ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย รัฐผนึกกำลังเอกชน เพื่อการประมงอย่างยั่งยืน
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2019-10-28

ไต้หวันเริ่มพัฒนาการประมงนอกน่านน้ำมาตั้งแต่ยุค 1970 มีบทบาทสำคัญต่อการทำประมงในเขตทะเลหลวงของโลก

ไต้หวันเริ่มพัฒนาการประมงนอกน่านน้ำมาตั้งแต่ยุค 1970 มีบทบาทสำคัญต่อการทำประมงในเขตทะเลหลวงของโลก
 

ไต้หวันเป็น 1 ใน 6 ประเทศ ที่สามารถจับสัตว์น้ำในน่านน้ำสากลได้มากที่สุดในโลก แต่ละปีมีผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไม่น้อยกว่า 7 แสนตัน โดยมีสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณที่จับได้ทั้งหมด สร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 30,000 ล้านเหรียญไต้หวัน

คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ประกาศปลดสถานะใบเหลืองของภาคประมงไต้หวันเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา และในเดือนกรกฎาคมถัดมา ไต้หวันได้เข้าเป็นภาคีความตกลงการทำการประมงสำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement : SIOFA) ทำให้ไต้หวันสามารถมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงในเขตมหาสมุทรอินเดียให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

เนื่องจากทรัพยากรประมงมีปริมาณลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไต้หวันซึ่งเกิดความวิตกกังวลต่อประเด็นดังกล่าว จึงประกาศบังคับใช้กฎหมายการทำประมงนอกน่านน้ำ 3 ฉบับ ที่มีมาตรฐานเข้มงวดเทียบเท่ากับสหภาพยุโรป เพื่อต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อนานาชาติอย่างเต็มที่ในฐานะประเทศที่มีอุตสาหกรรมการประมงขนาดใหญ่ รวมถึงความมุ่งมั่นที่ต้องการจะอนุรักษ์มหาสมุทร

 

ช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศยามเช้าบริเวณท่าเทียบเรือประมงฝั่งตะวันตกของท่าเรือเฉียนเจิ้น (前鎮漁港) ของนครเกาสง (高雄市) มีลมพัดเย็นสบาย รอเวลาที่ตลาดเช้าวาย เรือขนถ่ายสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่บรรทุกสินค้าสัตว์น้ำจากเรือประมงไต้หวันราว 24 ลำ มีน้ำหนักสินค้ากว่า 998 ตัน จากเกาะมอริเชียสและมหาสมุทรอินเดีย เตรียมที่จะทำการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือแห่งนี้ช่วงเวลาแปดโมงเช้า

ปลาทูน่าตาโตและปลาทูน่าครีบเหลืองที่ผ่านการแช่เย็นภายใต้อุณหภูมิ -50°C ถูกทยอยนำออกจากห้องเก็บสัตว์น้ำที่อยู่บนเรือ เกล็ดน้ำแข็งที่ห่อหุ้มตัวปลากลายเป็นควันสีขาวทันทีที่เจอกับอุณหภูมิ 20°C คนงานขนถ่ายสินค้าใช้ตะขอได้อย่างชำนิชำนาญ ขนย้ายปลาทูน่าตาโตขนาดน้ำหนักหลายสิบกิโลกรัมใส่ในห้องเย็นของรถบรรทุกได้อย่างง่ายดาย หลังผ่านการชั่งน้ำหนักเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็พร้อมที่จะขนส่งต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น
 

สถิติกรมประมงชี้ว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมการประมงขนาดใหญ่ 1 ใน 20 ของโลก โดยท่าสะพานปลาซูอ้าว เป็นฐานสำคัญของการทำประมงนอกน่านน้ำ

สถิติกรมประมงชี้ว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมการประมงขนาดใหญ่ 1 ใน 20 ของโลก โดยท่าสะพานปลาซูอ้าว เป็นฐานสำคัญของการทำประมงนอกน่านน้ำ
 

