ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ให้ยั่งยืนเคียงคู่ไต้หวันตลอดไป
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2019-10-21

ไต้หวันมีวงศ์ปลาผีเสื้อและปลาสินสมุทรมากที่สุดในโลก (ภาพจาก Fish Database of Taiwan)

ไต้หวันมีวงศ์ปลาผีเสื้อและปลาสินสมุทรมากที่สุดในโลก (ภาพจาก Fish Database of Taiwan)
 

บทกวีชื่อ “คุณอยากเป็นนางเงือกไหม?” ผลงานของอวี๋กวงจง (余光中) กวีเอกชาวไต้หวันที่มีชื่อเสียงโด่งดัง พรรณนาไว้ว่า “คุณรู้ไหม? ภูเขาสูงก็ไม่สู้ทะเลลึก คุณรู้ไหม? ผืนแผ่นดินไม่ได้กว้างใหญ่กว่าทะเลที่เวิ้งว้าง คุณรู้ไหม? ความใจกว้างต้องใช้ความอดทนมากเพียงใด คุณรู้ไหม? การให้อภัยต้องฝึกฝนจิตใจอย่างไร คุณรู้ไหม? สมบัติของเทพแห่งท้องทะเลเก็บซ่อนไว้ ณ ที่ใด”

ไต้หวันถูกล้อมรอบด้วยทะเล มีพื้นที่ไม่ถึง 3 ใน 10,000 ส่วนของโลก แต่ทว่า อุดมไปด้วยพันธุ์ปลาทะเลมากถึง 1 ใน 10 ของโลก กระนั้นก็ดี ท้องทะเลได้ส่งสัญญาณเตือนว่า ทรัพยากรทางทะเลกำลังจะเหือดหายมลายสิ้น แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำในทะเลอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ มีเพียงร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างจริงจังเท่านั้น จึงจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างปรองดองและสันติสุข

 

สิ่งมีชีวิตในทะเลบนโลกใบนี้มีประมาณ 220,000-230,000 ชนิด แม้ไต้หวันจะมีพื้นที่เพียงน้อยนิด แต่จากลักษณะภูมิประเทศที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ทำให้ไต้หวันมีสิ่งมีชีวิตในทะเลมากถึง 12,000-13,000 กว่าชนิด
 

เส้ากว่างเจา ผู้เชี่ยวชาญทางทะเล ใช้เวลา 25 ปี ในการก่อตั้ง “คลังข้อมูลพันธุ์ปลาไต้หวัน” (Fish Database of Taiwan) โดยปลาในน่านน้ำไต้หวัน ครองสัดส่วน 1 ใน 10 ของพันธุ์ปลาทั่วโลก

เส้ากว่างเจา ผู้เชี่ยวชาญทางทะเล ใช้เวลา 25 ปี ในการก่อตั้ง “คลังข้อมูลพันธุ์ปลาไต้หวัน” (Fish Database of Taiwan) โดยปลาในน่านน้ำไต้หวัน ครองสัดส่วน 1 ใน 10 ของพันธุ์ปลาทั่วโลก
 

สิ่งมีชีวิตในทะเลไต้หวัน หลากประเภทหลายชนิด

ไต้หวันเป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของหมู่เกาะอินเดียตะวันออกซึ่งมีทรัพยากรสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก และเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทะเลตะวันออก ทะเลจีนใต้ กับทะเลฟิลิปปินส์ อันเป็นระบบนิเวศทางทะเลขนาดใหญ่ (Large Marine Ecosystem, LME) นอกจากนี้ยังเป็นจุดที่กระแสน้ำคูโรชิโอะ (Kuroshio Current) กระแสน้ำชายฝั่งทะเลของจีนแถบมณฑลฮกเกี้ยน-เจ้อเจียง และกระแสน้ำทะเลจีนใต้ไหลเวียนมาบรรจบกัน อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ

เส้ากว่างเจา (邵廣昭) อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ สภาวิจัยแห่งชาติ (Biodiversity Research Center at the Academia Sinica : BRCAS) ของไต้หวัน ใช้เวลา 25 ปีในการจัดทำ “คลังข้อมูลพันธุ์ปลาไต้หวัน” (Fish Database of Taiwan) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีข้อมูลพันธุ์ปลาในน่านน้ำไต้หวันจำนวนทั้งสิ้น 3,200 สายพันธุ์ ครองสัดส่วน 1 ใน 10 ของสายพันธุ์ปลาทั่วโลก ในจำนวนนี้มี 322 สายพันธุ์ที่พบเฉพาะในไต้หวันเท่านั้น

