ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การปฏิวัติเครื่องแต่งกายสุภาพบุรุษ ความคลาสสิกที่ไม่มีวันจางหาย
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2019-08-19

การวัดตัวและลองชุดถือเป็นขั้นตอนสำคัญของการตัดสูท

การวัดตัวและลองชุดถือเป็นขั้นตอนสำคัญของการตัดสูท

 

เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.2014 คุณสือหวงเจี๋ย (石煌鄫) ผู้จัดการแบรนด์ “เกาอู๋จี๋” (高梧集) ร้านตัดชุดสูทสำหรับสุภาพบุรุษชื่อดัง ได้ริเริ่มการจัดกิจกรรม Suit Walk ขึ้น โดยใช้ถนนหนทางของกรุงไทเปเป็นเหมือนแคตวอล์กสำหรับการเดินแฟชั่น ทำให้มีเหล่าบุรุษนับร้อยคนมาร่วมกันเดินขบวนไปตามท้องถนน ถือเป็นการเปลี่ยนภาพพจน์ในแบบเดิมๆ ที่ผู้คนทั่วไปมีต่อชุดสูทสำหรับผู้ชายไปอย่างสิ้นเชิง และในกิจกรรมที่จัดขึ้นในปี 2018 มีผู้ที่ชื่นชอบการใส่ชุดสูทมาเข้าร่วมมากกว่า 700 คน ชุดสูทจึงกลายเป็นเสมือนภาพทิวทัศน์ที่สั่งตัดเป็นพิเศษสำหรับฤดูใบไม้ผลิในไทเป

 

ในความรู้สึกของหลายๆ คน ชุดสูทอาจเป็นเพียงแฟชั่นเก่าแก่ แต่ก็เป็นความเก่าแก่ที่ไม่เคยล้าสมัย ในช่วงหลายปีหลังมา กระแสนิยมในการสวมใส่ชุดสูทเริ่มพัดหวนกลับมาอีกครั้ง ร้านตัดชุดสูทที่มีอยู่ทั่วไต้หวันจึงค่อยๆ กลับมากระตุ้นวัฒนธรรมในการสวมใส่ของแต่ละท้องถิ่นให้กลับมาอีกครั้ง

คุณเฉินโหรวจิ้น (陳柔縉) นักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ชื่อดังได้เล่าไว้ในหนังสือชื่อ “Taiwan’s First Experience with Western Culture” ที่ได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวในช่วงต้นของยุคปีค.ศ.1910 โดยมีพ่อค้าชาในแถบต้าเต้าเฉิงของกรุงไทเป (แถบถนนตี๋ฮั่วเจียของกรุงไทเปในปัจจุบัน) เป็นผู้นำในการเริ่มตัดผมและเปลี่ยนการแต่งตัว ทำให้ประสบการณ์ในการสวมใส่ชุดสูทชุดแรก เกิดขึ้นบนถนนสายนี้นี่เอง ในปี 2015 คุณฟ่านโหลวต๋า (范樓達) จึงได้เปิดร้านสูทข่ายเอิน (凱恩洋服) ขึ้นที่ต้าเต้าเฉิง ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดของชุดสูทในไต้หวัน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของชุดสูทในพื้นที่เก่าแก่ และดึงภาพแห่งความรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีตให้กลับคืนมาอีกครั้ง

ชุดสูทสั่งตัดจะเน้นความประณีตบรรจงของฝีมือตัดเย็บ ด้วยประสบการณ์ในการทำงานนานกว่า 40 ปี ทำให้อ.เจิ้งสามารถเย็บผ้าได้อย่างคล่องแคล่ว

ชุดสูทสั่งตัดจะเน้นความประณีตบรรจงของฝีมือตัดเย็บ ด้วยประสบการณ์ในการทำงานนานกว่า 40 ปี ทำให้อ.เจิ้งสามารถเย็บผ้าได้อย่างคล่องแคล่ว

 

ร้านเก่าแก่ปรับเปลี่ยนรูปโฉม เพื่อดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่