แนวหน้าปราบปรามการประมงผิดกฎหมาย

ท่ามกลางสายตาที่จับจ้องไปยังสินค้าปลาโดยไม่วอกแวกนั้น นอกจากจะเป็นสายตาของบรรดาผู้ซื้อทั้งหลายแล้ว ยังมีสายตาของเจ้าหน้าที่ของกรมประมงด้วย คุณอี้จื้อเจี้ยน (易智健) ผู้มีประสบการณ์ด้านการตรวจสอบสินค้าประมงมานานกว่า 6-7 ปีคนนี้ คือหัวหน้าทีมฝ่ายตรวจสอบ เขานำเจ้าหน้าที่ในทีมราว 6 คน เดินทางมาถึงท่าเรือแห่งนี้ ก่อนที่เรือขนถ่ายสัตว์น้ำจะเปิดห้องเย็นและเริ่มขนถ่ายสินค้าออกจากเรือ ทีมของเขาติดตั้งกล้องวิดีโอ 2 ชุดเพื่อบันทึกภาพการขนถ่ายสินค้าตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นการขนถ่าย เขาเน้นว่า “เนื่องจากเรือขนถ่ายสินค้าลำนี้บรรทุกสินค้าสัตว์น้ำของเรือประมงไต้หวันจำนวนหลายลำ จึงต้องนำเจ้าหน้าที่มาหลายคน เพื่อให้สามารถตรวจดูการขนถ่ายสินค้าได้อย่างทั่วถึง พวกเราต้องเข้าตรวจสอบห้องเย็นของรถตู้คอนเทนเนอร์และรถบรรทุกแต่ละคัน เราต้องตรวจเช็คว่ารถเหล่านี้มีการชั่งน้ำหนักอย่างถูกต้อง รวมทั้งทำบันทึกว่ามีการจับปลานอกเหนือจากสายพันธุ์ปลาที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เช่น ปลาจากมหาสมุทรแปซิฟิกจะเป็นปลาทูน่าตาโต ส่วนปลาจากมหาสมุทรอินเดียคือปลาทูน่าครีบเหลือง”   

เจ้าหน้าที่จะเริ่มจากการตรวจสอบหมายเลขทะเบียนเรือและชื่อเรือทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษว่าตรงกับเรือขนถ่ายสินค้าที่ได้ขออนุญาตไว้หรือไม่ เพื่อรับประกันว่าไม่มีการแอบสวมสิทธิ์ ขณะที่เจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งจะตรวจสอบประตูห้องเก็บสัตว์น้ำที่อยู่บนเรือว่า ถูกล็อกกุญแจไว้ก่อนที่จะมีการเปิดเพื่อขนถ่ายสินค้า พร้อมทั้งตรวจสอบภายในห้องเก็บสัตว์น้ำว่ามีการลักลอบจับพันธุ์ปลาชนิดอื่นที่ไม่อนุญาตหรือไม่ เช่น ปลาฉลามครีบขาวและปลาฉลามทราย เป็นต้น

หนึ่งปีกว่าก่อนหน้านี้ คุณอี้จื้อเจี้ยนทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์บนเรือของกรมประมง โดยเขาปฏิบัติหน้าที่บนเรือประมงไต้หวันที่ออกไปทำประมงนอกน่านน้ำไต้หวันเป็นเวลานานครึ่งปีถึงหนึ่งปี เขามีหน้าที่เก็บข้อมูลการทำประมงและการขนถ่ายสัตว์น้ำบนเรือประมง ตั้งแต่การวางอวน ลากอวน บันทึกข้อมูลสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เช่น ขนาดความยาวและน้ำหนักของปลาชนิดต่างๆ ซึ่งนอกจากจะนำมาใช้เป็นข้อมูลให้กับแวดวงวิชาการและเป็นข้อมูลด้านสินค้าสัตว์น้ำของอุตสาหกรรมประมงนอกน่านน้ำที่มีความแม่นยำแล้ว ยังนำมาใช้ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรอุตสาหกรรมสัตว์น้ำในมหาสมุทรทั่วโลกอีกด้วย ขณะเดียวกันยังเป็นการเฝ้าระวังตรวจสอบว่าเรือประมงที่มีการทำประมงนอกน่านน้ำของไต้หวันเหล่านี้มีการจับสัตว์น้ำที่ไม่ได้รับอนุญาตโดยไม่ตั้งใจหรือไม่ เช่น นกน้ำหรือเต่าทะเล ตลอดจนมีการขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำโดยผิดกฎหมาย หรือมีการจับปลามากเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตหรือไม่