ที่พิเศษกว่านั้นคือ ไต้หวันมีปลาในวงศ์ปลาผีเสื้อและปลาสินสมุทรมากที่สุดในโลก โดยวงศ์ปลาผีเสื้อพบมากถึง 43  สายพันธุ์ จากทั้งหมด 122 สายพันธุ์ ครองสัดส่วน 1 ใน 3 ของโลก ดังนั้นนอกจากได้รับสมญานาม “อาณาจักรแห่งผีเสื้อ” แล้ว ไต้หวันยังถูกขนานนามว่า “อาณาจักรแห่งปลาผีเสื้อ” อีกด้วย

นอกจากมีพันธุ์ปลาหลากหลายชนิดแล้ว แหล่งที่อยู่อาศัยของปลาแต่ละชนิดยังมีเอกลักษณ์พิเศษในแบบฉบับของไต้หวันอีกด้วย เนื่องจากไต้หวันตั้งอยู่บนจุดเชื่อมต่อของเขตร้อนกับกึ่งเขตร้อน ทำให้สิ่งมีชีวิตในน่านน้ำทางภาคเหนือและใต้ต่างกันโดยสิ้นเชิง เส้ากว่างเจายกตัวอย่างว่า “เราจะพบปลากะรังแถบน้ำตาล (Cephalopholis boenak) และปลาสลิดทะเล (Chromis fumea) ในน่านน้ำทางภาคเหนือของไต้หวัน แต่จะไม่พบในน่านน้ำทางภาคใต้เลย ขณะเดียวกัน จะพบปลาไหลสวนจมูกแหลม (Gorgasia taiwanensis) กับปลาทองทะเล (Pseudanthias squamipinnis) ที่น่านน้ำเขิ่นติง แต่จะไม่พบร่องรอยของมันที่น่านน้ำทางภาคเหนือ ทรัพยากรทางทะเลที่หลากหลายเช่นนี้แทบจะไม่มีที่ใดในโลกเสมอเหมือน”
 

ใส่ใจการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในท้องถิ่น อาทิ กิจกรรมชมโลมา สอดคล้องกับหลักการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนของแนวคิด Satoumi

ใส่ใจการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในท้องถิ่น อาทิ กิจกรรมชมโลมา สอดคล้องกับหลักการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนของแนวคิด Satoumi
 

เขตน้ำขึ้นน้ำลงและแนวปะการัง สร้างทัศนียภาพที่ไม่ซ้ำแบบ

ความหลากหลายทางชีวภาพในเขตน้ำขึ้นน้ำลงของไต้หวัน เห็นได้จากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นหาดหิน  หาดโคลน ป่าโกงกางริมทะเล เขตปะการังหินและแนวปะการัง ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตที่มีเอกลักษณ์ ยกตัวอย่างเช่น ระบบนิเวศแนวปะการัง เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ไต้ชางเฟิ่ง (戴昌鳳) ประจำสถาบันวิจัยทางทะเล มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (Institute of Oceanography at National Taiwan University) ซึ่งศึกษาวิจัยแนวปะการังไต้หวันมากว่า 30 ปี เปิดเผยว่า ทั่วโลกมีแนวปะการังประมาณ 1,000 ชนิด น่านน้ำไต้หวันที่มีขนาดเล็กๆ แต่มีแนวปะการังประมาณ 300 ชนิด อาทิ กัลปังหา (Octocorallia) ซึ่งเป็นปะการังที่มีหนวด 8 เส้น เฉพาะที่หมู่เกาะปราตัสพบมากถึง 118 ชนิด ที่เขิ่นติงพบเกือบ 300 ชนิด นับเป็นความมหัศจรรย์ยากจะหาที่ใดในโลกเทียบเคียงได้  อีกทั้งกว่าจะกลายมาเป็นแนวปะการังเล็กๆ ต้องใช้เวลานานนับร้อยปี แนวปะการังที่หายากและสวยงามในน่านน้ำไต้หวันเหล่านี้ บางแห่งมีอายุนับแสนปีเลยทีเดียว

