ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
พลิกโฉมอุตสาหกรรมหัตถศิลป์ไต้หวัน เริ่มจากโรงเรียนศิลปะและหัตถกรรม
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2019-08-12

กระแสความนิยมงานหัตถศิลป์ ที่เน้นเรื่องการทำด้วยมือเริ่มมีมากขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการเปิดให้เรียนรู้และทดลองลงมือทำงานหัตถศิลป์ด้วยตนเองที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ การสร้างนวัตกรรมใหม่ และการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมหัตถศิลป์ดั้งเดิม เป็นต้น

กระแสความนิยมงานหัตถศิลป์ ที่เน้นเรื่องการทำด้วยมือเริ่มมีมากขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการเปิดให้เรียนรู้และทดลองลงมือทำงานหัตถศิลป์ด้วยตนเองที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ การสร้างนวัตกรรมใหม่ และการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมหัตถศิลป์ดั้งเดิม เป็นต้น

 

ในหนังสือชื่อ Formosa Industrial Art ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1952 คุณเหยียนสุ่ยหลง (顏水龍) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งงานหัตถศิลป์ไต้หวัน” ได้กล่าวถึงการนำความงดงามของวัสดุในท้องถิ่นไต้หวันมาออกแบบและสร้างสรรค์ เป็นงานหัตถศิลป์ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน นอกจากสามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้แล้ว ยังช่วยสืบสานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิม เพิ่มความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสร้างประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ผ่านการผสมผสานกันของศิลปะการออกแบบและความชำนาญด้านศิลปหัตถกรรมของไต้หวันเองอีกด้วย

 

แนวคิดเรื่อง “การออกแบบงานหัตถศิลป์” ที่เสนอโดยคุณเหยียนสุ่ยหลง ปรากฏให้เห็นจากกระแสนิยมงานหัตถศิลป์ที่เน้นเรื่องการทำด้วยมือซึ่งเริ่มมีมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาทิ การเปิดคอร์สเรียนรู้โดยลงมือทำงานหัตถศิลป์ด้วยตนเองที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมใหม่และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมหัตถศิลป์ เป็นต้น โดยทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้  มีจุดเริ่มต้นจากการก่อตั้งโรงเรียนศิลปะและหัตถกรรมไต้หวัน

คุณเฉินหมิงฮุย (陳明輝) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศิลปะและหัตถกรรมไต้หวัน (Taiwan School of Arts & Crafts) กล่าวว่า “ในยุคของคุณเหยียนสุ่ยหลง งานหัตถศิลป์เป็นพลังที่สามารถค้ำจุนเศรษฐกิจของหมู่บ้านเกษตรกรรมให้มั่นคง แต่ในยุคปัจจุบันหากใช้ศัพท์สมัยใหม่ต้องบอกว่า การฟื้นฟูงานศิลปหัตถกรรมก็คือการสร้างชีวิตใหม่ให้แก่ท้องถิ่นนั่นเอง” คุณเฉินหมิงฮุยเปิดประเด็นในทันทีว่า คุณเหยียนสุ่ยหลงมุ่งมั่นที่จะผลักดันการศึกษาด้านศิลปหัตถกรรมไต้หวันสุดกำลังความสามารถ เช่นเดียวกับปณิธานอันแน่วแน่ที่จะก่อตั้งโรงเรียนศิลปะและหัตถกรรมให้สำเร็จ “หวังว่างานหัตถศิลป์ของไต้หวันจะไม่เป็นเพียงแค่ผลงานศิลปะที่นำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น หากแต่มีความงดงามและเปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรม อีกทั้งถูกนำกลับมาใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยผ่านการออกแบบที่ทันสมัย ขณะเดียวกันยังช่วยสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้กลายเป็นโมเดลการสร้างชีวิตให้แก่ท้องถิ่นควบคู่กันไปด้วย”

ไล่เกาซานคุณปู่ของไล่ซิ่นโย่ว ใช้กรรมวิธี bodiless lacquer ในการสร้างสรรค์ผลงานเครื่องเขินที่เป็นรูปเรือแคนูของชนพื้นเมืองไต้หวัน เต็มเปี่ยมไปด้วยบริบทของไต้หวัน

ไล่เกาซานคุณปู่ของไล่ซิ่นโย่ว ใช้กรรมวิธี bodiless lacquer ในการสร้างสรรค์ผลงานเครื่องเขินที่เป็นรูปเรือแคนูของชนพื้นเมืองไต้หวัน เต็มเปี่ยมไปด้วยบริบทของไต้หวัน

