ศูนย์รับมือภัยพิบัติย้ำเตือนประชาชนชาวไต้หวันที่เดินทางออกนอกประเทศให้ระมัดระวัง ห้ามนำผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ทุกชนิดเข้าสู่ไต้หวัน เพื่อหลีกเลี่ยงในการละเมิดกฎข้อบังคับ (ภาพจาก CNA)
ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย วันที่ 9 ต.ค. 62
เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ศูนย์รับมือภัยพิบัติจากโรคอหิวาต์แอฟริกาของไต้หวัน ได้จัดการประชุมครั้งที่ 13 ขึ้นเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยนายเฉินจี๋จ้ง ประธานคณะกรรมการการเกษตรสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์รับมือภัยพิบัติ แถลงว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค ASF ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเป็นต้นมา ฟาร์มเลี้ยงสุกรทั่วทุกพื้นที่ในไต้หวันได้เร่งตรวจสอบเศษอาหารเหลือจากครัวเรือนอย่างละเอียด อีกทั้งได้ปรับเปลี่ยนอาหารที่ใช้เลี้ยงสุกร แต่ในช่วงที่ผ่านมานี้ คกก.การเกษตรได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ ซึ่งพบว่า มีฟาร์มเลี้ยงสุกร 61 แห่งที่คาดว่ายังคงใช้เศษอาหารเหลือจากครัวเรือนในการเลี้ยงสุกร ซึ่งจะกำชับให้ทบวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเร่งตรวจสอบและลงโทษ ภายในสัปดาห์นี้
ศูนย์รับมือภัยพิบัติแถลงว่า ตราบจนถึงวันที่ 8 ต.ค. ประเทศในภูมิภาคเอเชีย อาทิ มองโกเลีย จีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ติมอร์-เลสเต รวมถึง 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ได้รายงานสถานการณ์การระบาดของโรค ASF ต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) โดยศูนย์รับมือภัยพิบัติแถลงว่า จะจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับนานาชาติอย่างใกล้ชิด และจะปรับมาตรการที่เกี่ยวข้อง ในการควบคุมทางศุลกากร ตามสถานการณ์ล่าสุด
ศูนย์รับมือภัยพิบัติระบุว่า รถบรรทุกที่ใช้ขนส่งสุกรที่ยังมีชีวิตและชิ้นส่วนสุกร ควรติดตั้งระบบ GPS เพื่อสะดวกในการติดตาม ซึ่งปัจจุบันมีรถบรรทุกทั้งหมด 3,128 คัน โดยในจำนวนนี้ มีรถบรรทุกที่ติดตั้งระบบดังกล่าวแล้ว 2,984 คัน จึงขอเรียกร้องให้เจ้าของรถบรรทุกที่ยังไม่ได้ติดตั้ง เร่งทำการติดตั้งโดยเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษปรับเงิน และหากปล่อยไว้นานวัน อาจทำให้เกิดช่องโหว่ในการป้องกันการแพร่ระบาดได้
ศูนย์รับมือภัยพิบัติเผยว่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีผู้ละเมิดกฎข้อบังคับ ลักลอบนำผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของเนื้อสุกรเข้าสู่ไต้หวัน ถูกสั่งปรับเป็นเงิน 2 แสนเหรียญไต้หวัน จำนวน 88 ราย โดยในเดือนก.ย. ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ตรวจสอบพบเชื้อ ASF เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำเข้ามาจากเวียดนาม 4 ชิ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.39 และอีก 17 ชิ้นที่ถูกนำเข้ามาจากจีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.18 จะเห็นได้ว่าสัดส่วนที่ตรวจพบเชื้อ ASF ยังคงอยู่ในระดับสูง จึงไม่ควรนิ่งนอนใจกับการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าว ศูนย์รับมือภัยพิบัติย้ำเตือนอีกครั้งว่า ประชาชนชาวไต้หวันที่เดินทางออกนอกประเทศ ควรต้องระมัดระวัง ห้ามนำผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ทุกชนิดเข้าสู่ไต้หวัน เพื่อหลีกเลี่ยงในการละเมิดกฎข้อบังคับ