ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
แบรนด์ Kamaro’an ฟื้นฟูงานหัตถกรรมจักสานด้วยกกร่ม
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2019-08-26

โคมไฟ “Riyar Light” ที่ผสมผสานงานหัตถกรรมเข้ากับงานออกแบบ โดดเด่นเปล่งประกายในเวทีนานาชาติ

โคมไฟ “Riyar Light” ที่ผสมผสานงานหัตถกรรมเข้ากับงานออกแบบ โดดเด่นเปล่งประกายในเวทีนานาชาติ

 

นี่คือเรื่องราวเกี่ยวกับงานจักสาน เริ่มต้นจากที่ซูมี ดองกี (Sumi Dongi) ฟื้นฟูนาขั้นบันไดริมชายฝั่ง การฟื้นฟูต้นกกร่มทำให้เธอได้พบกับหลินอี้หรง (林易蓉) ผู้ให้คำปรึกษาด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมในฮัวเหลียนและไถตง จับมือกับหลิวลี่เสียง (劉立祥) และจางหยุนฝาน (張雲帆) นักออกแบบ กลุ่มคนเหล่านี้ได้รวมตัวกันสร้างสรรค์ผลงานโคมไฟกกร่มสาน “Riyar Light” ที่เรียบง่ายแต่ทันสมัย บอกเล่าเรื่องราวผ่านแบรนด์ Kamaro’an

 

โคมไฟ “Riyar Light” ที่ผสานงานหัตถกรรมเข้ากับงานออกแบบ โดดเด่นเปล่งประกายในเวทีนานาชาติ ได้รับรางวัลนักออกแบบดาวรุ่งเอเชีย จากงานประกวดการออกแบบสินค้าแฟชั่นผสมผสานเอกลักษณ์ท้องถิ่น Maison et Objet ในปี 2017 ซึ่งเป็นงานมหกรรมสินค้าตกแต่งภายในชั้นนำของฝรั่งเศส ภายในงานแสดงสินค้าที่ยุโรป ผู้คนมักจะได้ยินชื่อของแบรนด์ Kamaro’an ซึ่งได้รับคำชมว่า หรูหรา งดงาม ประหนึ่งงานประติมากรรม โคมไฟ Riyar Light ได้กลายเป็นของที่ระลึกจากประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำไต้หวัน เมื่อเดินทางเยือนประเทศพันธมิตร ทำให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงความงดงามของผลงานหัตกรรมของไต้หวัน

ร้าน “สายลมแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก” ซึ่งจำหน่ายสินค้าคัดสรรจากเมืองฮัวเหลียนและไถตง ตั้งอยู่ที่โซนอิฐแดงของศูนย์วัฒนธรรมสร้างสรรค์หัวซัน 1914 ในกรุงไทเป ที่ร้านแห่งนี้มีสาวชนพื้นเมืองเผ่าอามิส (Amis) 2 คน นามว่า โงโด (Ngodo) และนาคู (Nacu) พวกเธอกำลังจดจ่ออยู่กับการทำงานจักสานที่อยู่ตรงหน้า โงโดใช้เทคนิคการสานหวายเส้นเดี่ยวของชนเผ่าอามิสให้กลายเป็นกระเป๋าถือทรงสามเหลี่ยม ส่วนนาคูนั่งอยู่ตรงหน้าโต๊ะสำหรับจักสานขนาด 150×12 ซม. นำกกร่ม 2 เส้น วางลงบนโต๊ะจักสาน แล้วใช้เชือกกระดาษผูกเข้ากับเส้นกกร่มแนวขวาง ทับกันเป็นกากบาท ให้น้ำหนักของเส้นแนวดิ่งกดทับลงบนกกร่ม

นาคูเล่าให้ฟังพร้อมกับสานไปด้วยว่า “นี่เป็นเทคนิคการสานเสื่อ ตอนที่ฉันยังเด็ก ทุกครอบครัวจะต้องมีโต๊ะจักสานตัวหนึ่ง พวกเราทุกคนจะเคยเห็นคุณยายนั่งสานเสื่อ หลังจากนั้น ตอนที่ฉันเรียนวิธีการทำโคมไฟ Riyar Light ถึงแม้จะมีวัตถุดิบเป็นกกร่มอยู่ข้างมือ แต่กลับไม่มีโต๊ะจักสาน เลยต้องไปที่บ้านของป้าซูมีแบกกลับมาตัวหนึ่ง”