 

ก่อตั้งโรงเรียนศิลปะและหัตถกรรมไต้หวัน

คุณเฉินหมิงฮุย ซึ่งไว้หนวดเครายาวเฟิ้ม เล่าถึงที่มาของการก่อตั้งโรงเรียนศิลปะและหัตถกรรมว่าเกิดจากความล้มเหลวของหน่วยงานภาครัฐ

จากภูมิหลังที่เคยทำงานในกองทุนศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ (National Culture and Arts Foundation) โดยทำหน้าที่แนะแนวงานด้านศิลปหัตถกรรมในชุมชนและหมู่บ้านชนเผ่าพื้นเมือง เขาพบว่า อุตสาหกรรมรับจ้างผลิตงานไม้ของไต้หวันมีศักยภาพแข็งแกร่ง เคยเป็น 1 ใน 3 อันดับประเทศที่รับจ้างผลิตงานไม้รายใหญ่ของโลก แต่นักออกแบบที่เป็นหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่สามารถผลิตผลงานได้ระดับมาตรฐานเดียวกันกับสหภาพยุโรปต้องเผชิญกับอุปสรรคในการดำเนินกิจการ เนื่องจากไม่มีช่องทางการจัดจำหน่าย

นักเรียนกำลังตั้งใจฟังและดูการสาธิตวิธีปักในห้องเรียนวิชางานปักแบบดั้งเดิมของโรงเรียน Tainan’s Guangcai Embroidered Craft (ภาพจาก โรงเรียนศิลปะและหัตถกรรมไต้หวัน)

นักเรียนกำลังตั้งใจฟังและดูการสาธิตวิธีปักในห้องเรียนวิชางานปักแบบดั้งเดิมของโรงเรียน Tainan’s Guangcai Embroidered Craft (ภาพจาก โรงเรียนศิลปะและหัตถกรรมไต้หวัน)

คุณเฉินหมิงฮุยโดดลงมาช่วยเหลือนักออกแบบงานหัตถศิลป์รุ่นใหม่ หาช่องทางจัดจำหน่ายผลงาน โดยได้เปิดร้านจำหน่ายสินค้าหัตถศิลป์ชื่อ “Liv’in Riverside” ในปีค.ศ.2008 ใช้รูปแบบและลักษณะการนำเสนอแบบเดียวกับในพิพิธภัณฑ์ในการแนะนำและจำหน่ายสินค้าหัตถศิลป์ไต้หวัน กล่าวได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของร้านแนว “concept stores” ก็ว่าได้ แต่หลังจากที่ลงไปสัมผัสกับตลาดสินค้าหัตถศิลป์แล้ว เขาต้องเผชิญกับปัญหาสองด้าน ซึ่งก็คือผู้บริโภคที่เป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไม่คุ้นชินกับสินค้าหัตถศิลป์ที่ทำจากไม้ไผ่หรือหวายซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติ และปัญหาด้านการผลิตที่เผชิญกับสภาวะการขาดแคลนช่างหัตถศิลป์อย่างรุนแรง

นอกจากนี้ ในส่วนของการดำเนินกิจการยังพบว่า การจะฟื้นฟูอุตสาหกรรมหัตถศิลป์ไต้หวัน นอกจากต้องหาช่องทางการจัดจำหน่ายแล้ว ยังต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทั้งระบบ ดังนั้น คุณเฉินหมิงฮุยจึงตัดสินใจก่อตั้งโรงเรียนศิลปะและหัตถกรรมไต้หวัน เขาให้เหตุผลว่า “การแก้ไขปัญหาเรื่องช่างฝีมือต้องเริ่มจากการศึกษา”

พลังและแนวคิดที่สั่งสมมานานถึง 10  ปี ถูกนำมาใช้ในการก่อตั้งโรงเรียน โดยเริ่มจากการร่วมมือกับมหกรรม Pop Up Asia และแบรนด์สินค้าหัตถศิลป์กว่า 29 แบรนด์ เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนงานหัตถศิลป์พร้อมกัน 50 คอร์ส ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการไต้หวันยังขานรับความต้องการเรียนรู้วิชาศิลปหัตถกรรมที่เน้นการทำด้วยมือ ด้วยการรื้อฟื้นวิชานี้ให้เป็นหนึ่งในหลักสูตรการศึกษาใหม่ของปีการศึกษา 2019 อีกด้วย