การขึ้นตรวจบนเรือดูเหมือนจะเป็นการทำให้คุณอี้จื้อเจี้ยนนึกถึงความทรงจำเมื่อครั้งออกปฏิบัติงานในทะเล เขากล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ตรวจสอบทุกคนที่ออกปฏิบัติหน้าที่พร้อมกับเรือประมงเป็นครั้งแรกและต้องออกทะเลราวครึ่งปี กลับขึ้นมาไม่มีสักคนที่น้ำหนักจะไม่ลดลงกว่า 10 กิโลกรัม พวกเราเรียกภารกิจนี้ว่า “คอร์สลดน้ำหนักกลางทะเล หากเป็นคนที่ไม่กลัวน้ำและไม่ใช่คนที่เกลียดทะเลมาแต่อ้อนแต่ออกแล้ว ยามอยู่บนเรือถ้าไม่กินอาหารกระป๋องก็ต้องกินรสเผ็ดหรือไม่ก็ปลาทอด ยิ่งกินยิ่งผอม ที่ขาดไม่ได้และได้กินอยู่บ่อยๆ ก็คือซาซิมิเป็นหม้อๆ (ไม่ใช่แค่จาน) แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นเนื้อปลาที่ปลาฉลามกินเหลือไว้” โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเฝ้าดูการจับปลาในทะเล ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีอันตรายอะไรเกิดขึ้นบ้าง การยืนในตำแหน่งที่ตรงกันข้ามกับกัปตันเรือนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
 

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกำลังตรวจดูการขนถ่ายสัตว์น้ำและการชั่งน้ำหนัก รวมทั้งบันทึกข้อมูลว่าจับปลาเกินกว่าโควตาหรือลักลอบจับปลาที่มีข้อห้ามหรือไม่ ในภาพเป็นปลาทูน่าครีบเหลืองที่เพิ่งนำออกจากห้องเก็บบนเรือ

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกำลังตรวจดูการขนถ่ายสัตว์น้ำและการชั่งน้ำหนัก รวมทั้งบันทึกข้อมูลว่าจับปลาเกินกว่าโควตาหรือลักลอบจับปลาที่มีข้อห้ามหรือไม่ ในภาพเป็นปลาทูน่าครีบเหลืองที่เพิ่งนำออกจากห้องเก็บบนเรือ
 

ทรัพยากรประมงตกอยู่ในภาวะวิกฤต

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและผู้สังเกตการณ์บนเรือถือเป็นเจ้าหน้าที่แนวหน้าในการบังคับใช้กฎหมายของกรมประมง อันเป็นการแสดงถึงความร่วมมือของไต้หวันที่มีต่อองค์กรประมงระหว่างประเทศและสอดคล้องกับแนวโน้มของนานาชาติ โดยเป็นหนึ่งในรูปแบบของการต่อต้านการทำประมง IUU (Illegal, unreported and unregulated fishing หรือการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมพฤติกรรมการจับปลา) ที่เป็นรูปธรรม สิ่งเหล่านี้มีแนวคิดและที่มาจากสภาวะที่ทรัพยากรสัตว์น้ำทะเลตกอยู่ในภาวะวิกฤตทั่วโลก

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในด้านต่างๆ เช่น การค้นหาตำแหน่งด้วยดาวเทียม เครื่องตรวจจับอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับเครื่องมืออุปกรณ์และวิธีการทำประมงที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ปลาชนิดต่างๆ ในทะเล ไม่ว่าจะชนิดไหน ขนาดเท่าไร พันธุ์อะไร โดยเฉพาะปลาที่อาศัยในทะเลระดับกลางน้ำ ไม่สามารถอพยพย้ายถิ่นได้ ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ทั่วโลกมีศักยภาพในการจับปลาเกินกว่าปริมาณปลาที่จับได้ราว 4 เท่า การใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการทำประมง โดยเฉพาะอวนลาก ทำให้ปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว

จากรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization, FAO) พบว่าในช่วงหลายปีมานี้ ร้อยละ 30 ของสินค้าประมงทั่วโลกมาจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย คิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านยูโร (ราว 13,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นับเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงต่อการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนและความหลากหลายทางชีวภาพ การปราบปราม “การประมงผิดกฎหมาย” ได้กลายเป็นเป้าหมายหลักของประชาคมโลกเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรประมงในท้องทะเลอย่างยั่งยืน
 

การขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำมีความเร่งรีบ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบต้องเฝ้าระวังว่ามีการจับสัตว์น้ำมากเกินกว่าโควตาและลักลอบจับสายพันธุ์ปลาคุ้มครองหรือไม่

การขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำมีความเร่งรีบ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบต้องเฝ้าระวังว่ามีการจับสัตว์น้ำมากเกินกว่าโควตาและลักลอบจับสายพันธุ์ปลาคุ้มครองหรือไม่
 