ซูมีคิดค้นวิธีแก้ปัญหามิให้กกร่มชื้นโดยง่าย ด้วยการนำเอาเปลือกของก้านกกร่มมาตากแดดให้แห้งสนิทเท่านั้น (ภาพจาก Kamaro’an)

ซูมีคิดค้นวิธีแก้ปัญหามิให้กกร่มชื้นโดยง่าย ด้วยการนำเอาเปลือกของก้านกกร่มมาตากแดดให้แห้งสนิทเท่านั้น (ภาพจาก Kamaro’an)

 

ตามหาสิ่งที่เคยหายไปกลับคืนมา

สิ่งที่ถูกลืมเลือนมิได้มีเพียงโต๊ะสำหรับจักสานเสื่อเท่านั้น ที่ชุมชนเผ่ามาโคทาย (Makotaay) ในตำบลฟงปิน เมืองฮัวเหลียน เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ภาพต่างๆ ที่เคยเห็นในชีวิตประจำวันค่อยๆ เลือนหายไป เช่น ท้องนาที่ขาดแหล่งน้ำได้ถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นป่ารก และภาพของสตรีในชนเผ่าพื้นเมืองที่ใช้เวลาว่างเว้นจากการทำนามาสานเสื่อ เป็นต้น

ซูมีตัดสินใจลงมือฟื้นฟูการทำนาขั้นบันได และขณะเดียวกันก็กลับมาปลูกต้นกกร่ม (Cyperus alternifolius) และผักกะโฉม (Limnophila rugosa) ริมนาข้าว ทำให้ทัศนียภาพของท้องนารวงข้าวสีเหลืองข้างเส้นทางหลวงหมายเลข 11 และงานหัตถกรรมจักสานเสื่อของชนเผ่าอามิส กลายเป็นทัศนียภาพของชนเผ่ามาโคทายอีกครั้ง

สาเหตุที่ต้นกกร่มมีชื่อเรียกเช่นนี้ เนื่องจากมีรูปทรงคล้ายกับโครงร่ม ลำต้นตั้งตรง ไม่มีปล้อง สูงได้ถึง 3 เมตร ชนเผ่าอามิสนำมาสานเป็นเสื่อ ซูมีจำได้ว่าช่วงหน้าร้อนในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ทุกครอบครัวจะนำรวงข้าวมาตากแห้ง แล้วนำกกร่มมาตากแห้งด้วย ช่วงหน้าร้อนทุกคนจะไม่นอนในบ้าน แต่จะออกมาปูเสื่อนอนใต้ท้องฟ้าที่มีดวงดาวพร่างพราว สมัยก่อนข้างท้องนาจะมีกระต๊อบเล็กๆ เรียกว่า ดารวน (Daruan) คู่สามีภรรยาข้าวใหม่ปลามันจะนำเสื่อเข้าไปในกระต๊อบดารวนเพื่อพลอดรักกัน ซูมีกล่าวว่า “กกร่มเป็นส่วนหนึ่งของความสุนทรีย์ในวิถีชีวิตชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองและเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน”

ซูมีวิเคราะห์ว่าจะนำกกร่มมาทำอะไรได้บ้าง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมในท้องถิ่น และสร้างโอกาสงานที่มั่นคงในชุมชน ขั้นตอนในการสานเสื่อนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่สภาพอากาศไต้หวันมีความชื้นสูงมาก ดังนั้นปัญหาขึ้นราได้ง่าย จึงเป็นภารกิจที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน

หลังผ่านการทดลองหลายครั้ง ซูมีจึงได้นำแรงบันดาลใจจากวิธีการสานหวายของชนเผ่าอามิสมาใช้สานกกร่ม ตัดท่อลำเลียงน้ำที่อยู่ตรงกลางออกไป แล้วนำเปลือกนอกไปตากแดดให้แห้ง จะทำให้มีความทนทานมากขึ้น ซูมีเรียนรู้เทคนิคการจักสานจากผู้อาวุโสในชนเผ่าอามิสที่สืบสานต่อๆ กันมา

Sซูมีฟื้นฟูการปลูกต้นกกร่ม ขณะเดียวกันก็นำงานหัตถกรรมจักสานแบบดั้งเดิมของชนเผ่าอามิสกลับคืนมา

ซูมีฟื้นฟูการปลูกต้นกกร่ม ขณะเดียวกันก็นำงานหัตถกรรมจักสานแบบดั้งเดิมของชนเผ่าอามิสกลับคืนมา

 