คุณฟ่านโหลวต๋า เดินทางจากเหมียวลี่มาไทเปตั้งแต่อายุ 16 ปี เพื่อไปเป็นลูกมือในร้านขายผ้า และได้ประกอบอาชีพค้าส่งผ้าผืนมา 38 ปีแล้ว จึงมีโอกาสได้เห็นความเฟื่องฟูของธุรกิจร้านตัดเสื้อที่เหล่าลูกค้าจะต้องเข้าคิวเพื่อรอการวัดตัว ทำให้การจำหน่ายผ้าผืนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และได้สัมผัสกับยุคสมัยที่ตลาดเสื้อผ้าสั่งตัดได้รับผลกระทบจากเสื้อผ้าสำเร็จรูปอย่างหนักจนซบเซาลงเรื่อยๆ แต่คุณฟ่านโหลวต๋ายังมีความเชื่อมั่นในธุรกิจนี้ จึงได้ตัดสินใจซื้อกิจการของร้านสูทข่ายเอิน ด้วยความมั่นใจว่าธุรกิจรับตัดเสื้อยังคงมีตลาดอยู่ ขอเพียงมีการบริหารกิจการที่ดี

การปรับเปลี่ยนรูปโฉมของธุรกิจแบบดั้งเดิมจะต้องเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติก่อน ช่างตัดเสื้อรุ่นเก่าจะนิยมใช้วิธีการตัดเย็บตามรูปแบบดั้งเดิม และจะเน้นย้ำแต่ความประณีตบรรจงของการตัดเย็บด้วยมือ โดยมิได้ทำความเข้าใจกับความต้องการของผู้บริโภค จึงทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับกระแสแห่งแฟชั่นยุคใหม่ได้ อาจารย์เจิ้งเป็นช่างเก่าแก่ที่ทำงานกับร้านข่ายเอินมาตั้งแต่แรก หลังจากที่คุณฟ่านโหลวต๋าซื้อแบรนด์ข่ายเอินมาแล้ว ก็ยังขอให้อาจารย์เจิ้งทำงานต่อไป และหลังจากผ่านการทำงานมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี อาจารย์เจิ้งเล่าให้เราฟังว่า “เดี๋ยวนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการให้เสื้อผ้าที่ออกมา ดูดีมีสไตล์” โต๊ะทำงานของอาจารย์เจิ้งจะติดภาพของชุดสูทที่บรรดาลูกค้าสรรหามาให้อยู่เต็มไปหมด โดยขอเพียงได้เห็นภาพสักครั้ง อาจารย์เจิ้งก็จะสามารถตัดเสื้อออกมาได้ตามแบบเลยทีเดียว การที่ช่างเก่าแก่ประจำร้านสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับกระแสความนิยมในท้องตลาด เมื่อนำมาประกอบเข้ากับฝีมือตัดเย็บที่ผ่านการสะสมประสบการณ์มานานหลายสิบปี จึงกลายมาเป็นรากฐานสำคัญที่ส่งผลให้ร้านข่ายเอินสามารถยืนอยู่ในตลาดเสื้อผ้าสั่งตัดได้อย่างมั่นคง

อุปกรณ์เสริมต่างๆ จะช่วยให้การแต่งกายน่าดูยิ่งขึ้น และแสดงให้เห็นถึงรสนิยมของเจ้าตัวด้วย

อุปกรณ์เสริมต่างๆ จะช่วยให้การแต่งกายน่าดูยิ่งขึ้น และแสดงให้เห็นถึงรสนิยมของเจ้าตัวด้วย

คุณฟ่านโหลวต๋าได้รับฉายาจากเหล่าชาวเน็ตในไต้หวันว่าเป็น “Lord of War แห่งวงการผ้าผืน” เป็นผู้ซึ่งครอบครองผ้าผืนที่มีมูลค่ามากกว่า 70 ล้านเหรียญไต้หวัน และเป็นผู้คัดหาผ้าหลากสีสันมานำเสนอให้กับลูกค้า ประกอบกับการรู้จักนำเอาโซเชียลมีเดียทั้ง FB และ IG มาใช้งานเป็นอย่างดี จึงทำให้ร้านสูทข่ายเอินสามารถดึงดูดลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เป็นจำนวนมาก

