เมื่อวันที่ 2 ต.ค. สำนักงานตัวแทนไต้หวันในไทย และสมาคมนักธุรกิจไต้หวันในไทย ได้ร่วมจัดการสัมมนาขึ้นที่สำนักงานฯ เพื่อร่วมหารือกันในประเด็นโอกาสธุรกิจในอาเซียน (ภาพจากสำนักงานตัวแทนไต้หวันในไทย)
สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย วันที่ 4 ต.ค. 62
เพื่อผลักดันนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของรัฐบาลไต้หวันอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้นักธุรกิจไต้หวันเข้าไปตั้งฐานธุรกิจในประเทศอาเซียนทางตอนบนอย่างประเทศไทยและเมียนมา ที่มีข้อได้เปรียบด้านการผลิตและแรงงาน เพื่อก่อให้เกิดเป็นการรวมตัวของอุตสาหกรรมไต้หวัน – ไทย ทางสำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศไทย และสมาคมนักธุรกิจไต้หวันในไทย (Thai - Taiwan Business Association) จึงได้ร่วมกันจัดการสัมมนา ภายใต้หัวข้อ “ลงทุนสู่ประเทศมุ่งใต้ใหม่ - แบ่งปันโอกาสการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม” ขึ้นเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา ณ อาคารสำนักงานฯ
ดร. ถงเจิ้นหยวน ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย กล่าวขณะปราศรัยในพิธีเปิดว่า ในปัจจุบัน นักธุรกิจไต้หวันสามารถหาโอกาสทางธุรกิจ จากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจไทย 4.0 และนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวัน รวมถึงสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ ที่ร้อนระอุขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ต่อโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทางสำนักงานฯ กำลังเร่งดำเนินการช่วยเหลือนักธุรกิจไต้หวัน ให้ขยายฐานธุรกิจไปสู่ประเทศอาเซียน ซึ่งรวมไปถึงตลาดประเทศเศรษฐกิจใหม่ เช่น ไทยและเมียนมา ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของสำนักงานตัวแทนไต้หวันในไทยในขณะนีั้
การสัมมนาในครั้งนี้ ได้เชิญตัวแทนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเดินทางมาเข้าร่วมอภิปราย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand , BOI) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (Industrial Estate Authority of Thailand , IEAT) และหน่วยงานอื่นๆ ที่กำกับดูแลด้านการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ในส่วนของภาคเอกชน ได้เชิญตัวแทนนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะในหลายพื้นที่ อาทิ อมตะนคร (AMATA) บางปู (Bangpoo) และยามาโตะ (YAMATO) ของไต้หวัน รวมถึงโครงการสวนอุตสาหกรรมของไทย (ACIP) นอกจากนี้ยังได้เชิญตัวแทนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ Yangon Htantabin Technology Park ที่ตั้งอยู่ในเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา มาร่วมบรรยายและแบ่งปันประสบการณ์การลงทุนในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักธุรกิจไต้หวัน ที่มีความสนใจด้านการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม โดยในการสัมมนาครั้งนี้ มีตัวแทนสมาคมนักธุรกิจไต้หวันในไทย และผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจไต้หวันในไทย ได้เดินทางมาเข้าร่วม รวมกว่า 60 คน บรรยากาศการแลกเปลี่ยนในงานเป็นไปอย่างคึกคัก
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวางฐานธุรกิจของนักลงทุนชาวไต้หวันหรือชาวจีนโพ้นทะเล และให้ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาต่างๆ กับนักลงทุน อาทิ การจัดตั้งโรงงานในเขตนิคมฯ การว่าจ้างแรงงาน การจดทะเบียนธุรกิจและการบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น ทางสำนักงานตัวแทนไต้หวันในไทย จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ให้คำปรึกษาและบริการด้านการลงทุน” (LINE ID : Taiwan FDI) ซึ่งเป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) จึงขอเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนด้านอุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน – ไทย โดยสามารถร่วมแลกเปลี่ยนด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมในเชิงลึก กับนักธุรกิจชาวไต้หวัน และชาวจีนโพ้นทะเลกว่า 1,400 ราย ซึ่งสำนักงานฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถให้ความช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์ ต่อการตั้งฐานธุรกิจที่ไทย และก่อให้เกิดเป็นการรวมกลุ่มทางอุตสาหกรรมที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไต้หวัน เพื่อยกระดับให้ผลิตภัณฑ์และบริการของไต้หวัน มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้นในเวทีนานาชาติ