พบกับดีไซน์สมัยใหม่

ในช่วงแรก จางหยุนฝาน (張雲帆) และหลิวลี่เสียง (劉立祥) ได้ติดตามอาจารย์ต่งฟางอู่ (董芳武) จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติไต้หวัน (NTUST) ไปยังชุมชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งในช่วงหลายปีมานี้ มีโครงการงบอุดหนุนด้านศิลปะจำนวนมากที่ต้องการนำวัฒนธรรมและศิลปหัตถกรรมของชนเผ่าพื้นเมืองเผยแพร่ให้เป็นที่ประจักษ์ แต่มักพบว่าเมื่อโครงการสิ้นสุดลง กลับไม่สามารถรักษาทรัพยากรอย่างยั่งยืนต่อไปได้ “มีวัฒนธรรมและเรื่องราวมากมายที่ถูกนำกลับมา แต่เกิดประเด็นปัญหาต่อไปว่าจะทำให้เป็นรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้อย่างไร” จางหยุนฝานอธิบายถึงปัญหาที่ทีมงานของพวกเขาพยายามแก้ไข

ทีปัส ฮาเฟย์ (Tipus Hafay) หรือหลินอี้หรง (林易蓉) เกิดในชุมชนนาเทารันของชนเผ่าอามิส ที่ตำบลจี๋อัน เมืองฮัวเหลียน จบการศึกษาบัณฑิตวิทยาลัยสาขาสถาปัตยกรรมและผังเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTU) ทำงานในไทเปเป็นเวลากว่า 5 ปี ในที่สุดก็มีโอกาสกลับไปทำงานยังบ้านเกิด ทำหน้าที่ช่วยเหลือให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมในเมืองฮัวเหลียนและไถตง

จากคำแนะนำของทีปัส ทำให้ทีมงานของ NTUST ร่วมมือกับซูมีในการนำเส้นกกร่มที่เธอวิจัยพัฒนามาใช้ ซูมีกล่าวว่า “กกร่มกลัวความชื้น ส่วนโคมไฟมีแสงสว่างและความร้อน เมื่อนำกกร่มมาประดับโคมไฟจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการขึ้นรา”

ทีมงานเริ่มศึกษาตั้งแต่ต้น เรียนรู้วิธีจัดการกับกกร่มและการจักสานจากซูมีด้วยตัวเอง ต้องศึกษาทำความเข้าใจระยะเวลาของการจักสาน รวมทั้งแนวทางการประยุกต์เพื่อต่อยอด

Kamaro’an มี “การดีไซน์ใหม่” โดยนำเอาเรื่องราววัฒนธรรมหลอมรวมอยู่ในสินค้า ทำให้ความงดงามของงานหัตถกรรมชนพื้นเมืองเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก

Kamaro’an มี “การดีไซน์ใหม่” โดยนำเอาเรื่องราววัฒนธรรมหลอมรวมอยู่ในสินค้า ทำให้ความงดงามของงานหัตถกรรมชนพื้นเมืองเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก

หลิวลี่เสียงกล่าวว่า “การอาศัยอยู่ในชุมชนเผ่าพื้นเมืองนั้น จะได้เห็นภูเขาและทะเลทุกวัน จึงทำโคมไฟที่มีรูปร่างคลื่นทะเลโดยไม่รู้ตัว โคมไฟ Riyar Light มีความแตกต่างกันในแต่ละมุม เหมือนกับลูกคลื่นที่ให้ความรู้สึกถึงจังหวะจะโคน” โคมไฟ Riyar Light ประกอบด้วยรูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนและครึ่งวงกลม 2 วง ดีไซน์เป็นรูปทรงเรขาคณิตที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อนแต่ดูทันสมัย กกร่มซึ่งดูดซับแสงอาทิตย์ที่ฮัวเหลียน เป็นเกลียวอยู่ในรูปคลื่น เป็นการออกแบบโคมไฟที่ผสมผสานไว้ด้วยธรรมชาติของฮัวเหลียนและไถตง

เพื่อให้สอดคล้องกันระหว่างการพัฒนางานหัตถกรรมจักสานกับความต้องการของตลาดในอนาคต นักออกแบบจึงดีไซน์ให้ดูโดดเด่นในจุดที่สามารถดึงดูดสายตาผู้คนได้มากที่สุดอย่างลงตัว ขณะที่ส่วนอื่นๆ จะใช้วิธีการที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อลดต้นทุน

ขั้นตอนการทำโคมไฟ Riyar Light เริ่มจากการทำแบบจำลอง แล้วค่อยๆ พัฒนาจนลงตัว เมื่อเห็นว่าควรนำสินค้าชุดกกร่มทดสอบตลาด จึงได้เปิดระดมทุนทางเว็บไซต์ www.zeczec.com เพื่อผลิตสินค้าชุดกกร่มภายใต้แบรนด์ Kamaro’an