ในตอนแรก คุณฟ่านโหลวต๋าได้กำหนดกลุ่มลูกค้าของร้านไว้ที่กลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไป ก่อนจะพบว่าแม้ลูกค้ากลุ่มนี้จะมีกำลังซื้อที่สามารถจับจ่ายสินค้าราคาสูงได้ แต่ก็กลับมาใช้บริการซ้ำน้อยมาก กลับเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เสียอีก ที่กล้าจะลงทุนให้กับตัวเอง ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าของร้านข่ายเอินจึงมีอายุเฉลี่ยประมาณ 35 ปี และมีอัตราการกลับมาใช้บริการซ้ำสูงถึงร้อยละ 80 โดยมีลูกค้าหน้าใหม่มาใช้บริการเฉลี่ยประมาณ 30 รายต่อเดือน แถมยังมีลูกค้าบางกลุ่มที่ใช้ร้านข่ายเอินเป็นสถานที่ในการนัดหมายกับเพื่อนๆ เพื่อมาพูดคุยกันถึงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับชุดสูทและอุปกรณ์เสริมต่างๆ คุณคริส จู คือหนึ่งในลูกค้าประจำของร้านข่ายเอิน ซึ่งทำงานในธุรกิจร้านอาหารที่ต้องใช้ชุดสูทเป็นชุดทำงาน เขารู้สึกได้จากประสบการณ์ในการสวมใส่ของตัวเองว่า ชุดสูทที่สั่งตัดจะมีรูปทรงแนบไปตามลำตัวและถูกตัดแต่งตามทรวดทรงของรูปร่าง ยิ่งใช้ผ้าเนื้อดีในการตัดเย็บจะทำให้เมื่อสวมใส่แล้วดูดีมีสง่าราศี เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับตัวเอง และส่งผลให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในไต้หวันคนใส่สูทมักจะถูกมองว่าเป็นคนรุ่นเก่า หรือถูกล้อว่า “ไปกินเลี้ยงในงานแต่งงาน” หรือ “ไปดูตัว” ซึ่งคุณคริสเห็นว่า เกิดขึ้นจาก “ความไม่เข้าใจ“ เพราะแท้ที่จริงแล้ว พัฒนาการของชุดสูทได้มาถึงขั้นที่มีการนำเอาการแต่งกายในรูปแบบอื่นๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกันแล้ว จึงมิได้จำกัดอยู่แต่เพียงการสวมใส่เป็นชุดเท่านั้น แม้แต่ตัวเขาเองก็มักจะนำเอาบางชิ้นของชุดสูทมาแต่งกายผสมผสานกับเสื้อผ้าตัวอื่น เพื่อแสดงให้เห็นถึงสไตล์ของตัวเองในการแต่งกายในชีวิตประจำวัน

ผ้าผืนในคอลเลกชันของฟ่านโหลวต๋า นำเสนอทางเลือกหลากสีสัน ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก (ภาพ: หลินเก๋อลี่)

ผ้าผืนในคอลเลกชันของฟ่านโหลวต๋า นำเสนอทางเลือกหลากสีสัน ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก (ภาพ: หลินเก๋อลี่)

 

การถือกำเนิดของ Suit Walk

การทำให้เหล่าสุภาพบุรุษในไต้หวันสวมใส่ชุดสูทในชีวิตประจำวันถือเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของคุณสือหวงเจี๋ย มีคนถามเกี่ยวกับการจัดงาน Suit Walk คุณสือตอบไปว่า “สิ่งที่ผมคิดคือ อยากให้ในอนาคตข้างหน้า ไม่จำเป็นต้องมี Suit Walk อีกต่อไป เพราะชุดสูทได้กลายมาเป็นเสื้อผ้าที่เหล่าสุภาพบุรุษสวมใส่ในชีวิตประจำวันไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมาจัดงานใหญ่โตเพื่อให้สวมชุดสูทออกมาเดินตามท้องถนนกันอีก”

