ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
สำนักงานตัวแทนไต้หวันในไทย จัดงานฉลองวันชาติสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ประจำปี 2019 อย่างยิ่งใหญ่อลังการ
2019-10-14

สำนักงานตัวแทนไต้หวันในประเทศไทย ได้จัด “งานฉลองวันชาติสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ประจำปี 2019” ขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยมีดร.ถงเจิ้นหยวนเป็นประธานในพิธี (ภาพจากสำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศไทย)

สำนักงานตัวแทนไต้หวันในประเทศไทย ได้จัด “งานฉลองวันชาติสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ประจำปี 2019” ขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยมีดร.ถงเจิ้นหยวนเป็นประธานในพิธี (ภาพจากสำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศไทย)

สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย วันที่ 10 ต.ค. 62

 

สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ได้จัด “งานฉลองวันชาติสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ประจำปี 2019” ขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม เวลา 18:30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมชั้น 1 ของโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยมีดร.ถงเจิ้นหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทยเป็นประธานในพิธี โดยในงานครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม ที่ประกอบด้วยนักการเมือง ทหารและตำรวจของไทย กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลที่พำนักอาศัยในไทย และสมาคมนักธุรกิจไต้หวันในไทย รวมถึงคณะผู้แทนทางการทูตที่เป็นมิตรกับไต้หวัน ได้เดินทางมาเข้าร่วมงานด้วย


 

ผู้แทนถงฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า สำนักงานตัวแทนไต้หวันในประเทศไทยได้เร่งส่งเสริม “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” อย่างเต็มกำลัง โดยได้บูรณาการทรัพยากรภาครัฐและภาคเอกชนเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดเป็นรูปแบบใหม่ของการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ระหว่างไต้หวัน – ไทย ซึ่งไทยเป็นประเทศที่พร้อมด้วยข้อได้เปรียบหลายประการ จึงถูกจัดให้เป็นประเทศหุ้นส่วนที่สำคัญ ในกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ในขณะที่รัฐบาลไทยก็ได้เร่งผลักดันนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญที่สอดคล้องกับ “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” ของไต้หวัน นอกจากนี้ จากผลกระทบของสงครามการค้าจีน – สหรัฐ ส่งผลให้นักธุรกิจไต้หวันในประเทศจีน ได้พิจารณาย้ายฐานการผลิตออกจากจีน มายังประเทศไทย จึงทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางในการก่อตั้งฐานธุรกิจ ที่ค่อยๆ เพิ่มความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จากแรงขับเคลื่อนทั้ง 3 ประการดังกล่าว ทำให้สำนักงานตัวแทนไต้หวันในไทย เร่งพัฒนาความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน – ไทยอย่างเต็มที่ โดยในช่วงที่ผ่านมานี้ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ตัวแทนบริษัท Sinotech Engineering Consultants Ltd. และบริษัทอมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซึ่งนับเป็นการประกาศว่า การแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวัน – ไทย ได้ก้าวเข้าสู่ “การพัฒนาความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วน ระหว่างไต้หวัน – ไทย” ในรูปแบบใหม่แล้ว


 

ผู้แทนถงฯ เน้นย้ำว่า การยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ไทย สามารถเห็นได้จากความร่วมมือระหว่างกันทั้ง 5 ประการ ดังต่อไปนี้ (1) ด้านการท่องเที่ยว ตราบจนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไต้หวัน มีจำนวนกว่า 2.5 แสนคน ขยายตัวร้อยละ 29 จากปีที่แล้ว (2) ด้านการศึกษา นักศึกษาไต้หวันที่ได้รับทุนรัฐบาล ในการเดินทางไปแลกเปลี่ยนยัง 18 ประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ มีจำนวน 6 ใน 10 คนที่เลือกเดินทางไปแลกเปลี่ยนยังประเทศไทย จึงจะเห็นได้ว่า นักศึกษาไต้หวันให้ความสำคัญกับข้อได้เปรียบทางการศึกษาของไทยในอาเซียน (3) ความร่วมมือทางการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรระหว่างไต้หวัน – ไทยในปัจจุบัน ได้มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างต่อเนื่อง ในด้านผลิตผลพืชสวน การป้องกันกำจัดวัชพืช และการขยายพันธุ์พืช นอกจากนี้ สถาบันวิจัยทางการเกษตรไต้หวัน ศูนย์พืชผักโลก และสมาคมพัฒนาเมล็ดพันธุ์แห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ทำการสาธิตทดลองเพาะปลูกพืชผักเมล็ดพันธุ์ของไต้หวันในไทยสำเร็จ เพื่อช่วยผู้ประกอบการเมล็ดพันธุ์ไต้หวัน รุกเข้าสู่ตลาดประเทศไทยได้เร็วขึ้น (4) ด้านการลงทุน ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ยอดการลงทุนที่ธุรกิจไต้หวันยื่นขอต่อหน่วยงานไทย มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 211 ส่วนด้านการลงทุนของไทย เมื่อปีที่แล้ว นักธุรกิจไทยได้มาลงทุนในไต้หวันมากขึ้น โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 942 นับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ก็ยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกร้อยละ 88.8 (5) เมืองอัจฉริยะ ในปีนี้ตัวแทนบริษัท Sinotech Engineering Consultants Ltd. และบริษัทอมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการสร้าง “เมืองอัจฉริยะไทเป ในอมตะนคร” (Taipei Smart City @ AMATA) ซึ่งในอนาคต ผู้ประกอบการรับเหมาวางระบบอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ (System Integrator) ของไต้หวัน จะสามารถเข้าไปตั้งฐานธุรกิจ เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ให้เป็นสถานที่ต้นแบบของเมืองอัจฉริยะแบบไต้หวัน กล่าวโดยสรุปแล้ว ผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – ไทย ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน โดยนอกจากสำนักงานฯ จะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันในเชิงลึกต่อไปแล้ว ก็จะเร่งกระชับมิตรภาพภาคประชาชน ด้วยการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมต่อไปด้วยเช่นกัน


 

หัวข้อกิจกรรมในค่ำคืนแห่งการเฉลิมฉลองปีนี้ คือ “การแสดงดนตรีไต้หวัน เพื่อเฉลิมฉลองวันชาติไต้หวัน” สำนักงานตัวแทนไต้หวันในไทยได้เชิญกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลรายสำคัญในพื้นที่ คณะวงดนตรี และผู้เข้าร่วมการประกวดร้องเพลง ที่คว้าเหรียญทองและเหรียญทองแดง มาร่วมจัดการแสดงในงาน ทั้งนี้ เพื่อถ่ายทอดให้แขกผู้มีเกียรติชาวไทยในงาน ได้สัมผัสกับการพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรมไต้หวัน ผ่านมุมมองของบทเพลง ในขณะเดียวกันก็เป็นการร่วมย้อนรำลึกถึงเพลงไต้หวันซึ่งเหล่าชาวจีนโพ้นทะเลที่พำนักอาศัยในไทยมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี ทั้งนี้ บรรยากาศการแลกเปลี่ยนในงานเป็นไปอย่างคึกคัก รวมถึงคอนเสิร์ตที่จัดแสดงขึ้น ต่างได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากแขกผู้มีเกียรติในงานด้วยเช่นกัน