ผู้ผลิตสินค้าประมงยักษ์ใหญ่ของโลก ความรับผิดชอบใหญ่หลวง

จากสถิติของกรมประมง ไต้หวันเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ 1 ใน 20 ของโลก และเป็น 1 ใน 6 ประเทศ ที่ทำประมงนอกน่านน้ำใหญ่ที่สุดของโลก ไต้หวันครองแชมป์เจ้าแห่งการจับปลาซอริจากน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ และปลาทูน่าครีบยาวในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ โดยสามารถจับได้ในปริมาณมากที่สุดในโลก

หวงหงเยี่ยน (黃鴻燕) อธิบดีกรมประมง ปฏิบัติหน้าที่ด้านกิจการประมงนอกน่านน้ำมานานกว่า 30 ปี ชี้ว่า องค์กรประมงระหว่างประเทศจะพิจารณาจากปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมดในการควบคุมการจับปลาอพยพในท้องถิ่น แม้ว่าไต้หวันจะไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ และยังต้องเผชิญกับการกดดันจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่เนื่องจากสินค้าสัตว์น้ำของไต้หวันมีปริมาณมาก องค์กรบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค เช่น คณะกรรมาธิการประมงแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลาง (WCPFC) และคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ของมหาสมุทรแอตแลนติก Tunas (ICCAT) ได้เชิญให้ไต้หวันเข้าร่วมเป็นภาคี ซึ่งไต้หวันมีบทบาทที่สำคัญในองค์กรเหล่านี้เป็นอย่างมาก
 

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบถือเป็นเจ้าหน้าที่แนวหน้าที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายของ กรมประมงในการปราบปรามการประมงผิดกฎหมาย

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบถือเป็นเจ้าหน้าที่แนวหน้าที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายของ กรมประมงในการปราบปรามการประมงผิดกฎหมาย
 

ชาวประมงกล่าวว่า กรมประมงเอาจริง

มาตรการใหม่กำหนดให้เรือประมงนอกน่านน้ำของไต้หวันทุกลำต้องติดตั้งอุปกรณ์การรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการทำประมงในแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-logbook) และต้องมีการรายงานข้อมูลเป็นประจำทุกวัน ซึ่งในช่วงแรกที่มีการใช้มาตรการดังกล่าว ชาวประมงยังไม่ค่อยคุ้นเคย เช่น คุณเฉินจินอี้ (陳金億) วัย 60 กว่าปี กัปตันเรือประมงชื่อ ซินเซิงชิ่ง (欣昇慶) ขนาด 126 ตัน ซึ่งมีประสบการณ์ในการจับปลามานานกว่า 40 ปี เปิดเผยว่า “ผมจบการศึกษาเพียงแค่ชั้นประถมศึกษาเท่านั้น จึงได้มาทำอาชีพจับปลา ใช้คอมพิวเตอร์ก็ไม่เป็น แต่เพราะมีกฎระเบียบใหม่ ผมจึงเริ่มเรียนคอมพิวเตอร์ โดยปกติมักจะมีการลากปลาที่จับได้ขึ้นเรือท่ามกลางคลื่นลมแรงช่วงกลางดึก แล้วยังต้องรายงานข้อมูลการจับปลาผ่านระบบรายงานอิเล็กทรอนิกส์ ผมค่อนข้างเป็นกังวลกับสภาพสายตาผู้สูงวัยของผม หากไม่ทันระวังแล้วกดผิดปุ่ม เช่น จับได้ปลาฉลามครีบขาว แต่กดเป็นปลาฉลามสีเทาซึ่งเป็นสัตว์สงวนคุ้มครอง เมื่อเรือกลับมาถึงไต้หวันจะมีโทษปรับรุนแรง รายได้ที่หามาอย่างยากลำบากกว่า 1 ปี ก็หมดไป