ก่อนอายุ 30 ปี คุณสือหวงเจี๋ยทำงานขายของในห้างสรรพสินค้า ชุดสูทจึงเป็นเสมือนชุดทำงานของคุณสือ ด้วยความที่รูปร่างค่อนข้างเล็ก ทำให้ไม่สามารถหาเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีขนาดเหมาะสมในท้องตลาด ทำให้เริ่มหันมาให้ความสนใจการสั่งตัดเสื้อผ้า ก่อนจะพบว่า “การสั่งตัดเสื้อผ้าสักชุดต้องใช้เวลาและมีขั้นตอนต่างๆ มากกว่าที่คิด” ตั้งแต่รูปแบบ เนื้อผ้า อุปกรณ์เสริม แต่ละขั้นตอนเป็นไปอย่างประณีตบรรจง และต้องใช้ความคิดเป็นอย่างมาก ต่อมา ด้วยความจำเป็นในหน้าที่การงาน ทำให้เขาต้องอ่านบทความของประเทศตะวันตกจำนวนไม่น้อยก่อนจะแปลเป็นภาษาจีนแล้วนำมาแบ่งปันกับมิตรสหายผ่านเว็บบล็อกส่วนตัวที่มีชื่อว่า  “Office Dandy Blog” จากนั้นในปี 2014 เขาจึงได้ริเริ่มการจัดกิจกรรม Suit Walk ขึ้น

Sชุดสุภาพบุรุษแสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่เหมาะสมต่อไลฟ์สไตล์

ชุดสุภาพบุรุษแสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่เหมาะสมต่อไลฟ์สไตล์

คุณสือหวงเจี๋ยได้วิเคราะห์กลุ่มผู้ที่มาร่วมเดินในกิจกรรมว่า เป็นเพศชายที่ส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 35 ปี โดยกลุ่มอายุ 20-35 ปี เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ในด้านอาชีพนั้น จะเป็นผู้ประกอบอาชีพในธุรกิจด้าน ICT มากที่สุด “ถือเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสภาวะทางธุรกิจของไต้หวันในปัจจุบัน และทำให้เราเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้ถูกจำกัดเสรีภาพในการสวมใส่ในการทำงานไม่น้อย” ซึ่งคุณสือหวงเจี๋ยอธิบายเพิ่มเติมว่า เพราะต้องการแก้ไขภาพลักษณ์ที่คนทั่วไปมีต่อชุดสูท จึงใช้คำว่า “ชุดสุภาพบุรุษ” มาแทนการเรียกว่าชุดสูทในแบบเดิม ยิ่งเมื่อพูดถึงรูปแบบและสไตล์แล้ว จะมีความยืดหยุ่นมากกว่า เพราะสามารถนำมาสวมใส่กับเสื้อโปโล กางเกงยีนส์ รวมไปจนถึงรองเท้าผ้าใบ ทำให้ชุดสุภาพบุรุษไม่ได้ถูกตีกรอบให้อยู่ในวงจำเพาะเหมือนเดิม อันเป็นการส่งผลให้ความปรารถนาที่จะสวมใส่เสื้อผ้าดีๆ ไม่ถูกจำกัดวงเอาไว้อีกต่อไป

