กต.ไต้หวันขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนช่วยสนับสนุน แผนผลักดันการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ ICAO (ภาพจาก MOFA)
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 3 ต.ค. 62
เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า ในการประชุมสมัชชาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) สมัยสามัญ ครั้งที่ 40 ที่มีกำหนดการจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 24 ก.ย. - 4 ต.ค. ณ สำนักงานใหญ่ ICAO ที่ตั้งอยู่ในนครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ซึ่งตราบจนวันที่ 1 ต.ค. ตัวแทนจากประเทศเซนต์ลูเซีย สาธารณรัฐกัวเตมาลา และตูวาลู ต่างร่วมเป็นกระบอกเสียงสนับสนุนไต้หวัน ให้เข้าร่วมการประชุม ICAO นอกจากนี้ ตัวแทนมิตรประเทศอย่างฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ยังได้ช่วยเป็นปากเสียงในการสนับสนุนไต้หวันด้วยเช่นกัน โดยเนื้อหาที่ประเทศพันธมิตร หรือมิตรประเทศได้กล่าวสนับสนุนนั้น ต่างสอดคล้องกับข้อเรียกร้องในแผนผลักดันของไต้หวัน ซึ่งกต.ไต้หวันขอแสดงความขอบคุณด้วยใจจริง ที่เหล่าประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศดังกล่าวข้างต้น ได้ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้กับไต้หวัน พร้อมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า องค์การ ICAO จะยึดมั่นในจุดยืนของความเป็นมืออาชีพ และเร่งหาวิธีที่เหมาะสม ในการยอมรับให้ไต้หวัน เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประชุมฯ โดยเร็ว
Mr. Francis Argueta อธิบดีกรมการบินพลเรือนแห่งสาธารณรัฐกัวเตมาลา ได้เรียกร้องให้องค์การ ICAO ยึดมั่นในหลักการที่ว่า “จะไม่มีประเทศใดที่ถูกละทิ้งไว้ข้างหลัง” (No Country Left Behind) และเน้นย้ำให้ตระหนักถึงความสำคัญ ในการเข้ามีส่วนร่วมในเครือข่ายการบินพลเรือนทั่วโลกของไต้หวัน
Mr. Herodotus Stanislas รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรคนที่ 2 แห่งเซนต์ลูเซีย ก็ได้เน้นย้ำว่า ไต้หวันมีบทบาทที่สำคัญในด้านการบินพลเรือน จึงขอเรียกร้องให้องค์การ ICAO เร่งหารือ เพื่อเชิญให้ไต้หวันมีส่วนร่วมในการประชุมฯ และกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในฐานะผู้สังเกตการณ์
นอกจากนี้ เนื้อหาที่ตัวแทนฝรั่งเศส ญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นนั้น ต่างสอดคล้องกับข้อเรียกร้องในแผนผลักดันของไต้หวันทุกประการ และเป็นการแสดงให้เห็นว่า บรรดาตัวแทนฯ ต่างขานรับกับแถลงการณ์ร่วมที่ได้เผยแพร่ หลังการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนํา 7 ประเทศ (G7) ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ โดยตัวแทนฯ ได้กล่าวยืนยันหนักแน่นว่า องค์การ ICAO ควรให้การยอมรับสมาชิก ที่เต็มใจจะอุทิศตนในการสร้างคุณประโยชน์เพื่อองค์การฯ และประชาคมโลก พร้อมเน้นย้ำว่าหากกีดกันสมาชิกสำคัญเข้าร่วม เพียงเพราะเหตุผลทางการเมือง เกรงว่าจะเป็นการส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยด้านการบิน และนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขององค์การฯ โดยเฉพาะโครงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่คาดว่าอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นต้น
โดยกต.ไต้หวันเน้นย้ำว่า ไต้หวันเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบ และมีความเต็มใจเป็นอย่างมาก ที่จะสร้างคุณประโยชน์แก่ประชาคมโลก เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมของ ICAO ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการได้รับข้อมูลสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการบิน และระบบรักษาความปลอดภัยอย่างทันท่วงที ในฐานะที่องค์การ ICAO เป็นองค์การการบินระดับโลก ที่มีความเป็นมืออาชีพเป็นอย่างมาก จึงควรยึดมั่นในความเป็นกลาง และไม่ปล่อยให้มีการแทรกแซงทางการเมือง พร้อมทั้งร่วมต่อต้านแรงกดดันทางการเมือง จากประเทศมหาอำนาจเพียงประเทศเดียว โดยเร่งหาวิธีที่เหมาะสม ในการยอมรับให้ไต้หวัน เข้ามีส่วนร่วมในเครือข่ายความปลอดภัยด้านการบินระดับโลก อันจะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมาย “น่านฟ้าไร้รอยต่อ” (seamless sky) และ “ร่วมใจสามัคคีในการบิน” (uniting aviation) ขององค์การฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรม