ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ดร.ถงเจิ้นหยวน ผู้แทนไต้หวันประจำประเทศไทยระบุ ความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไต้หวัน – ไทย แน่นแฟ้นขึ้น สามารถเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันในอนาคต
2019-10-17

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ดร.ถงเจิ้นหยวน ผอญ.สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ซึ่งเป็นผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย และนายคังซู่เต๋อ ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) ได้ไลฟ์สดสนทนากันในประเด็น “สถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางการพัฒนาในอนาคต ด้านการเกษตร ระหว่างไต้หวัน - ไทย” (ภาพจากสำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศไทย)

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ดร.ถงเจิ้นหยวน ผอญ.สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ซึ่งเป็นผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย และนายคังซู่เต๋อ ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) ได้ไลฟ์สดสนทนากันในประเด็น “สถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางการพัฒนาในอนาคต ด้านการเกษตร ระหว่างไต้หวัน - ไทย” (ภาพจากสำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศไทย)

สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย วันที่ 16 ต.ค. 62

 

เมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 11 ต.ค. ดร.ถงเจิ้นหยวน ผอญ.สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ซึ่งเป็นผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย และนายคังซู่เต๋อ หรือ Stanley Kang ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand: JFCCT) ได้ไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Taiwan Thailand Fans สนทนากันในประเด็น “สถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางการพัฒนาในอนาคต ด้านการเกษตร ระหว่างไต้หวัน - ไทย”


 

ดร.ถงฯ ระบุในตอนต้นของการสนทนาว่า ความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไต้หวัน – ไทย มีประวัติความเป็นมายาวนาน ในปี 1973 ไต้หวันได้ตอบรับคำเชิญของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ร่วมผลักดัน “โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ” โดยในทุกปีจะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญทางการเกษตร ลงพื้นที่ภาคเหนือของไทย เพื่อชี้แนะเกษตรกรในพื้นที่ให้ปลูกพืชผักผลไม้และไม้ดอกไม้ประดับ อันเป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ตราบจนปัจจุบัน ทั้งสองประเทศได้ประสานความร่วมมือกันมาเป็นเวลา 46 ปีแล้ว


 

ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทยเผยว่า รัฐบาลไทยได้ริเริ่มผลักดันนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ตั้งแต่ปี 2016 เพื่อช่วยยกระดับและปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมในปัจจุบัน และพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย โดยในปัจจุบันนี้ ไทยมีอุตสาหกรรม 3 ประเภท ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกระดับและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ (1) เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (2) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และ (3) อุตสาหกรรมการแพทย์ โดย 3 ประเภทดังกล่าวนี้ เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยกำลังมุ่งให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของไต้หวัน ดร.ถงฯ ย้ำหนักแน่นว่า ไต้หวันเป็นประเทศเดียวในเขตพื้นที่ที่มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ที่มีเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ล้ำหน้าที่สุด และมีศักยภาพเข้มแข็งเพียงพอที่จะประสานความร่วมมือกับไทย


 

ขณะที่นายคังซู่เต๋อ ประธาน JFCCT ได้แบ่งปันข้อมูลสถิติที่ได้รับมา โดยระบุว่า แม้ประเทศไทยจะมีประชากรที่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก แต่มูลค่าผลผลิตยังมีช่องว่างในการเติบโตได้อีกมาก หากรัฐบาลไทยสามารถเปิดกว้างกว่านี้ ยกระดับความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – ไทยให้สูงขึ้น เชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องของไต้หวัน จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ภาคการเกษตรของไทยเติบโตขึ้น


 

ดร.ถงฯ กล่าวว่า สำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศไทยได้จัดทำคู่มือการบ่มเพาะบุคลากรทางการเกษตรของไทย โดยได้รวบรวมข้อมูลหลักสูตรและทุนการศึกษาของคณะเกษตรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในไต้หวันทั้ง 8 แห่ง เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ของไทย เดินทางไปศึกษาต่อยังไต้หวัน นอกจากนี้หน่วยงานด้านการวิจัยของไต้หวัน 35 แห่ง อาทิ สถาบันวิจัยการเกษตรไต้หวัน สมาคมพัฒนาเมล็ดพันธุ์แห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร ล้วนเป็นข้อได้เปรียบของการแลกเปลี่ยนด้านการเกษตรระหว่างไต้หวัน – ไทย


 

ประธาน JFCCT กล่าวว่า หากความช่วยเหลือและการสนับสนุนของไต้หวัน สามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวไทยให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เชื่อว่าจะเป็นการเสริมสร้างพื้นฐานการสนับสนุนอันแข็งแกร่งของไทยที่มีต่อไต้หวันในอนาคต อีกทั้งไต้หวันกับไทยยังสามารถอาศัยการทูตด้านการเกษตร มาสร้างความประทับใจให้แก่ประชาชนชาวไทยในระดับฐานรากได้อีกด้วย


 

ดร.ถงฯ กล่าวปิดท้ายว่า ไต้หวันนอกจากจะมีเทคโนโลยีการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม ที่เป็นประโยชน์ต่อไทยแล้ว ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ ที่สามารถช่วยให้การเกษตรของไทย ก้าวสู่บริบทใหม่ได้อย่างราบรื่น อาทิ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทางการเกษตร การคุ้มครองระบบนิเวศ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ นอกจากนี้ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของไต้หวันยังมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถถ่ายทอดให้แก่ประเทศไทย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ไต้หวันคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เกษตรกรหรือตัวแทนธุรกิจภาคการเกษตรของไทย จะเดินทางไปแลกเปลี่ยนที่ไต้หวัน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเกษตรแบบต่างตอบแทนระหว่างกันในเชิงลึกสืบไป