ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ผลสัมฤทธิ์จากการผลักดันนโยบายมุ่งใต้ใหม่ปรากฎชัดขึ้น คกก.การเกษตรไต้หวัน มุ่งขยายตลาดส่งออกอย่างต่อเนื่อง
2019-08-01

ผลสัมฤทธิ์จากการผลักดันนโยบายมุ่งใต้ใหม่ปรากฎชัดขึ้น คกก.การเกษตรไต้หวัน มุ่งขยายตลาดส่งออกอย่างต่อเนื่อง (ภาพจาก MOFA)

ผลสัมฤทธิ์จากการผลักดันนโยบายมุ่งใต้ใหม่ปรากฎชัดขึ้น คกก.การเกษตรไต้หวัน มุ่งขยายตลาดส่งออกอย่างต่อเนื่อง (ภาพจาก MOFA)

คณะกรรมการการเกษตรสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) วันที่ 30 ก.ค. 62

 

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. คณะกรรมการการเกษตรสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า คณะกรรมการการเกษตรได้ผลักดันโครงการนโยบายมุ่งใต้ใหม่ มาเป็นเวลา 3 ปีกว่า นอกจากการส่งออกสินค้าทางการเกษตรแล้ว ยังได้ตั้งมั่นในหลักการ “แลกเปลี่ยนระหว่างกัน ความร่วมมือที่หลากหลาย สร้างรูปแบบความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน” ในการผลักดันภารกิจต่างๆ อย่างกระตือรือร้น ซึ่งทยอยปรากฎให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์แล้ว


 

คณะกรรมการการเกษตรไต้หวันแถลงว่า ผลสัมฤทธิ์สำคัญที่เกิดจากโครงการนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ประกอบด้วย (1) กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เชี่ยวชาญทางการเกษตรระหว่างกัน โดยในทุกปีเจ้าหน้าที่การเกษตรที่ประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนระหว่างกัน มีจำนวนสูงถึง 500 คนครั้ง ผู้ที่เดินทางมาเข้ารับการศึกษาที่ไต้หวัน หรือเข้าร่วมหลักสูตรการฝึกอบรม มีจำนวนกว่า 250 คน (2) สร้างโกดังกลางในการเก็บถนอมธัญญาหาร ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 แห่งในประเทศอินโดนีเซีย โดยมีขนาดพื้นที่รวมกว่า 100 เฮกตาร์ (3)ร่วมสร้างสถานีทดลองการเกษตรกับกลุ่มประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ อาทิ “สถานีทดลองเกษตรแบบผสมผสานในเมืองการาวัง” ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – อินโดนีเซีย “ฟาร์มสาธิตการเพาะเห็ดแชมปิญอง” ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – ฟิลิปปินส์ “ศูนย์สาธิตการขยายพันธุ์ข้าวและไม้ผล” ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – เวียดนาม (4) ส่งเสริมผู้ประกอบการไต้หวัน วางยุทธศาสตร์การลงทุนในประเทศนโยบายมุ่งใต้ใหม่ โดยได้ให้คำชี้แนะกับบริษัท TECHS ในการสร้างระบบแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อส่งออกไปมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยมีมูลค่าการส่งออกกว่า 80 ล้านเหรียญไต้หวัน


 

คณะกรรมการการเกษตรฯ ชี้แจงว่า สินค้าภาคการเกษตรที่ส่งออกยังประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ประกอบด้วย 4 ประเภทหลัก อันได้แก่ สินค้าภาคการเกษตร ภาคป่าไม้ ภาคประมงและภาคปศุสัตว์ รวมถึงวัสดุทางการเกษตร มูลค่าการส่งออกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีดังต่อไปนี้ ปี 2014 ยอดมูลค่าการส่งออกรวม1,759 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2015 ยอดมูลค่าการส่งออกรวม 1,470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2016 ยอดมูลค่าการส่งออกรวม 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2017 ยอดมูลค่าการส่งออกรวม 1,473 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี2018 ยอดมูลค่าการส่งออกรวม 1,619 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ผ่านมา ได้มีการผลักดันนโยบายมุ่งใต้ใหม่ มูลค่าการส่งออกภาคการเกษตรที่ติดลบร้อยละ 4.8 ในปี 2016 เริ่มพลิกกลับมาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2017 เติบโตขึ้นร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และในปี 2018 เติบโตขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 9.9 โดยประเภทสินค้าส่งออกที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในปี 2018 ได้แก่ เครื่องจักรกลการเกษตร สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ทางการเกษตร กล้วยไม้พันธุ์ฟาแลนนอปซิส (Phalaenopsis) ใบชา ส้มพงกาน และผลไม้ตระกูลส้มประเภทอื่นๆ ซึ่งสินค้าประเภทดังกล่าวข้างต้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วเติบโตขึ้นร้อยละ 22, 22.6, 25, 51และ 74 ตามลำดับ


 

คณะกรรมการการเกษตรฯ เผยว่า การขยายตลาดในต่างประเทศ ไม่สามารถทำได้ภายในเวลาอันสั้น เมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันกับทั่วโลก การส่งออกสินค้าทางการเกษตรของไต้หวันก็ยิ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างภาครัฐและเอกชน จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ คณะกรรมการการเกษตรฯ จะจัดเวทีการส่งเสริมการค้าทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง พิชิตอุปสรรคทางการค้า และขยายฐานธุรกิจไปยังทั่วโลกและประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่