ศ.ไต้ชางเฟิ่งใช้เวลา 2 ปี ในการสำรวจปะการังที่หมู่เกาะปราตัสจนครบถ้วนสมบูรณ์ เขากล่าวว่า เกาะปะการังรูปวงแหวนปราตัส (Pratas Islands atoll) บนเส้นละติจูดที่สูงถึง 20 องศาเหนือ และมีความยาว 25 กม. นับเป็นสิ่งหายากในโลก  หลังผ่านการฟื้นฟูสภาพตามธรรมชาติ ประกอบกับมีการกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองทางทะเลซึ่งช่วยลดการถูกทำลายโดยมนุษย์ ทะเลสาบน้ำเค็มภายในเกาะปะการังวงแหวนและปะการังใต้ทะเลในบริเวณนี้เพิ่มขึ้นจากเมื่อครั้งที่เผชิญกับภัยธรรมชาติได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจนเหลือเพียง 0% ได้เพิ่มขึ้นเป็น 40-50%
 

ภาพ: หวังเวิ่นซง

ภาพ: หวังเวิ่นซง
 

การฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล 3 ขั้นตอน

สาเหตุที่ทรัพยากรทางทะเลถูกทำลาย เกิดจากการทำประมงเกินขนาด (Overfishing) แหล่งที่อยู่อาศัยของปลาถูกทำลาย  มีมลพิษ  ถูกทำลายจากชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่นและประชากรที่มากเกินไป เส้ากว่างเจาเตือนว่า ลูกหลานของเราอาจไม่มีอาหารทะเลให้รับประทานกันอีกต่อไป พร้อมวอนให้รัฐบาลเร่งดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล โดยขั้นตอนแรกคือ “จำกัดการทำประมง” โดยจำกัดอุปกรณ์ทำประมง วิธีทำประมง ระยะเวลาทำประมง รูปแบบการทำประมง  สถานที่ทำประมง และเรือประมง “กระนั้นก็ดี การจำกัดการทำประมงเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ วิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือ กำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine protected areas, MPA) และประชาชนต้องบริโภคปลาอย่างชาญฉลาด  บริโภคอาหารทะเลให้สอดคล้องกับวิธีทำประมงอย่างยั่งยืน”

ปัจจุบันรัฐบาลไต้หวันได้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติทางทะเลปราตัส ไถเจียง และ 4 เกาะตอนใต้ อีกทั้งได้จัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ ทรัพยากรประมงและธรรมชาติริมฝั่งทะเลมากกว่า 100 แห่ง เส้ากว่างเจาเรียกร้องว่า มาตรการที่ใช้ในพื้นที่คุ้มครองฯ มีทั้งการห้ามทำประมง และกำหนดเขตสงวน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่ใช้สำหรับควบคุมการทำประมงเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการอนุรักษ์ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องปฏิบัติการตรวจจับอย่างจริงจัง มิฉะนั้นจะเป็นเพียง “พื้นที่คุ้มครองทางทะเลบนแผ่นกระดาษ” ที่ไม่ได้สร้างประโยชน์อย่างแท้จริง
 

หลังจากเกาะเสี่ยวหลิวฉิวผ่านการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ทำให้เต่าทะเลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น (ภาพ: หลินหมิ่นเซวียน)

หลังจากเกาะเสี่ยวหลิวฉิวผ่านการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ทำให้เต่าทะเลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น (ภาพ: หลินหมิ่นเซวียน)
 

ร่วมกันอนุรักษ์คุณค่าและความงดงามของท้องทะเล

ขั้นตอนต่อไปของการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล คือ ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ย่อมบังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่งดงาม สหกรณ์ประมงหลิวฉิว เมืองผิงตง ยอมเผชิญหน้ากับความเป็นจริง เพราะชาวประมงจำนวนมากแจ้งว่าปลาหลายชนิดที่เคยพบในน่านน้ำรอบๆ เกาะเสี่ยวหลิวฉิว อาทิ ปลาดาบเงินใหญ่ (Trichiurus lepturus) ปลาหางแข็ง (Mega laspis cordyla) ปลาตาหวานหนังบาง (Priacanthus macracanthus) และปลาพระจันทร์ (Mene maculate) ลดลงจากในอดีตมาก ดังนั้นสหกรณ์ฯ จึงออกมาตรการห้ามทำประมงด้วยอวนลากติดตาในรัศมี 3 ไมล์ทะเลรอบเกาะเสี่ยวหลิวฉิวในปีค.ศ.2013  และแนะให้ชาวประมงหันมาทำประมงแบบยั่งยืนโดยการใช้เบ็ดตวัดและเบ็ดราว นอกจากนี้ ยังปฏิบัติการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนปีละกว่า 10 ราย ขณะเดียวกันได้สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาด้วยการวางปะการังเทียมจนประสบความสำเร็จในการรักษาทรัพยากรทางทะเล