Sanhe Wood Art นำวิธีทำโต๊ะหมู่บูชาเทพเจ้ามาประยุกต์ใช้ในการทำฐานล่างของโต๊ะไม้ ทำให้มีความมั่นคงแข็งแรงเพิ่มขึ้น

Sanhe Wood Art นำวิธีทำโต๊ะหมู่บูชาเทพเจ้ามาประยุกต์ใช้ในการทำฐานล่างของโต๊ะไม้ ทำให้มีความมั่นคงแข็งแรงเพิ่มขึ้น

 

พลิกภาพลักษณ์วิชาศิลปหัตถกรรม

กระทรวงศึกษาธิการไต้หวันวางแผนรื้อฟื้นรายวิชาศิลปหัตถกรรมที่ถูกนำออกจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 9 ปี โดยนำกลับมาบรรจุในหลักสูตรอีกครั้ง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2019 และจัดกลุ่มวิชาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ออกเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วยกลุ่มวิชาสารสนเทศและกลุ่มวิชาเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน โดยจัดให้วิชาศิลปหัตถกรรมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มวิชาเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ที่มีชั่วโมงเรียนในวิชาดังกล่าวโดยเฉพาะและเน้นย้ำเรื่องการทำด้วยมือ นับว่าเป็นการปลูกฝังและบ่มเพาะความรู้ความสามารถในด้านศิลปหัตถกรรมให้แก่นักเรียน

เขตต้าซี นครเถาหยวน ซึ่งได้รับการขนานนามว่า เป็นแหล่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้และโต๊ะหมู่บูชาเทพเจ้า ได้มีการจัดตั้งนิเวศพิพิธภัณฑ์ศิลปะงานไม้ต้าซี (Daxi Wood Art Ecomuseum) โดยโรงเรียนศิลปะและหัตถกรรมไต้หวันช่วยเหลือในด้านการฝึกอบรมครูช่าง การออกแบบรายวิชา และผลักดันหลักสูตรงานไม้ที่เหมาะสมกับเด็กอีกด้วย

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า จะให้เด็กนักเรียนหยิบเลื่อยขึ้นมา แล้วลงมือทำงานไม้ได้อย่างไร?

คุณเฉินหมิงฮุย ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศิลปะและหัตถกรรมไต้หวัน หวังว่างานหัตถศิลป์ที่เปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรมและความงดงามจะถูกนำกลับมาใช้ในชีวิตประจำวันอีกครั้ง

คุณเฉินหมิงฮุย ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศิลปะและหัตถกรรมไต้หวัน หวังว่างานหัตถศิลป์ที่เปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรมและความงดงามจะถูกนำกลับมาใช้ในชีวิตประจำวันอีกครั้ง

โรงเรียนศิลปะและหัตถกรรมไต้หวันได้เชิญคุณ Stephan Johannes Elbracht ซึ่งเป็นครูสอนวิชางานไม้ ในชั้นเรียนเกรด 5-12 ของโรงเรียน Waldorf ประเทศเยอรมนี ผู้มีประสบการณ์ด้านการสอนวิชางานไม้มานานถึง 30 ปี เดินทางมาไต้หวันเพื่อฝึกอบรมครูช่างศิลปหัตถกรรมประเภทงานไม้ เขาเริ่มต้นการฝึกอบรมในครั้งนั้น ด้วยการใช้ขวานผ่าท่อนไม้ออกเป็นชิ้นๆ  นอกจากทำให้บรรดาครูช่างหัตถศิลป์ตกตะลึงไปตามๆ กันแล้ว ยังได้เปลี่ยนแปลงความคิดที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชางานไม้ของครูช่างทุกคนด้วย

ในห้องที่อบอวลไปด้วยกลิ่นของไม้ที่นำมาใช้เป็นวัสดุ การเรียนการสอนวิชาศิลปหัตถกรรมของคุณ Elbracht ทำให้นักเรียนที่ไม่เคยสัมผัสกับกลิ่นและเนื้อไม้มาก่อน ได้รู้ซึ้งถึงคุณค่าของงานหัตถศิลป์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ จากนั้นสอนให้เด็กเรียนรู้ถึงท่วงทำนองและแกนหลักของลวดลายที่สะท้อนถึงต้นกำเนิดของผลงาน โดยผ่านขั้นตอนของการลงมือทำช้อนไม้เพียงหนึ่งคัน

“งานไม้เป็นวิชาหลักที่ได้รับความนิยมในประเทศเยอรมนี ต่างจากในไต้หวันที่เป็นเพียงวิชารอง เพื่อให้เด็กนักเรียนได้พักสมองหรือถูกยืมเวลานำไปใช้เรียนวิชาทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์”  คุณหนีหมิงเซียง (倪鳴香) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ (National Chengchi University : NCCU) ชี้ว่า “การวางแผนการเรียนการสอนวิชางานไม้ไม่ได้เน้นหนักที่การสอนทักษะเท่านั้น แต่ต้องการให้วัฒนธรรมงานไม้และและวัฒนธรรมการทำด้วยมือ กลับคืนสู่สังคมไต้หวัน ส่วนสำคัญไม่ได้อยู่ที่สมอง แต่อยู่ที่การเชื่อมโยงระหว่างมือกับใจ”

แบบจำลองเตาเผา Sanhe Wood Art ขนาดจิ๋ว งานหัตถศิลป์ที่สร้างสรรค์จากก้อนอิฐ

แบบจำลองเตาเผา Sanhe Wood Art ขนาดจิ๋ว งานหัตถศิลป์ที่สร้างสรรค์จากก้อนอิฐ

 

ชีวิตคือการออกแบบ

กระนั้นก็ตาม ศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมแขนงต่างๆ ในไต้หวันที่เสื่อมหายไปตามกาลเวลา ราวกับจะบอกเล่าเรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน ครูช่างรุ่นเก่าที่ทยอยร่วงโรยไปตามกาลเวลา  สินค้าหัตถศิลป์ที่ไม่เหมาะกับความต้องการของยุคสมัย เป็นแนวโน้มที่ดูเหมือนว่า ยากที่จะพลิกฟื้นกลับคืนมา แต่หากใช้วิธีส่งเสริมแนวคิดใหม่มาออกแบบสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ จะสามารถแก้ไขได้หรือไม่?

ในความเป็นจริงแล้ว อุตสาหกรรมศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมของไต้หวันพยายามสร้างสรรค์นวัตกรรมและออกแบบใหม่ หาทางสื่อสารและเชื่อมต่อกับผู้บริโภครุ่นใหม่ ตลอดจนสร้างแบรนด์และภาพลักษณ์ใหม่ขึ้นมา และคุณไล่ซิ่นโย่ว (賴信佑) ซึ่งเข้ามารับสืบทอดกิจการผลิตเครื่องเขิน ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง

คุณไล่ซิ่นโย่วเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของร้าน Kou san Craft ซึ่งเป็นกิจการเครื่องเขินของตระกูล คุณปู่ของเขาคือ ไล่เกาซาน (賴高山) เปิดร้านที่ถนนจื้อโหยว ในนครไทจง เพื่อสืบสานศิลปะการทำเครื่องเขินที่เคยร่ำเรียนมาจาก Tadasu Yamanaka ครูช่างชาวญี่ปุ่น และใช้วิธีเคลือบเงาแบบพันชั้น (thousand-layer) ในการทำอุปกรณ์ชงชา ถ้วยชาม และกล่องใส่บุหรี่ สำหรับมอบเป็นของขวัญ โดยส่งไปขายที่ญี่ปุ่น เงินที่หามาได้นำไปซื้อบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งก็คือพิพิธภัณฑ์ศิลปะไล่เกาซานในปัจจุบันนั่นเอง นอกจากนี้ ยังส่งบุตรชายคือคุณไล่จั้วหมิง (賴作明) ไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น ผู้ซึ่งกลายเป็นศิลปินที่รังสรรค์ผลงานเครื่องเขินจนมีชื่อเสียงโด่งดังในเวลาต่อมา

การเรียนวิธีเครื่องกลึงทำปากกาไม้ ทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถทำปากกาที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครด้วยตนเอง

การเรียนวิธีเครื่องกลึงทำปากกาไม้ ทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถทำปากกาที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครด้วยตนเอง

งานเครื่องเขินเป็นงานที่ต้องทุ่มเทเวลาและกำลังแรงกายอย่างหนัก จึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากผลิตภัณฑ์พลาสติกและสแตนเลสที่ถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก เฉกเช่นเดียวกับงานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมทั่วไป คุณไล่ซิ่นโย่วตัดสินใจเลือกเดินบนเส้นทางเดียวกันกับคุณปู่ เขากลับมาสืบทอดกิจการเครื่องเขินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เติมบริบทแห่งยุคสมัยผนวกกับการออกแบบด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาต่อ
ยอดเครื่องเขินเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ ตุ้มหู เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเช่นตะเกียบและถ้วยชาม เป็นต้น