เบื้องต้นได้ตั้งเป้าการระดมทุนไว้ที่ 200,000 เหรียญไต้หวัน ใช้เวลาเพียง 12 วัน ก็สามารถระดมทุนได้ตามเป้า

หลิวลี่เสียง (ซ้าย) และจางหยุนฝาน (ขวา) ทดลองใช้การออกแบบหาทางออกและชุบชีวิตใหม่ให้แก่งานศิลปหัตถกรรมแบบดั้งเดิม

หลิวลี่เสียง (ซ้าย) และจางหยุนฝาน (ขวา) ทดลองใช้การออกแบบหาทางออกและชุบชีวิตใหม่ให้แก่งานศิลปหัตถกรรมแบบดั้งเดิม

 

Kamaro'an ตั้งรกรากที่นี่สิ

Kamaro’an เป็นวลีที่ใช้ทักทายผู้คนในภาษาชนเผ่าอามิส แปลว่า “นั่งลงสิ” จางหยุนฝานอธิบายเพิ่มเติมว่า ชื่อของ Kamaro’an ยังมีอีกความหมายหนึ่งว่า “ตั้งรกรากที่นี่สิ” “หากแบรนด์ประสบความสำเร็จ ก็จะช่วยสร้างโอกาสให้ชนเผ่าพื้นเมืองที่เป็นคนรุ่นใหม่กลับมายังบ้านเกิดและตั้งรกรากที่นี่” นี่คือความปรารถนาอย่างสุดซึ้งที่อยู่เบื้องหลังของแบรนด์นี้

หลังจากประสบความสำเร็จในการระดมทุนบนเว็บไซต์ zeczec ในปี 2015 ก็มีใบสั่งซื้อเข้ามา ซูมีได้รวบรวมกกร่ม สำรองวัตถุดิบไว้ล่วงหน้า แต่กกร่มจำเป็นต้องตากแดดด้วยแสงแดดในฤดูร้อนเป็นเดือนๆ ทำให้หุ้นส่วนของเธอที่เป็นคนรุ่นใหม่คิดว่าต้องใช้เครื่องอบแห้งแทน ซึ่งช่วยให้ขั้นตอนการตากแดดประหยัดเวลาได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เครื่องอบแห้งสามารถควบคุมได้เพียงระดับความชื้นในลำต้น แต่ไม่สามารถกำจัดความชื้นไปได้ทั้งหมด จากประสบการณ์นี้เป็นเครื่องยืนยันว่ากกร่มต้องเจอกับแสงแดดจึงจะแห้งสนิท

หลังผ่านอุปสรรคต่างๆ หลายครั้งหลายหน จนกระทั่งปี 2016 กระบวนการผลิตสินค้าชุดกกร่มจึงถือได้ว่าราบรื่น และก่อรูปขึ้นเป็นกลไกความร่วมมือกับชนเผ่าพื้นเมือง โดยมีเป้าหมายให้ต้นทุนทุกอย่างมาจากการผลิตอยู่ภายในชุมชน และคืนกำไรจากการจำหน่ายสินค้าทุกชิ้นร้อยละ 40 กลับสู่มือของช่างฝีมือชนพื้นเมือง โดยให้ชนพื้นเมืองรับผิดชอบสายการผลิต หวังให้สินค้าจากกกร่มแต่ละชิ้นที่จำหน่ายออกไป จะทำให้เกิดการยอมรับและนำวัฒนธรรมไปใช้ในอนาคต เพื่อให้ชนเผ่าพื้นเมืองสามารถสร้างอุตสาหกรรมในท้องถิ่น มอบโอกาสงานที่มั่นคง และรักษาวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน

Kamaro’an ยังพยายามเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ โดยในช่วง 2 ปีมานี้ พวกเขาไปจัดแสดงสินค้าที่ปารีส, ญี่ปุ่น, กรุงเทพฯ, ฮ่องกง, มิลาน และแฟรงก์เฟิร์ต เป็นต้น ทำให้ได้รับใบสั่งซื้อจากฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ตามมา จากการเปิดตัวในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ทำให้ Kamaro’an ได้รับคำเชิญจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ให้นำกระเป๋าจักสานทรงสามเหลี่ยมไปวางจำหน่ายภายในห้องโถงของพิพิธภัณฑ์ เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านการออกแบบหัตถกรรมของไต้หวัน