เมื่อพูดคุยกันถึงสไตล์การแต่งตัวแล้ว คุณสือหวงเจี๋ยได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจซึ่งมีต่อสังคมในปัจจุบันกับเราว่า เขาใช้เส้นแบ่งกลุ่มคนไว้สองช่วงเวลาคือ ช่วงที่อายุ 35 ปี และ 65 ปี โดยกลุ่มผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 35-65 ปี จะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการแต่งกายของตัวเอง แต่กลุ่มผู้ชายที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และน้อยกว่า 35 ปีลงมา จะให้ความสำคัญกับการแต่งกายของตัวเองมาก ทั้งถูกต้องตามกาลเทศะและมีความเป็นตัวของตัวเอง โดยสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับการยกระดับของภาคอุตสาหกรรมในไต้หวันด้วย เพราะที่ผ่านมา เป็นยุคสมัยที่นักธุรกิจไต้หวันจะถือกระเป๋าเจมส์บอนด์เพียงใบเดียวเดินทางไปทำธุรกิจหรือเจรจาการค้าในที่ต่างๆ  ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการแต่งกายเป็นอย่างมาก “สิ่งสำคัญของการทำการค้ากับต่างประเทศคือการเจรจากับผู้คน แต่หลังจากที่อุตสาหกรรม ICT มีการพัฒนามากขึ้น การเจรจาของเราก็เปลี่ยนไปเจรจากับเครื่องแทนการพูดคุยกับคน ยิ่งเมื่อผ่านไปนานๆ เข้า ผู้คนก็จะลดความสำคัญของเรื่องนี้ลงเรื่อยๆ (การแต่งกาย)” ผู้ชายไต้หวันที่มีอายุระหว่าง 35-65 ปี จะเป็นกลุ่มที่เติบโตมาในยุคที่ไต้หวันปรับเปลี่ยนมาสู่ยุคแห่งการรับจ้างผลิตในอุตสาหกรรม ICT ทำให้ในทุกๆ วันจะนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้เวลาในการปฏิสันถารกับผู้อื่นจะน้อยลงเรื่อยๆ นานวันเข้าก็ไม่เห็นความสำคัญและไม่สนใจการแต่งกายของตัวเองอีกต่อไป

คุณสือหวงเจี๋ย ผู้ริเริ่มกิจกรรม Suit Walk หวังจะปลุกให้ผู้ชายในไต้หวันมีความตื่นตัวในการแต่งกาย

คุณสือหวงเจี๋ย ผู้ริเริ่มกิจกรรม Suit Walk หวังจะปลุกให้ผู้ชายในไต้หวันมีความตื่นตัวในการแต่งกาย

 

ทางเลือกในการสวมใส่หลังจากพิจารณาแล้ว

คุณสือหวงเจี๋ยมักจะพูดว่า “ชุดสุภาพบุรุษคือนามบัตรใบแรกที่คุณใช้บนโลก” เขาไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องสวมใส่ชุดสูท แต่ในความคิดของเขาแล้ว สิ่งสำคัญคือ “การเลือกหลังจากที่ได้ไตร่ตรองแล้ว” โดยหลังจากพิจารณาจากประสบการณ์ของตัวเองแล้ว ก็เลือกดูว่าเราจะสวมใส่อะไรไปพบเจอกับผู้อื่นที่อยู่บนโลกใบนี้

โดย “ชุดสูทแบบสั่งตัด ก็คือหนึ่งในขั้นตอนของการ “ถามตัวเอง” คุณคือคนแบบไหน? อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน? ใช้ชีวิตอย่างไร? “ ซึ่งคุณสือหวงเจี๋ยเห็นว่า “เราคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยเกินไป” กลุ่มคนอายุ 35-65 ปี ในไต้หวันถูกโรงเรียนจำกัดความคิดในเรื่องการแต่งกายในช่วงระหว่างเรียนหนังสือเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่ได้รับการฝึกฝนที่มากพอ ภายหลังจากที่ถอดเครื่องแบบออกไปแล้ว ในการทำงานก็ไม่มีรุ่นพี่ที่พอจะเลียนแบบได้ ทำให้กลายมาเป็นคนในยุคที่ขาดแคลนแนวคิดเกี่ยวกับการแต่งกาย หากแต่คนในยุคที่แต่งตัวไม่ค่อยเป็นนี้ กลับเป็น
กลุ่มที่มีความสามารถในการจับจ่าย ซึ่งสามารถที่จะช่วยพลิกโฉมให้ธุรกิจเสื้อผ้าสั่งตัดกลับมาเฟื่องฟูได้อีกครั้ง เพราะฉะนั้นคุณสือหวงเจี๋ยจึงเห็นว่า “คนในยุคที่ว่านี้จำเป็นต้องถูกจับมาเขย่าแรงๆ ให้ตื่นตัวขึ้นมา”

ร้านเกาอู๋จี๋ ไม่เน้นความหรูหรา โดยนำเสนอสิ่งที่คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไปเท่านั้น

