ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
3 เจ้าของรางวัลวัฒนธรรมไต้หวัน – ฝรั่งเศส พบจุดพลิกผันของชีวิตจากการแลกเปลี่ยนระหว่างสองประเทศ
2019-07-02

รางวัลวัฒนธรรมไต้หวัน - ฝรั่งเศสครั้งที่ 23 มอบให้กับ Ms. Josiane Cauquelin (ที่ 3จากขวาแถวหน้า) ผู้วิจัยวัฒนธรรมชนเผ่าพูยูม่าไต้หวัน เมี่ยวหย่งหัว (ที่ 1 จากซ้ายแถวหน้า) ผู้ดำเนินรายการภาคภาษาฝรั่งเศส สถานีวิทยุ Rti แนะนำความงามของพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ และ Mr. Lukas Hemleb (คนกลางแถวหลัง) ผู้กำกับละครเวทีชาวเยอรมัน สำนักข่าว CNA วันที่ 2 ก.ค. 62

รางวัลวัฒนธรรมไต้หวัน - ฝรั่งเศสครั้งที่ 23 มอบให้กับ Ms. Josiane Cauquelin (ที่ 3จากขวาแถวหน้า) ผู้วิจัยวัฒนธรรมชนเผ่าพูยูม่าไต้หวัน เมี่ยวหย่งหัว (ที่ 1 จากซ้ายแถวหน้า) ผู้ดำเนินรายการภาคภาษาฝรั่งเศส สถานีวิทยุ Rti แนะนำความงามของพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ และ Mr. Lukas Hemleb (คนกลางแถวหลัง) ผู้กำกับละครเวทีชาวเยอรมัน สำนักข่าว CNA วันที่ 2 ก.ค. 62

สำนักข่าว CNA วันที่ 1 ก.ค. 62

 

รางวัลวัฒนธรรมไต้หวัน - ฝรั่งเศส (The Taiwan-France Cultural Award) ครั้งที่ 23 ซึ่งทำพิธีมอบรางวัลให้กับศิลปินในวงการศิลปะและวัฒนธรรม 3 คน เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ในฐานะที่ได้สร้างคุณูปการใหญ่หลวงในด้านต่างๆ อาทิ การศึกษาวิจัยภาษาและวัฒนธรรมชนเผ่าพูยูม่า (Puyuma) หนึ่งในกลุ่มชนพื้นเมืองของไต้หวัน การแปลวรรณกรรมฝรั่งเศสเป็นภาษาจีน และแนะนำพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ (National Palace Museum) เป็นภาษาฝรั่งเศสเพื่อถ่ายทอดให้ชาวฝรั่งเศสเข้าใจ และใช้การแสดงละครเวทีมากระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างทั้งสองประเทศ เป็นต้น


 

รางวัลวัฒนธรรมไต้หวัน – ฝรั่งเศส ได้ริเริ่มจัดตั้งขึ้นในปี 1996 ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของกระทรวงวัฒนธรรมสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อว่าคณะกรรมการวัฒนธรรม สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กับสถาบันธรรมศาสตร์และการเมือง (Académie des Sciences Morales et Politiques, ASMP) แห่ง Institut de France ของฝรั่งเศส โดยเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 1 ก.ค. ได้มีการจัดพิธีมอบรางวัลขึ้นที่กรุงปารีส นายเซียงจงหวง รมช.วัฒนธรรม และ Mr. Jean – Robert Pitte เลขาธิการกิตติมศักดิ์ ASMP เข้าร่วมเป็นประธานในพิธีดังกล่าว


 

ผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งหมด 3 คนในปีนี้ ได้แก่ Ms. Josiane Cauquelin นักวิจัยกิตติมศักดิ์ศูนย์อาเซียนศึกษา แห่งศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (Centre National de la Researche Scientifique, CNRS) เมี่ยวหย่งหัว ผู้ผลิตและผู้ดำเนินรายการ “L’Heure des musées” ภาคภาษาฝรั่งเศส สถานีวิทยุเรดิโอไต้หวันอินเตอร์เนชันแนล (Rti) และ Mr. Lukas Hemleb ผู้กำกับละครเวทีชาวเยอรมัน


 

Ms. Josiane Cauquelin เปรียบไต้หวันเสมือนเป็น “บ้านหลังที่ 2” เธอจบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาภาษาจีนเมื่อปี 1977 และได้เดินทางมาศึกษาต่อยังไต้หวัน ช่วงระยะเวลาที่ศึกษาในไต้หวัน เธอได้เลือกทำการวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มชนพื้นเมืองชนเผ่าพูยูม่าในหมู่บ้าน Sakuban ที่ตั้งอยู่ในเมืองไถตง ด้วยเหตุนี้ เธอจึงได้กลับไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านมานุษยวิทยาที่ฝรั่งเศส หลังจบการศึกษาในสาขาดังกล่าว เธอได้กลับมาเยือนไต้หวันอีกครั้งในปี 1983 นับจากนั้นเป็นต้นมา เธอได้วางแผนกลับไปเยี่ยมหมู่บ้าน Sakubanเพื่อเก็บข้อมูลภาคสนามเป็นประจำทุกปี ขณะเดียวกันได้เรียนรู้ภาษาพูยูม่าไปด้วย


