ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
เยาวชนอาลีซานเดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ในประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ หวังฟื้นฟูกิจการการรถไฟอาลีซาน และร่วมปะติดปะต่อความทรงจำให้แก่ชุมชน
2019-08-21

เยาวชนอาลีซานเดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ในประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ หวังฟื้นฟูกิจการการรถไฟอาลีซาน และร่วมปะติดปะต่อความทรงจำให้แก่ชุมชน

เยาวชนอาลีซานเดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ในประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ หวังฟื้นฟูกิจการการรถไฟอาลีซาน และร่วมปะติดปะต่อความทรงจำให้แก่ชุมชน

กระทรวงศึกษาธิการสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) วันที่ 18 ส.ค. 62

 

ปีนี้เป็นปีแรกของ “แผนการฟื้นฟูและพัฒนาภูมิภาค”(Regional Revitalization) ของไต้หวัน โดยในเขตพื้นที่อาลีซาน เมืองเจียอี้ มีเยาวชนท้องถิ่นกลุ่มหนึ่ง ก่อตัวขึ้นเป็น “ทูตอาลีซานเยาวชน” เดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากประเทศมาเลเซียและไทย ภายใต้ “โครงการ Young Action” ของสำนักงานพัฒนาเยาวชน กระทรวงศึกษาธิการสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยหวังว่าจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ มาประยุกต์ใช้เพื่อกระตุ้นให้วัฒนธรรมการรถไฟอาลีซานเกิดความคึกคักมากยิ่งขึ้น


 

ในสมัยก่อน เส้นทางการรถไฟอาลีซานช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเมืองเจียอี้โดยรวม แต่หลังจากมีการสร้างทางหลวงขึ้น ประจวบกับจังหวะที่ตำบลจู๋ฉี ในเมืองเจียอี้เงียบเหงาลง จึงทำให้กิจการการรถไฟได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ริเริ่มผลักดัน “แผนการฟื้นฟูและพัฒนาภูมิภาค” โดยแนวคิดหลัก คือการผนวก “อุตสาหกรรม ภูมิศาสตร์และมนุษย์” เข้าด้วยกัน โดยหวังว่าจะผสมผสานเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เพื่อพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆ


 

“คณะทูตอาลีซานเยาวชน” ชี้แจงว่า การรถไฟอาลีซานได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในรายชื่อสถานที่ ที่มีศักยภาพในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกชุดแรกในปี 2012 คณะทูตอาลีซานเยาวชนคาดหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่จะผลักดันให้สถานที่ดังกล่าว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยเร็ววัน


 

บรรดาทูตอาลีซานเยาวชน มีกำหนดการเดินทางไปเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในองค์กรของประเทศมาเลเซียและไทย เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยได้เดินทางไปยังมาเลเซียเป็นประเทศแรก เพื่อเยี่ยมชม “ท่าเทียบเรือประมง Kuala Sepetang” ที่มีประวัติความเป็นมากว่าร้อยปี ประจวบกับชาวบ้านในท้องถิ่น ได้ผลักดันโครงการ “Look Port Weld” เพื่อพลิกโฉมท่าเรือประมงที่เคยรุ่งโรจน์ในอดีต ให้กลายเป็นชุมชนชาวประมงที่เปี่ยมด้วยพลังแห่งชีวิต


 

จากนั้น เหล่าคณะทูตอาลีซานเยาวชนก็ได้เดินทางต่อไปยังประเทศไทยเป็นแห่งที่สอง โดยได้เดินทางเยือนศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ที่ซึ่งได้รับสมญานามว่าเป็น “สวรรค์ของนักออกแบบสร้างสรรค์” และเป็นสถานที่ที่รวบรวม “ผลงานการออกแบบ การตลาดและภาคธุรกิจ” ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ศูนย์สร้างสรรค์ออกแบบแห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง เขตบางรัก ซึ่งเป็นเขตพระนครเก่าของกรุงเทพฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสทำความรู้จักกับภาพลักษณ์ดั้งเดิมของกรุงเทพฯ และยังออกแบบห้องวัสดุที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถทดลองสัมผัสได้ อันจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการออกแบบจากการมีปฏิสัมพันธ์กับชิ้นงาน และใช้การออกแบบมาช่วยชุบชีวิตใหม่ ให้แก่เขตพระนครเก่า


 

หลังสิ้นสุดการเดินทาง คณะทูตอาลีซานเยาวชนได้ระดมความคิดกันว่า จะส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรม ด้วยการตีความวัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านผลงานศิลปะและการออกแบบอย่างไร จึงจะเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน โดยจะนำเอาประสบการณ์ที่ได้เก็บเกี่ยวมาจากประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นประโยชน์ที่แท้จริง โดยเริ่มจากการนำสมาชิกวัยเดียวกันและรุ่นน้อง เข้าสำรวจวัฒนธรรมท้องถิ่นในตำบลจู๋ฉี พร้อมให้ความช่วยเหลือสมาชิกทุกคน ในการนำผลการสำรวจของตน มาสร้างสรรค์เป็นคูหานิทานขนาดย่อม ในหัวข้อที่ต่างกัน เพื่อจัดแสดงในพื้นที่ตำบลจู๋ฉี