ร้านเกาอู๋จี๋ ไม่เน้นความหรูหรา โดยนำเสนอสิ่งที่คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไปเท่านั้น

“ร้านเกาอู๋จี๋” ที่คุณสือหวงเจี๋ยก่อตั้งขึ้น มีเป้าหมายที่จะนำเสนอทางเลือกอีกทางหนึ่งให้กับลูกค้า คำว่า “เกาอู๋” มาจากหนังสือ “หรู่หลินไว่สื่อ”(儒林外史) ที่มีบันทึกไว้ว่า พญาหงส์เกาะอยู่บนยอดสูงของต้นอู๋ถง ในขณะที่เหล่าแมลงส่งเสียงร้องอยู่ในอาคารเล็กๆ ซึ่งเป็นคำอุปมาอุปไมยที่ใช้เปรียบเปรยว่า คนเรามีทางเลือกที่ไม่เหมือนกัน โดยพญาหงส์เป็นนกตัวผู้ที่ถือเป็นราชันแห่งมวลปักษา จะเกาะอยู่แต่เฉพาะบนยอดของต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์อย่างต้นอู๋ถงเท่านั้น ดังนั้น คำว่าเกาอู๋จี๋จึงหมายถึง “แหล่งชุมนุมของทางเลือกแห่งสินค้ามีระดับ สำหรับคุณผู้ชายทุกคน”

สินค้าที่ “เกาอู๋จี๋” นำเสนอ ไม่ได้เลิศหรูจนเกินควร หากแต่ยืนหยัดในความสมราคา โดยจะแนะนำให้คุณผู้ชายทั้งหลายเลือกใช้สายเอี๊ยมดึงกางเกง เพื่อใช้ดึงให้กางเกงอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมอยู่เสมอ อันจะทำให้เส้นสายของกางเกงดูแล้วสวยงามมากขึ้น นอกจากนี้ มารยาทในการสวมใส่ชุดสุภาพบุรุษคือต้องไม่ให้ผู้อื่นมองเห็นเนื้อของขา ดังนั้นความยาวของถุงเท้าจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถุงเท้ายาวที่สวมไปจนถึงเกือบใต้เข่าจะไม่หย่อนยานจนหล่นลงมาไม่น่าดู เนื่องจากถุงเท้าแบบฟรีไซส์ที่ใช้กันโดยทั่วไปถูกผลิตให้เหมาะกับคนส่วนใหญ่จึงทำให้เนื้อผ้าค่อนข้างหนา เพื่อรองรับแรงดึง ในร้านจึงจำหน่ายเฉพาะถุงเท้าที่มีขนาดตามไซส์ของแต่ละคน เพื่อเป็นการรับประกันความบางของถุงเท้าไม่ให้ส่งผลต่อขนาดของรองเท้าที่จะสวมใส่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้มิใช่การพิถีพิถันจนเกินควร หากแต่เป็นมาตรฐานที่สมเหตุสมผลของภาพลักษณ์แห่งความเป็นสุภาพบุรุษของเหล่าผู้ชายทั้งหลาย

 นอกจากมุมมองทางการตลาดในการเขย่าความคิดของลูกค้าที่มีต่อชุดสุภาพบุรุษแล้ว คุณสือหวงเจี๋ยยังได้วางมาตรฐานใหม่ในระดับสูงไว้ด้วย โดยที่ร้านเกาอู๋จี๋จะไม่เร่งตัดเสื้อผ้าให้ตามคำขอของลูกค้า เวลามาตรฐานสำหรับการสั่งตัดชุดสุภาพบุรุษ 1 ชุด จะต้องใช้เวลา 2 เดือนเต็ม โดยในช่วงนี้จะมีการลองชุดต้นแบบ 2 ครั้ง และลองชุดที่ตัดสำเร็จ 1 ครั้ง ซึ่งระยะเวลาที่ว่านี้ก็ใกล้เคียงกับระยะเวลาในการสั่งตัดชุดสูท 1 ชุด ในต่างประเทศ และเป็นระยะเวลาที่มีความเหมาะสมสำหรับการทำงานมากที่สุด จึงหวังว่าผู้ที่จะเข้าสู่ธุรกิจนี้จะสามารถมองเห็นภาพรวมของตลาดได้ง่ายขึ้น