คุณไล่ซิ่นโย่วกล่าวว่า “มีผู้คนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ไม่เคยซื้อเครื่องเขินเลย และเมื่อได้ยินคำว่า “ลงรักเคลือบเงา” ก็มักจะนึกถึงการทาด้วยสารเคมีที่เป็นงานตกแต่งภายใน” ด้วยเหตุนี้เอง เขาจึงต้องตระเวนไปตามตลาดนัดทั่วประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำให้ผู้บริโภคได้รู้จักเครื่องเขินด้วยตนเอง “ยางรักหรือแลคเกอร์ เป็นวัสดุธรรมชาติที่ได้จากน้ำยางของต้นรัก (Lacquer Tree) ตะเกียบที่ทาด้วยยางรักหลายพันครั้งจะขึ้นเงางดงาม ทนความร้อนได้ดี และล้างง่าย อีกทั้งไม่ขึ้นราง่ายเหมือนตะเกียบไม้ทั่วไป” ขณะเดียวกัน คุณไล่ซิ่นโย่วยังได้เปิดคอร์ส “เรียนรู้โดยลงมือทำเครื่องเขิน” เพื่อให้ผู้บริโภคได้สัมผัสกับคุณค่าและความงามของเครื่องเขิน ผ่านขั้นตอนที่ละเอียดและซับซ้อนในการลงมือทำเครื่องเขินด้วยตนเอง

ไล่ซิ่นโย่วสืบทอดกิจการผลิตเครื่องเขินของตระกูล เขาอาศัยการเปิดคอร์สเรียนรู้โดยลงมือทำด้วยตนเอง เพื่อประชาสัมพันธ์เครื่องเขินและจัดตั้งกลุ่มแฟนคลับ

ไล่ซิ่นโย่วสืบทอดกิจการผลิตเครื่องเขินของตระกูล เขาอาศัยการเปิดคอร์สเรียนรู้โดยลงมือทำด้วยตนเอง เพื่อประชาสัมพันธ์เครื่องเขินและจัดตั้งกลุ่มแฟนคลับ

 

ออกแบบงานหัตถศิลป์เพื่อสังคมโดยใช้ภูมิปัญญา

นอกจากร้าน Kou san Craft ของคุณไล่ซิ่นโย่วแล้ว ร้าน Sanhe Wood Art ที่มีประวัติเก่าแก่ยาวนานกว่า 50 ปี ก็ได้พยายามผลักดันการออกแบบงานไม้ให้เหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยให้นักเรียนได้สัมผัสกับคุณค่าของงานหัตถกรรมไม้ รับรู้ถึงแรงที่ต้องใช้ในการเจาะรู สอดเดือย และความหนาของเนื้อไม้ ผ่านประสบการณ์ลงมือทำด้วยตนเอง เพื่อผลิตเป็นม้านั่งที่มีลิ้นชัก โต๊ะวางคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ หรือกล่องใส่เครื่องประดับ เป็นต้น

คุณเฉินหมิงฮุยมองว่า อุตสาหกรรมศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมจำนวนมากปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่อุตสาหกรรมบริการบนฐานความรู้ การผลิตสินค้าไม่ได้เน้นที่มูลค่าของตัวสินค้าอีกต่อไป แต่เป็นการเชื่อมโยงไปสู่ทักษะความชำนาญและวัฒนธรรมพื้นบ้าน เขาเชื่อมั่นว่า การศึกษาจะช่วยให้งานหัตถศิลป์ไต้หวันมีอนาคตที่สดใส คุณเฉินหมิงฮุยกล่าวด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มว่า “ไม่แน่นะ อีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อเด็กๆ บอกกับพ่อแม่ว่า หนูอยากเป็นช่างไม้ พ่อแม่จะพูดว่า เยี่ยมมากเลยลูก” นี่คือบทสรุปของคุณเฉินหมิงฮุย ที่หวังแก้ปัญหาโดยเริ่มจากการศึกษาและสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “การออกแบบงานหัตถศิลป์” ที่คุณเหยียนสุ่ยหลงเน้นย้ำ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ได้ทุกยุคสมัย นั่นก็คือ ใช้ภูมิปัญญามาออกแบบงานหัตถศิลป์ เพื่อเสริมสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้แก่ชีวิตของเรานั่นเอง