หลี่อี้ลี่ (李益利) เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สหกรณ์ประมงหลิวฉิว เปิดเผยว่า เนื่องจากอวนลากติดตาเป็นอันตรายต่อเต่าทะเล หลังห้ามทำประมงโดยใช้อวนติดตาแล้ว นักประดาน้ำสามารถพบเห็นเต่าทะเลมากขึ้น แม้แต่เต่าตนุก็ว่ายมาทักทาย ปลาดาบเงินใหญ่ที่ชาวประมงจับได้ก็ตัวใหญ่ขึ้น แต่ละตัวหนัก 2-3 กก.จากเดิมหนักประมาณ 1-2 กก. ทำให้ขายได้ราคาดีขึ้น เทศบาลเมืองจินเหมิน (金門縣政府) ได้จัดตั้งเขตรักษาพันธุ์แมงดาทะเลกู่หนิงโถว (古寧頭) ที่บริเวณเขตน้ำขึ้นน้ำลงในทะเลฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์แมงดาทะเลซึ่งเป็นสัตว์โบราณที่อาศัยอยู่บนโลกนี้ตั้งแต่เมื่อ 400 ล้านปีที่แล้ว ถูกขนานนามว่า “ฟอสซิลที่มีชีวิตบนชายหาด”  เนื่องจากเมื่อแมงดาตัวผู้กับตัวเมียจับคู่กันแล้ว มันจะไม่แยกร่างออกจากกันอีกเลยจนชั่วชีวิต ดังนั้นแมงดาทะเลจึงได้รับสมญานามว่า “ปลาผัวเมีย” อีกด้วย เมื่อ 50 ปีที่แล้ว พบแมงดาทะเลมากมายตามแนวชายฝั่งของไต้หวัน  แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมแปรเปลี่ยนไป ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาไม่พบร่องรอยของแมงดาทะเลในแถบชายฝั่งด้านตะวันตกอีกเลย

สถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำจินเหมิน ได้จัดหาสถานที่ “วางไข่และกกไข่” ให้แมงดาทะเลที่มักประสบปัญหาในการวางไข่  จากนั้นจึงนำตัวอ่อนไปปล่อยคืนสู่ท้องทะเล ทำให้ลูกแมงดาเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ที่ชายหาดสงซือเป่า (雄獅堡海灘) ซึ่งไม่ใช่สถานที่ปล่อยลูกแมงดากลับลงทะเล แต่กลับพบร่องรอยของแมงดาทะเลที่โตเต็มที่ขึ้นมาวางไข่บนบก
 

Fภาพจากดาวเทียมแสดงให้เห็นเกาะปะการังรูปวงแหวน ปราตัส (Pratas Islands atoll) ที่มีความยาวถึง 25 กม. พบเห็นได้ยากในโลก (ภาพจาก ศ.ไต้ชางเฟิ่ง)

ภาพจากดาวเทียมแสดงให้เห็นเกาะปะการังรูปวงแหวน ปราตัส (Pratas Islands atoll) ที่มีความยาวถึง 25 กม. พบเห็นได้ยากในโลก (ภาพจาก ศ.ไต้ชางเฟิ่ง)
 

ซีฟู้ดไกด์ เพื่อการบริโภคอาหารทะเลอย่างยั่งยืน

การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลขั้นตอนที่ 3 คือ การสร้างจิตสำนึกให้แก่ผู้บริโภค เส้ากว่างเจาได้ผลักดัน”ซีฟู้ดไกด์ ไต้หวัน” (Seafood Guide Taiwan) โดยเรียกร้องให้ผู้บริโภคเลิกรับประทานปลาในแนวปะการัง อาทิ ปลาทูน่า และปลาฉลามวาฬ  ซึ่งได้จากการทำประมงที่มากเกินกำลังผลิตของสัตว์น้ำหรือการประมงที่ทำลายระบบนิเวศ แต่ให้หันมารับประทานปลาซันมะ ปลานิล ปลานวลจันทร์ทะเล และกุ้งซากุระ ที่มาจากบ่อเลี้ยงปลาที่มีระบบการบริหารที่ดี ตลอดจนเพิ่มการบริโภคปลาสายพันธุ์ที่มีการอพยพย้ายถิ่นเป็นฤดูกาล ปลาที่เพาะเลี้ยงได้ และสัตว์น้ำลำดับล่างสุดในห่วงโซ่อาหาร  เลิกซื้อปลานักล่าขนาดใหญ่ หรือปลาหายาก