กิจกรรม Suit Walk เชิญชวนให้ผู้รักการสวมใส่ชุดสุภาพบุรุษออกมาร่วมเดินบนท้องถนน เพื่อปลุกกระแสวัฒนธรรมการแต่งกายของผู้ชายในไต้หวัน (ภาพจาก สือหวงเจี๋ย)

กิจกรรม Suit Walk เชิญชวนให้ผู้รักการสวมใส่ชุดสุภาพบุรุษออกมาร่วมเดินบนท้องถนน เพื่อปลุกกระแสวัฒนธรรมการแต่งกายของผู้ชายในไต้หวัน (ภาพจาก สือหวงเจี๋ย)

 

ขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้น พร้อมเสริมสร้างบุคลากร

การจัดกิจกรรม Suit Walk ไม่เพียงแต่จะทำให้ชุดสุภาพบุรุษมิใช่เป็นเพียงชุดสำหรับโอกาสสำคัญเท่านั้น หากแต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นอย่างมีระดับของผู้สวมใส่ และเมื่อใดก็ตามที่ผู้บริโภคยินดีที่จะสวมใส่ชุดสุภาพบุรุษออกไปเดินเที่ยว ก็จะมีเหล่าพ่อค้าที่เห็นโอกาสทางการค้าและดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนได้ และเมื่อมีคนเข้าใจถึงจิตวิญญาณของชุดสุภาพบุรุษมากขึ้น ก็จะเกิดเป็นกระแสความนิยม  ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นตลาดให้เกิดความคึกคักยิ่งขึ้น นี่คือมุมมองของคุณสือหวงเจี๋ยเพื่อพลิกตลาด ให้หลุดจากสภาพซบเซา

แต่ร้านสูทข่ายเอินของคุณฟ่านโหลวต๋าใช้วิธีที่แตกต่างด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับด้านการตัดเย็บ เขาลงทุนเพื่อสร้างบุคลากรอย่างเต็มที่ โดยลูกศิษย์ส่วนใหญ่อายุประมาณ 20 กว่าปี คนรุ่นใหม่ไฟแรงเหล่านี้ จะได้รับการอบรมบ่มเพาะอย่างไม่หวงวิชาจากครูช่าง 2 คน ที่ทำงานกับทางร้านมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งภายใต้การชี้แนะของอาจารย์เจิ้ง ลูกศิษย์ทั้งหลายต่างก็สามารถทำงานให้กับทางร้านได้อย่างเต็มความสามารถ ทั้งการช่วยวัดตัวและเรียนรู้เกี่ยวกับทรวดทรงแบบต่างๆ ของลูกค้า ซึ่งต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศิลปะและวัฒนธรรมเกี่ยวกับการตัดเย็บจะสามารถถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้สืบไป

คุณฟ่านโหลวต๋าหวังว่า การสวมใส่เสื้อผ้าในสไตล์แบบชุดสุภาพบุรุษจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในแฟชั่นแต่งกายประจำวันของผู้ชายในไต้หวัน ซึ่งสำหรับสือหวงเจี๋ยแล้ว สิ่งที่ชุดสุภาพบุรุษแสดงออกมาให้เราเห็น คือความลงตัวของไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตประจำวัน และจริงๆ แล้ว การตื่นตัวในการแต่งกายแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของเราที่จะเผชิญหน้ากับโลกใบนี้ การสั่งตัดเสื้อผ้าที่กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ต้องใช้เวลาในการรอคอย ก็เปรียบเสมือนกับชีวิตของคนเราที่ต้องก้าวผ่านขั้นตอนแห่งความสงสัยและทำความเข้าใจกับตัวเอง ก่อนจะสามารถค้นพบสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเรา และบางทีสิ่งนี้อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่อยู่นอกเหนือแนวคิดแบบ Fast Fashion ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ก็เป็นได้