ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
นศ.อาเซียนเข้าพักในหมู่บ้านชนบทไต้หวันระยะสั้น กลุ่มนศ.ไทยเข้าพักในชุมชนกงเหล่าผิง
2019-08-20

อาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยตงไห่ ถ่ายภาพร่วมกันที่หน้าโรงงานผลิตน้ำตาล ในชุมชนกงเหล่าผิง (ภาพจากคณะกรรมการการเกษตร สภาบริหารไต้หวัน)

อาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยตงไห่ ถ่ายภาพร่วมกันที่หน้าโรงงานผลิตน้ำตาล ในชุมชนกงเหล่าผิง (ภาพจากคณะกรรมการการเกษตร สภาบริหารไต้หวัน)

คณะกรรมการการเกษตร สภาบริหารสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) วันที่ 19 ส.ค. 62

 

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. คณะกรรมการการเกษตร สภาบริหารสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า เพื่อขานรับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของรัฐบาลไต้หวัน ในด้านการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านการเกษตรรุ่นใหม่ กรมอนุรักษ์น้ำและดิน คณะกรรมการการเกษตร สภาบริหารไต้หวัน ได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจงซิง (National Chung Hsing University, NCHU) มาเป็นเวลากว่า 3 ปี โดยได้เชิญนักศึกษาจากประเทศอาเซียน เดินทางมาเข้าพักที่หมู่บ้านชนบทในไต้หวัน เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ในวิถีชนบทของไต้หวัน ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมฟื้นฟูชนบทอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับปีนี้มีอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของไทย มหาวิทยาลัยจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และนักศึกษาหลักสูตรการเกษตรนานาชาติแห่ง NCHUเดินทางมาเข้าร่วม ซึ่งได้จัดแบ่งเป็น 5 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มต้องมีตัวแทนจากไต้หวันและประเทศอาเซียนอย่างละครึ่ง เพื่อรวมตัวกันเข้าพักในหมู่บ้านชนบทที่มีเอกลักษณ์ของไต้หวัน 5 แห่ง ซึ่งกิจกรรมเรียนรู้จากประสบการณ์จริงดังกล่าว ได้เปิดฉากไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา


 

กรมอนุรักษ์น้ำและดิน ได้จัดให้คณะอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยตงไห่ (Department of Landscape Architecture, Tunghai University) เข้าพักในชุมชนกงเหล่าผิง (Gonlaoping) เขตฟงหยวน นครไถจง นักศึกษาทั้งสองสถาบันได้รวมพลังเป็นหนึ่งเดียว ในการดำเนินการสรรสร้างสิ่งแวดล้อมชุมชน ร่วมกับชาวบ้านในท้องถิ่น


 

นักศึกษาจาก 2 สถาบันได้ประยุกต์ใช้ความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม และการจัดสรรพื้นที่อย่างลงตัว โดยได้ร่วมมือกับช่างไม้ ช่างเหล็กและช่างสวนในชุมชน บูรณะซ่อมแซมภายในของโรงงานผลิตน้ำตาลที่ทิ้งให้รกร้างมาแรมปี รวมทั้งออกแบบตกแต่งพื้นที่ภายนอกในรูปแบบใหม่ ในส่วนของผนังภายในโรงงาน ได้มีการจัดสัดส่วนชัดเจน โดยแบ่งเป็นภาพวาดแผนผังชุมชน เป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ภาพทิวทัศน์ 4 ฤดูกาล ภาพประวัติศาสตร์ทางมนุษยศาสตร์ และภาพวิสัยทัศน์แห่งการพัฒนาในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้บันทึกขั้นตอนความร่วมมือระหว่าง 2 สถาบันไว้ที่กำแพงด้านหนึ่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำอันยากจะลืมเลือนอีกด้วย


 

นายลู่ก้วนฉวน ประธานชุมชนกงเหล่าผิงกล่าวว่า นักศึกษาไทยมีความสามารถอันโดดเด่น ในด้านการออกแบบ ได้นำแผนการออกแบบมาร่วมปรึกษาหารือกับผู้คนในชุมชน และร่วมมือกันบูรณะตามแผนโครงสร้างดังกล่าวอย่างสามัคคี ประชาชนในหมู่บ้านต่างรู้สึกประทับใจและตื่นตะลึงกับ ผลงานที่นักศึกษากลุ่มนี้ ได้บูรณะให้ศูนย์กิจกรรมชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่กรมอนุรักษ์น้ำและดิน ได้ส่งเสริมให้นักศึกษาต่างชาติเดินทางมาเข้าพักในชุมชน นำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมต่างถิ่นและพลังแห่งความสดใสของเยาวชนมาสู่ชนบท


 

Dr. Sigit Dwiananto arifwidodo อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งนำคณะนักศึกษามาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ได้นำคณะนักศึกษาเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมที่ไต้หวัน ขอบคุณศาสตราจารย์อู๋เจิ้นฟาแห่ง NCHU ที่ได้จัดเตรียมให้นักศึกษาไทยได้มีโอกาสมาเรียนรู้ประสบการณ์ด้านต่างๆ ในไต้หวัน อาทิ ด้านวัฒนธรรม ความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ความรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูชนบทและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ในการนำไปต่อยอดความสามารถด้านการออกแบบและสรรสร้างภูมิสถาปัตยกรรม อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังความร่วมมือระหว่างประเทศให้กับเยาวชนไปในตัว คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในปีหน้าจะมีโอกาสเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่ไต้หวันอีก