Upwelling ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารทะเลไต้หวัน ริเริ่มจัดทำดัชนีความรับผิดชอบด้านประมง (Responsible Fishery Index) หรือดัชนี RFI ในปีค.ศ.2015  โดยยึดตามหลักจรรยาบรรณว่าด้วยการทำประมงอย่างรับผิดชอบ (FAOs Code of Conduct for Responsible Fisheries: CCRF) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และสภาพแวดล้อมด้านการประมงของไต้หวัน กำหนดค่าดัชนี RFI จากมาตรฐานด้านต่างๆ อาทิ ปริมาณปลาที่มากเพียงพอ การทำประมงอย่างถูกกฎหมาย ศักยภาพด้านการเพาะพันธุ์ปลา และผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ค่าดัชนี RFI แหล่งที่มาและกรรมวิธีการผลิต มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกซื้อปลา
 

ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทำให้ฟองน้ำทะเลปล่อยไข่ออกมา (ภาพ: หวังเวิ่นซง)

ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทำให้ฟองน้ำทะเลปล่อยไข่ออกมา (ภาพ: หวังเวิ่นซง)
 

Satoumi แนวคิดใหม่ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล

ผลสัมฤทธิ์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของเกาะเสี่ยวหลิวฉิวและเมืองจีหลงได้ช่วยฟื้นฟูความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพทางทะเล ขณะเดียวกันได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศหรือค่านิยมด้านการท่องเที่ยวมากกว่าการจับปลาเพื่อนำมาใช้เป็นอาหาร และยังสอดคล้องกับหลักการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนอีกด้วย อีกทั้งยังขานรับแนวคิด Satoumi ของญี่ปุ่น ที่มีการผลักดันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนกลายเป็นกระแสความนิยมในปัจจุบัน

เส้ากว่างเจายกตัวอย่าง การให้นักท่องเที่ยวลองสัมผัสกับการนั่งเกวียนที่ใช้วัวลากเพื่อไปเก็บหอยนางรม หรือการแคะหอยนางรมสด ที่ตำบลฟางหย่วน (芳苑) เมืองจางฮั่ว (彰化) ซึ่งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่นำมาใช้โปรโมทเพื่อพลิกโฉมการท่องเที่ยวในหมู่บ้านชาวประมง มูลนิธิเพื่อการศึกษากระแสน้ำคูโรชิโอะ (Kuroshio Ocean Education Foundation) และสมาพันธ์อนุรักษ์ปลามัตสุ (Matsu Fish Conservation Union) ร่วมกันผลักดันการอนุรักษ์วาฬและโลมาหลังโหนก การคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำเกาเหม่ยและอ๋าวกู่ ทำให้ผู้คนยังสามารถชมวาฬ และเที่ยวพื้นที่ชุ่มน้ำกันได้อีกต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้คือ หลักปฏิบัติของแนวคิด Satoumi นั่นเอง

ความมุ่งมั่นที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างปรองดอง และคุ้มครองความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพทางทะเล จะช่วยให้ทรัพยากรทางทะเลคงอยู่ชั่วกาลนาน และทำให้ชนรุ่นหลังสามารถขับขานบทกวีที่เกี่ยวกับท้องทะเล ของกวีเอกอวี๋กวงจงบทนี้ต่อไปตราบชั่วนิจนิรันดร์

มวลหมู่ปะการัง หอยมุก

ดอกไม้ทะเล ปลาดาว 

แมงกะพรุน ดำผุดดำว่าย

ฉลามกับโลมา เวียนวนกลางสายชล มากมายสุดคณานับ

ไดโนเสาร์บนบกดับสลายกลายเป็นซากฟอสซิล

แต่วาฬหลังค่อมกับวาฬหัวทุย ยังโผล่ครีบมหึมา

กลางมหานที

รับลม พ่นน้ำ ตระการตายิ่งนัก

……

ผืนหญ้าใต้ท้องทะเล

โลกแห่งสัตว์น้ำ

ทัศนียภาพใต้ท้องทะเลงดงามสุดพรรณนา