ไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่นร่วมกันจัด “การสัมมนานานาชาติว่าด้วยการฟื้นฟูตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ปี 2019” ที่สาธารณรัฐปาเลา เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา (ภาพจากคณะกรรมการกิจการชนพื้นเมืองสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)) วันที่ 29 ก.ย. 62
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 29 ก.ย. 62
เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ระหว่างไต้หวันกับภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก และประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ในการร่วมกันอนุรักษ์และธำรงไว้ซึ่งภาษาชนพื้นเมือง กระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมการกิจการชนพื้นเมือง สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT Taipei Office) และสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่น จึงได้ร่วมกันจัดการสัมมนานานาชาติว่าด้วยการฟื้นฟูตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ปี 2019 (2019 International Austronesian Languages Revitalization Forum ) ในวันที่ 29 ก.ย. ที่สาธารณรัฐปาเลา โดยกิจกรรมสัมมนาครั้งนี้ นอกจากจะช่วยยกระดับสถานะและส่งเสริมให้ไต้หวัน เป็นที่รู้จักในหมู่ประเทศตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนแล้ว ยังนับเป็นครั้งแรกที่ค่ายฝึกอบรมนานาชาติ ภายใต้กรอบความร่วมมือ GCTF (Global Cooperation and Training Framework) ย้ายไปจัดยังประเทศที่ 3 ซึ่งถือว่ามีความหมายเป็นอย่างยิ่ง
การสัมมนาครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐ 26 คน นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญกว่า 120 คน จากทั้งหมด 11 ประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก เดินทางมาเข้าร่วม นอกจากนี้นาย Icyang Parod ประธานคณะกรรมการกิจการชนพื้นเมืองไต้หวัน นายโจวหมินกั้น เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ประจำปาเลา Ms. Amy J. Hyatt เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำปาเลา ต่างเดินทางไปร่วมเป็นประธาน และขึ้นกล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการสัมมนาดังกล่าว
การสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากสมเด็จพระราชินีบิลุง กลอเรีย ซาลี (Bilung Gloria Salii) แห่งปาเลา และนายจอห์นสัน โตริเบียง (Johnson Toribiong) อดีตประธานาธิบดีแห่งปาเลา ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในวงการการเมืองของปาเลาแล้ว ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาเลา และอินเดีย มาทำหน้าที่เป็นผู้บรรยาย เพื่อร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในประเด็นที่เกี่ยวกับ ต้นกำเนิดของตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน การแพร่ขยายและการเผยแพร่ตระกูลภาษาออสโตรนีเชียน เป็นต้น
กต.ไต้หวันแถลงว่า ในอนาคตรัฐบาลไต้หวันจะเร่งกระชับความร่วมมือกับสหรัฐฯ และประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ภายใต้พื้นฐานและกรอบความร่วมมือ GCTF อันแข็งแกร่ง เพื่อร่วมกันผลักดันภารกิจการอนุรักษ์ และฟื้นฟูวัฒนธรรมชนพื้นเมืองในประเทศตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนต่อไป นอกจากนี้ กต.ไต้หวันยังเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งกรอบความร่วมมือ GCTF ขึ้นในปี 2015 เป็นต้นมา ได้มีการจัดค่ายฝึกอบรมนานาชาติ ทั้งในประเด็นด้านสาธารณสุข การบังคับใช้กฎหมาย เศรษฐกิจดิจิทัล และความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น รวม 20 ครั้ง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ เดินทางมาเข้าร่วมฝึกอบรมในไต้หวัน มากกว่า 400 คน จาก 35 ประเทศทั่วโลก