย่อย” ภายใต้รางวัลถังไพรส์ ในขณะเดียวกันยังเป็นการชดเชยแทนรางวัลที่มีชื่อเสียงระดับโลกอื่นๆ อีกมากมาย ที่มอบรางวัลให้แก่บุคคลที่ประสบความสำเร็จแต่กลับละเลยที่จะสนับสนุนให้กำลังใจนักวิชาการรุ่นใหม่ ตัวอย่างเช่น ในปี 2014 คุณอวี๋อิงสือ (余英時) เจ้าของรางวัลถังไพรส์ครั้งที่ 1 สาขาจีนศึกษา ใช้เงินรางวัลนี้ในการจัดตั้ง “ทุนวิจัยมนุษยศาสตร์อวี๋อิงสือ” โดยมอบทุนสนับสนุนเป็นระยะเวลา 5 ปี แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ที่ทำวิจัยด้านจีนศึกษาและมนุษยศาสตร์ในการเขียนหนังสือหรือวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก

ภาพจาก มูลนิธิถังไพรส(2)ภาพจาก มูลนิธิถังไพรส

คุณโกร ฮาร์เลม บรันด์แลนด์ (Gro Harlem Brundtland) อดีตนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ เจ้าของรางวัลถังไพรส์ครั้งที่ 1 สาขาพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้บริจาคเงินจำนวน 5 ล้านเหรียญไต้หวัน ให้มิลจิส ทรัสต์ (Milgis Trust) องค์กรอนุรักษ์ในเคนยา สำหรับใช้ในภารกิจอนุรักษ์ช้าง และบริจาคเงินอีก 5 ล้านเหรียญไต้หวัน เพื่อจัดตั้ง “รางวัลโกร บรันด์แลนด์” โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเฉิงกงจัดกิจกรรม “สัปดาห์โกร บรันด์แลนด์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสตรี” (Gro Brundtland Week of Women in Sustainable Development) ตั้งแต่ปี 2016 เป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี โดยคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์หญิงจากประเทศกำลังพัฒนา ให้เดินทางเยือนไต้หวันและตระเวนเข้าร่วมการบรรยาย เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์จากประเทศกำลังพัฒนาได้รับรู้ถึงพลังและประสบการณ์ของไต้หวัน ทำให้เกิดการเชื่อมสัมพันธ์ในระดับนานาชาติ

คุณโยชิโนบุ ชิบะ ปัจจุบันเป็นผอ.หอสมุดตะวันออก โตโย บุนโกะ (Toyo Bunko) ในกรุงโตเกียว มีความเชี่ยวชาญในการสืบเสาะข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง เขาเผยว่า มีแผนที่จะใช้เงินรางวัลทุนวิจัย 5 ล้านเหรียญไต้หวันของถังไพรส์ ส่วนหนึ่งนำไปบริจาคให้หอสมุดตะวันออก โตโย บุนโกะของญี่ปุ่น จัดตั้งทุนการศึกษาเพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการวิจัยด้านจีนศึกษา โดยวิเคราะห์และจัดการกับเอกสารโบราณด้านสังคมศาสตร์จำนวน 24,000 ฉบับ และข้อมูลที่เป็นแผ่นในสภาพไม่สมบูรณ์ที่มูลนิธิมอร์ริสัน (Morrison) มอบให้ ส่วนเงินรางวัลอีกก้อนหนึ่งจะใช้ในการรวบรวมจัดทำพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์คำศัพท์ทางสังคมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์

ชื่อของรางวัลถังไพรส์ คำว่า “ถัง” ก็เหมือนกับงานวิจัยเรื่องความเจริญรุ่งเรืองยุคราชวงศ์ถังและซ่งของคุณโยชิโนบุ ชิบะ ซึ่งหวังว่าจะนำพาจิตวิญญาณแห่งราชวงศ์ถังอันรุ่งโรจน์ ผ่านการเปลี่ยนแปลงจากโบราณสู่ปัจจุบัน ด้วยอิทธิพลและคุณูปการของผู้ได้รับรางวัล จะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ระหว่างตะวันออกกับตะวันตก นอกจากนี้ เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของการพัฒนาสังคมในปัจจุบัน การขับเคลื่อนด้วยมุมมองและแนวคิดใหม่ๆ จะทำให้ทั่วโลกอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองและพัฒนาอย่างยั่งยืน