ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวันแบ่งปันผลสัมฤทธิ์ในการประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ
2019-10-08

ไต้หวันจัดการประชุมหัวข้อ “จุดประกายศักยภาพของผู้หญิง ในภาคการเกษตรอัจฉริยะ” (Women Sparkling in Smart Agriculture) ในระหว่างการประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ (สำนักงานความเสมอภาคทางเพศ สภาบริหารไต้หวัน)

ไต้หวันจัดการประชุมหัวข้อ “จุดประกายศักยภาพของผู้หญิง ในภาคการเกษตรอัจฉริยะ” (Women Sparkling in Smart Agriculture) ในระหว่างการประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ (สำนักงานความเสมอภาคทางเพศ สภาบริหารไต้หวัน)

สภาบริหาร วันที่ 5 ต.ค. 62

 

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. สำนักงานความเสมอภาคทางเพศ สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า นายหลัวปิ่งเฉิง รมว. ประจำสภาบริหาร ได้เดินทางไปร่วมแบ่งปันผลสัมฤทธิ์ของการเสริมสร้างความเสมอภาคหญิงชาย ให้เป็นกระแสหลักของการพัฒนา (Gender Mainstreaming )และส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ ในการประชุมระดับผู้กำหนดนโยบาย (HLPD) ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประชุมด้านสตรีและเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค)


 

สำนักงานความเสมอภาคทางเพศ แถลงว่า การประชุุมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 ก.ย. - 5 ต.ค. ณ เมืองลาเซเรนา (La Serena) ประเทศชิลี โดย รมว.หลัวฯ ได้นำคณะตัวแทนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ประกอบด้วย คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่สำนักงานความเสมอภาคทางเพศ ตัวแทนกระทรวงเศรษฐการ คณะกรรมการการเกษตร และมูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาสิทธิสตรี เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้


 

เพื่อขยายโอกาสความร่วมมือในเวทีนานาชาติ ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ คณะตัวแทนฯ ได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนระดับทวิภาคีกับตัวแทนประเทศมาเลเซีย นิวซีแลนด์และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ ในแผนแม่บทของไต้หวัน และเรียกร้องให้ประเทศและเขตเศรษฐกิจร่วมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในเชิงลึก


 

สำนักงานความเสมอภาคทางเพศเน้นย้ำว่า ไต้หวันจะผลักดันการพัฒนาและความต้องการของสตรี ในสถานภาพที่แตกต่างกัน ผ่านการประชุมสัมมนาต่างๆ ต่อไป และจะเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ เรื่องค่าตอบแทนจากการทำงาน รวมถึงส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำในองค์กร ตลอดจนร่วมเป็นกระบอกเสียงให้สตรีในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน และการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก นอกจากนี้ ยังนับได้ว่าเป็นการขยายพื้นที่ในเวทีสากลของไต้หวันอีกด้วย