ในร้าน “สายลมแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก” จะพบเห็นคนรุ่นใหม่จากเผ่าอามิสนั่งสานกกร่มและโคมไฟ Riyar Light

ในร้าน “สายลมแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก” จะพบเห็นคนรุ่นใหม่จากเผ่าอามิสนั่งสานกกร่มและโคมไฟ Riyar Light

 

สายลมแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก: ร้านสินค้าคัดสรรจากฮัวเหลียน-ไถตง Made in Taiwan

ในปี 2017 Kamaro’an เปิดร้าน “สายลมแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก” (太平洋的風) ภายในศูนย์วัฒนธรรมสร้างสรรค์หัวซัน 1914 กรุงไทเป หุ้นส่วนของ Kamaro’an เดินทางไปคัดสรรเวิร์กชอปที่หลบอยู่ตามตรอกซอกซอยของหมู่บ้านและตำบลต่างๆ ในเมืองฮัวเหลียนและไถตงด้วยตนเอง เพื่อสรรหาสินค้าหัตถกรรมจากผู้ผลิตรายอื่นที่สามารถนำมาจำหน่ายในร้านได้ ซึ่งต้องใช้วัสดุจากธรรมชาติ ไม่เติมแต่งจนเกินไป แต่ต้องละเอียดพิถีพิถัน เป็นหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกสินค้าของหุ้นส่วน Kamaro’an โดยนักออกแบบจะต้องนำหลักการเหล่านี้มาผนวกเข้ากับสินค้า สร้างสรรค์ผลงานที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ตามแบบฉบับที่ “Kamaro’an” ต้องการ

Kamaro’an อยากจะมีร้านค้าที่เป็นรูปเป็นร่างมาโดยตลอด จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้โดยตรงและสำรวจความนิยมของผู้บริโภค ประกอบกับผู้คนยังไม่ค่อยรู้จักกกร่มเท่าไรนัก หากมาที่ร้านแล้วได้เห็นการจักสานกกร่มจริงๆ ก็จะทำให้รู้จักลึกซึ้งยิ่งขึ้น หลิวลี่เสียงอธิบายว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ร้านสินค้าลักษณะนี้ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่ร้านค้าที่คัดสรรแต่เฉพาะสินค้าผลิตในไต้หวันอย่าง “สายลมแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก” นั้นมีไม่มาก ที่ศูนย์วัฒนธรรมสร้างสรรค์หัวซันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากมายต้องการซื้อสินค้าที่ผลิตในไต้หวัน สินค้าของ Kamaro’an จึงได้รับความนิยม

ภายในร้านสายลมแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกมีการสงวนพื้นที่ภายในร้านส่วนหนึ่งไว้สำหรับจัดแสดงนิทรรศการผลงานศิลปหัตถกรรมจากฮัวเหลียนและไถตง ให้ความรู้สึกแปลกใหม่แก่ผู้บริโภค และอยากกลับมาเยือนอีกเป็นประจำ

ไม่เน้นลวดลายหรือสัญลักษณ์ของชนพื้นเมือง ไม่ต้องการให้กลายเป็นร้านจำหน่ายของที่ระลึกทั่วไป Kamaro’an ได้นำวัฒนธรรมผสมผสานไว้ในผลิตภัณฑ์ ให้ผู้บริโภคได้สัมผัสความละเอียดอ่อนในตัวสินค้าและค้นพบเรื่องราวเหล่านั้นด้วยตัวเอง

แนวคิดเริ่มแรกของ Kamaro’an คือหวังว่าศักยภาพทางศิลปะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของชนพื้นเมืองในช่วงไม่กี่ปีนี้จะพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้คนรุ่นใหม่กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดได้ นอกจากนี้ ในอนาคต ทีปัสหวังว่าจะทำให้คนรุ่นใหม่ปรับตัวที่จะเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมมากขึ้นผ่านแบรนด์ “ถ้าหากไม่มีการเชื่อมโยงกับชนพื้นเมืองให้มากขึ้น แบรนด์ก็คงอยู่ไม่ได้” เธอกล่าวจากใจจริง ขอแต่เพียงให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้ทักษะฝีมือดั้งเดิมจากผู้อาวุโสของชนเผ่า และธำรงรักษาไว้ ก็จะมีโอกาสสร้างผลงานด้วยเทคนิคเหล่านั้นในอนาคต การออกแบบอาจเป็นเพียงทิศทางหรือวิธีการอย่างหนึ่งที่ทำให้งานศิลปหัตถกรรมกลายเป็นวัฒนธรรมแห่งชีวิต