สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) มีกำหนดการจัดกิจกรรมสัปดาห์อวกาศไทยขึ้น ระหว่างวันที่ 27 -29 ส.ค.โดยนายหยางซ่านกั๋ว ตัวแทนสถาบันวิจัย NARlabs ประจำประเทศไทย ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การส่งดาวเทียมของไต้หวันขึ้นสู่วงโคจร ในกิจกรรมสัปดาห์อวกาศไทยในครั้งนี้ด้วย สำนักข่าว CNA วันที่ 28 ส.ค. 62
สำนักข่าว CNA วันที่ 28 ส.ค. 62
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Geo – Informatics and Space Technology Development Agency, GISTDA) ต้องการจะยืมประสบการณ์และเทคโนโลยี ในการวิจัยและพัฒนาดาวเทียมขึ้นเองในประเทศของไต้หวัน โดยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ไทยจะสามารถส่งดาวเทียมที่ผลิตเองในประเทศขึ้นสู่วงโคจรได้ ภายในเวลา 4 ปี ซึ่งฝ่ายไทยคาดหวังให้ผู้ประกอบการและบุคลากรไต้หวัน – ไทย สร้างสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีอวกาศ อย่างใกล้ชิดกันให้มากยิ่งขึ้น
โดย GISTDA มีกำหนดการจัดกิจกรรมสัปดาห์อวกาศไทยขึ้นระหว่างวันที่ 27 - 29 ส.ค. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบนำร่องผ่านดาวเทียม (Global Navigation Satellite System, GNSS) ของไทยในประชาคมอาเซียน (ASEAN) ตลอดจนให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ให้ประชาชน ผู้ประกอบการไทยและชาวอาเซียนได้ทราบโดยทั่วกัน
GISTDA และศูนย์อวกาศ องค์การอวกาศแห่งชาติไต้หวัน (National Space Organization, NSPO) มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน NSPO จึงใช้โอกาสในกิจกรรมครั้งนี้ ทำการจัด “การประชุมเชิงปฏิบัติการ ว่าด้วยโครงสร้างข้อมูลของไต้หวัน (Workshop of Taiwan Data Cube, TWDC)” อันเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับการตรวจจับสัญญานดาวเทียม เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ของฐานข้อมูลสถิติ ที่ไต้หวันมุ่งมั่นพัฒนามาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ยังได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จในโครงการผลิตดาวเทียมของไต้หวัน ในการประชุมครั้งนี้ด้วย
นายหยางซ่านกั๋ว ตัวแทนสถาบันวิจัย NARlabs ระบุขณะให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ว่า ไต้หวันได้ส่งดาวเทียม FORMOSAT – 2 ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี 2004 โดยใช้แอร์บัสในการช่วยผลิตดาวเทียม เช่นเดียวกันกับไทยที่ใช้แอร์บัสในการผลิตดาวเทียม ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับไต้หวัน และส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี 2008 เนื่องจากไต้หวันและไทยใช้แพลตฟอร์มดาวเทียมรูปแบบเดียวกัน ประกอบกับไต้หวันปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรเร็วกว่าไทย 4 ปี เพราะฉะนั้นไทยจึงได้ขอคำปรึกษาไต้หวัน ในด้านการบำรุงรักษาดาวเทียม หลังจากที่ปล่อยขึ้นสู่วงโคจรแล้ว
นายหยางซ่านกั๋วยังกล่าวว่า เนื่องจากไทยต้องการพัฒนาดาวเทียมเพื่อผลิตเองในประเทศ ซึ่งภายหลังจากปี2017 ที่ไต้หวันได้ปล่อยดาวเทียม FORMOSAT – 5 ที่ผลิตเองในไต้หวัน ขึ้นสู่วงโคจรแล้ว ทำให้ไต้หวันมีประสบการณ์ในด้านนี้มากขึ้น และพร้อมแบ่งปันให้กับหน่วยงานไทย
นายดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด อธิการสถาบันวิทยาการอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวขณะให้สัมภาษณ์ว่า ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศระหว่างไทย – ไต้หวัน สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประการ โดยประการแรกคือ ไทยต้องการยืมประสบการณ์ในการพัฒนาดาวเทียมของไต้หวัน ตลอดจนขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญไต้หวัน เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายในการส่งดาวเทียมที่วิจัยและพัฒนาขึ้นเองในประเทศ ขึ้นสู่วงโคจร ภายใน 4 ปีหลังจากนี้ ประการที่สองคือ การแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยี ระหว่างผู้ประกอบการไทย – ไต้หวันที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และประการสุดท้ายคือ การแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน โดยหวังที่จะร่วมส่งเสริมโครงการฝึกอบรมแลกเปลี่ยนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ด้านอวกาศระหว่างไทย - ไต้หวันในภายภาคหน้าต่อไปด้วย