การรายงานข้อมูลสินค้าปลาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่สอดคล้องกับปริมาณการขนถ่ายที่แท้จริง จะถูกปรับตามขนาดเรือประมง โทษปรับที่เบาที่สุดคือ 400,000 เหรียญไต้หวัน โทษปรับหนักที่สุดคือ 2 ล้านเหรียญไต้หวัน หากไม่แจ้งหรือไม่รายงานจะมีโทษปรับตั้งแต่ 100,000 ถึง 2 ล้านเหรียญไต้หวัน เมื่อต้องเผชิญกับโทษปรับที่รุนแรงเช่นนี้ ชาวประมงจึงรู้ดีว่ากรมประมงควบคุมเข้มงวด นายเหอซื่อเจี๋ย (何世杰) เลขาธิการสมาคมการทำประมงเบ็ดราวทูน่าเมืองผิงตง มองว่า ไต้หวันมีจุดแข็งเรื่องการทำประมงนอกน่านน้ำ โดยเฉพาะการทำประมงเบ็ดราวที่ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับความเชี่ยวชาญในการควบคุมต้นทุนและการจัดหาเป็นหลัก เรือประมงนอกน่านน้ำของยุโรปและสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่เป็นเรืออวนขนาดใหญ่ที่มีระบบบริหารจัดการในรูปแบบกลุ่มธุรกิจ จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับไต้หวันในการสร้างรายได้ให้กับประเทศจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ  

กระนั้นก็ตาม การทำประมงนอกน่านน้ำของไต้หวันกลับมีความเข้มงวดมากกว่าของสหภาพยุโรป เหอซื่อเจี๋ยชี้ว่า “บทลงโทษของสหภาพยุโรปต่อผู้กระทำผิดนั้น จะใช้ระบบการบันทึกคะแนน ต่างจากของพวกเราที่มีโทษปรับตั้งแต่ 2 ล้านเหรียญไต้หวัน ไปจนถึงหลายสิบล้านเหรียญไต้หวัน หากพบว่ามีการกระทำผิด ทั่วโลกมีเพียงสหภาพยุโรปและไต้หวันเท่านั้นที่กำหนดให้มีการรายงานตำแหน่งของเรือผ่านระบบดาวเทียมทุกหนึ่งชั่วโมง และต้องรายงานข้อมูลสินค้าปลาทุกวัน ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่และญี่ปุ่นยังไม่มีการใช้วิธีนี้ ไต้หวันกลายเป็นประเทศที่มีระบบการตรวจสอบ ติดตาม และควบคุมการทำประมงที่เข้มงวดมากกว่าสหภาพยุโรป” 
 

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการประมง และการลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย ส่งผลให้เกิดวิกฤตทรัพยากรสัตว์น้ำขาดแคลน ผู้บริโภคจึงต้องซื้อสัตว์น้ำในราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการประมง และการลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย ส่งผลให้เกิดวิกฤตทรัพยากรสัตว์น้ำขาดแคลน ผู้บริโภคจึงต้องซื้อสัตว์น้ำในราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
 

สร้างสมดุลให้กับเศรษฐกิจและการอนุรักษ์มหาสมุทร

อธิบดีกรมประมงหวงหงเยี่ยน ชี้ว่า “ผมทราบดีว่าชาวประมงไม่ค่อยพอใจ แต่เราต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ไม่สามารถที่จะต่อรองได้ การปฏิรูปมักจะผ่านช่วงเวลาที่เจ็บปวด แต่การอนุรักษ์ระบบนิเวศในมหาสมุทรให้เกิดความยั่งยืนเป็นสิ่งที่พลเมืองทุกคนบนโลกใบนี้มีความเห็นพ้องตรงกัน” คณะกรรมการการเกษตรได้เตรียมที่จะจัดตั้ง “คณะทำงานร่วมระหว่างไต้หวันและสหภาพยุโรป เพื่อต่อต้านการทำประมง IUU” และพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป   เป็นจังหวะเดียวกันกับที่คณะกรรมาธิการประมงแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลาง (WCPFC) ประกาศในปี 2561 ว่า ไต้หวันได้รับโควตาปลาทูน่าตาโตจากการทำประมงเบ็ดราวจำนวน 10,481 ตัน เป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากปี 2560 กว่า 806 ตัน แสดงให้เห็นว่าความพยายามต่างๆ ทั้งการให้ความร่วมมือเรื่องโควตาและการเสียสละในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีส่วนช่วยในการฟื้นฟูทรัพยากรให้กลับคืนมา เมื่อร่วมกันพยายามอนุรักษ์มหาสมุทร ทรัพยากรทางทะเลก็ไม่มีวันหมดไป ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ในท้ายที่สุดก็คือประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันกับทะเล เฉกเช่นเดียวกับคำกล่าวในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The End of The Line ที่ดัดแปลงจากผลงานของ Charles Clover ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษ ซึ่งกล่าวไว้ว่า “ชาวประมงไม่ใช่เจ้าของปลาที่อยู่ในทะเล แต่ควรจะเป็นของคนทุกคน”