 

Ms. Josiane Cauquelin เข้าไปคลุกคลีกับชนเผ่าพูยูม่าและหมู่บ้าน Sakuban อย่างใกล้ชิด จนได้รับการยินยอมให้สามารถบันทึกภาพงานฉลองเทศกาลประจำปีของชนเผ่า ศึกษาวิจัยบทสวดอธิษฐาน อีกทั้งยังได้บันทึกภาพเทศกาลล่าสัตว์ครั้งใหญ่ ที่แต่เดิมห้ามผู้หญิงมีส่วนร่วม นับเป็นข้อมูลล้ำค่าที่ได้มาอย่างยากลำบาก ช่วงหลายปีมานี้ เธอได้มุ่งมั่นในการแปลตำนานเรื่องเล่าของชนเผ่าพูยูม่าและวิเคราะห์หลักไวยากรณ์ภาษาพูยูม่า ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ ในอนาคตจะจัดให้เป็นหนังสืออ้างอิงสาขาภาษาศาสตร์ ที่ถูกเก็บรวบรวมไว้ในสถาบันวิจัยแห่งชาติไต้หวัน (Academia Sinica) ต่อไป


 

Ms. Josiane Cauquelin กล่าวว่า เธอต้องการแบ่งปันรางวัลวัฒนธรรมไต้หวัน – ฝรั่งเศสนี้ ให้กับชนเผ่าพูยูม่า และขอขอบคุณ Mr. Gérard Montastier ผู้เป็นสามีที่คอยให้การสนับสนุนมาโดยตลอด โดยทั้งสองได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน จนในปัจจุบันทั้งคู่สามารถพูดภาษาพูยูม่าได้ นอกจากนี้เธอยังได้กล่าวขอบคุณไต้หวัน ผ่านทางนายเซียวจงหวงและนายอู๋จื้อจง ผู้แทนไต้หวันประจำฝรั่งเศส โดยระบุว่า “ประเทศของคุณยอมรับฉัน ทำให้ฉันสามารถทำการวิจัย ณ ที่นั่นได้อย่างเสรี”


 

เมี่ยวหย่งหัวประกอบอาชีพเป็นนักแปลภาษาจีน อังกฤษ และฝรั่งเศส มาเป็นระยะเวลานาน ในปี 2011 ได้เข้าเป็นอาสาสมัครล่ามภาษาต่างประเทศประจำพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติหรือกู้กงของไต้หวัน ในปีถัดมาได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “4 อาชีพหลักของชาวไต้หวัน” ภาคภาษาฝรั่งเศส สถานีวิทยุเรดิโอไต้หวันอินเตอร์เนชันแนล (Rti) โดยแนะนำประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ และต่อมาได้จัดรายการใหม่ให้สถานีวิทยุ Rti ในชื่อ “L’Heure des musées”


 

เมี่ยวหย่งหัวกล่าวว่า หลังจากที่ได้รับรางวัล ยิ่งรู้สึกมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้น ในอนาคตจะดำเนินการภายใต้พื้นฐานเดิมที่มีอยู่ในเชิงลึก โดยจะแปลนวนิยายร่วมสมัยและวรรณกรรมคลาสสิกของฝรั่งเศสต่อไป พร้อมนี้ยังจะใช้รายการวิทยุมาช่วยให้ผู้ฟังสามารถชื่นชม และทำความเข้าใจกับความงามของศิลปะไต้หวันได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น


 

Mr. Lukas Hemleb มีโอกาสรู้จักกับไต้หวันเป็นครั้งแรก เพราะการแสดงดนตรีจีนฮกเกี้ยน (Nanguan music) ซึ่งในขณะนั้นเขารับหน้าที่เป็นผู้กำกับละครเวที เนื่องจากต้องร่วมมือกับกลุ่มคณะการแสดงศิลปะโบราณ เขาจึงได้เริ่มศึกษาวัฒนธรรมโบราณ ต่อมาได้ร่วมมือกับคณะการแสดง Han Tang Yue Fu และหวังซินซิน นักดนตรีจีนฮกเกี้ยน


 

Mr. Lukas Hemleb คิดว่าการที่ตนได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับไต้หวัน เปรียบเสมือนจุดพลิกผันหนึ่งของชีวิต ไต้หวันอาจจะไม่ได้งดงามราวกับที่เห็นแวบแรกในภาพโปสการ์ด แต่เบื้องหลังฉากที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น มีแดนสวรรค์ซ่อนเร้นอยู่