ปธน.ไช่อิงเหวิน (ที่ 5 จากขวา) เข้าร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด “การประชุมสมัชชาใหญ่ของสมาคมสตรีภาคพื้นแปซิฟิกและเอเซียอาคเนย์ (PPSEAWA) ครั้งที่ 27” โดยแถลงว่าในฐานะที่ตนเป็นประธานาธิบดีหญิง จึงให้ความสำคัญกับการผลักดันสิทธิสตรีทั้งในและต่างประเทศ และมองว่านี่เป็นภารกิจที่สำคัญของประชาคมโลก สำนักข่าว CNA วันที่ 23 มิ.ย. 62
สำนักข่าว CNA วันที่ 23 มิ.ย. 62
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 23 มิ.ย. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด “การประชุมสมัชชาใหญ่ของสมาคมสตรีภาคพื้นแปซิฟิกและเอเซียอาคเนย์ (PPSEAWA) ครั้งที่ 27” โดยหวังว่าจะร่วมกับสมาคมฯ เพื่อผนึกกำลังระหว่างไต้หวันและนานาประเทศ ในการยกระดับการให้ความสำคัญต่อสถานะของสตรีทั่วโลก และนำมาซึ่งพัฒนาการที่ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
ปธน.ไช่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า สมาคม PPSEAWA มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่า 90 ปี และมีกำหนดจัดการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ขึ้นทุกๆ 3 ปี ซึ่งถือเป็นการประชุมที่พี่น้องสตรีในสมาคม PPSEAWA ต่างให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยในปีนี้จัดขึ้นที่ไต้หวันเป็นครั้งแรก จึงทำให้การประชุมในครั้งนี้มีความหมายเป็นพิเศษ โดยในวันแรกของการประชุม (วันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา) มีแขกผู้มีเกียรติจาก 20 ประเทศสมาชิก เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันและประเทศสมาชิกส่วนมากใน PPSEAWA ต่างก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” การประชุมใหญ่ครั้งนี้ จึงได้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Life’s Journey to Wellbeing ต้อนรับผู้สูงวัยเข้าสู่ชีวิตแสนสุข” โดยในกำหนดการของการประชุม ได้มีตัวแทนของประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การรับมือกับความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุในแต่ละประเทศด้วย
ปธน.ไช่ฯ ยังชี้ว่า ทุกคนต่างต้องเผชิญกับความแก่ชรา ดังนั้นเราต้องส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่ดีที่สุด ในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาคุ้นเคย นี่คือแนวคิดสำคัญในการผลักดัน “โครงการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ2.0” ที่ไต้หวันพยายามผลักดันมาโดยตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ปธน.ไช่ฯ ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นสำคัญซึ่งที่ประชุมในปีนี้ให้ความสนใจคือ บทบาทผู้หญิงในสังคมผู้สูงอายุ ภายใต้บริบทแวดล้อมที่ขาดแคลนแรงงาน ซึ่งรัฐบาลได้พยายามยกระดับอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้หญิงให้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้ผู้หญิงกล้าที่จะทำตามความฝันของตนเอง ซึ่งในไต้หวัน นอกจากจะมีความยืดหยุ่นด้านเวลาการทำงาน เพื่อให้พนักงานผู้หญิงสามารถทำได้ทั้งการทำงานและดูแลครอบครัวไปพร้อมกันแล้ว เรายังส่งเสริมให้เจ้าของกิจการดำเนินการว่าจ้าง “สตรีที่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานรอบที่ 2” ด้วย
ปธน.ไช่ฯ เห็นว่า ในฐานะที่ตนเป็นประธานาธิบดีหญิงคนหนึ่ง จึงถือว่าการผลักดันบทบาทของสิทธิสตรีทั้งในและต่างประเทศเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุด ดังนั้นในช่วงหลายปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วม “การประชุมผู้นำหญิงแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก” ซึ่งจัดขึ้นที่สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ หรือโครงการความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ในด้านการให้ความสำคัญกับสิทธิสตรีในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกมากขึ้น ต่างก็เป็นบทพิสูจน์ว่า ไต้หวันสามารถอุทิศคุณูปการมากมายต่อสิทธิสตรีในประชาคมโลกได้