ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ล่องลอยไปตามทะเล ช่างภาพใต้น้ำผู้เล่าเรื่องราวของทะเล
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2019-11-11

การผจญภัยไปกับวาฬและโลมา เกิดขึ้นได้ที่ใกล้ทะเลชายฝั่งตะวันออกของไต้หวัน

การผจญภัยไปกับวาฬและโลมา เกิดขึ้นได้ที่ใกล้ทะเลชายฝั่งตะวันออกของไต้หวัน
 

มีคำกล่าวที่ว่า คนชอบแมวกับคนชอบสุนัข สื่อถึงบุคลิกสองลักษณะที่แตกต่างกัน แล้วถ้าเป็นคนที่ชอบสัตว์จำพวกวาฬและโลมากับคนชอบเต่าทะเลล่ะ?

เกาะที่ถูกรายล้อมรอบด้วยน้ำทะเล มีสิ่งมีชีวิตใต้น้ำมาอาศัยอยู่จำนวนมากมายนับไม่ถ้วน สิ่งมีชีวิตใต้น้ำเหล่านี้ต้องพึ่งพาท้องทะเลและการมีปฏิสัมพันธ์กับเกาะเพื่อการมีชีวิตรอด อย่างไรก็ตาม ความสวยงามของพวกมันที่ซ่อนอยู่ภายใต้ท้องทะเลลึกกลับไม่เป็นที่ประจักษ์ คงมีเพียงภาพถ่ายใต้ผืนน้ำที่ถูกถ่ายทอดผ่านเลนส์กล้องจากฝีมือของเหล่านักประดาน้ำผู้คุ้นเคยกับท้องทะเลเท่านั้นที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความงดงามเหล่านั้นได้

 

ราวกับพระเจ้าเป็นใจ เราเดินทางมาถึงเมืองฮัวเหลียนขณะที่มีสายฝนโปรยปราย แต่ในวันรุ่งขึ้นท้องฟ้ากลับแจ่มใส รุ่งเช้าสภาพอากาศมีแสงแดดอบอุ่น คุณจินเหล่ย (金磊) ทำหน้าที่เป็นไกด์อาสาสมัคร ยืนคอยนักท่องเที่ยวที่กำลังเดินเรียงแถวขึ้นเรืออยู่บนเรือนำชมวาฬที่จอดเทียบอยู่บริเวณท่าเรือ

เรือลำน้อยแล่นออกจากท่าเรือไปในทะเลไม่ถึง 10 นาที ก็เริ่มเห็นวาฬและโลมาแหวกว่ายไปมา คุณจินเหล่ยยืนอยู่บนหัวเรือพูดอธิบายถึงพฤติกรรมของพวกมันด้วยจังหวะที่ไม่ช้าไม่เร็วจนเกินไป ขณะเดียวกัน ช่วงว่างจากการอธิบาย ก็ไม่ลืมที่จะหยิบกล้องติดเลนส์ถ่ายไกลขึ้นมากดชัตเตอร์
 

ภาพถ่ายใต้น้ำเมื่อเทียบกับการถ่ายภาพเหนือผิวน้ำแล้ว จะทำให้รู้สึกถึงอิริยาบถตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตอย่างใกล้ชิดมากขึ้น (ภาพจาก จินเหล่ย)

ภาพถ่ายใต้น้ำเมื่อเทียบกับการถ่ายภาพเหนือผิวน้ำแล้ว จะทำให้รู้สึกถึงอิริยาบถตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตอย่างใกล้ชิดมากขึ้น (ภาพจาก จินเหล่ย)
 

รอออกเรือในฤดูร้อนของทุกปีที่ฮัวเหลียน

รูปภาพสามารถอธิบายเรื่องราวได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำมาบรรยาย ก็สามารถสื่อถึงความรู้สึกโดยตรง โดยไม่ต้องใช้เสียง

อาจจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ถึงแม้จะไม่รู้จักจินเหล่ย แต่ก็เคยเห็นผลงานรูปถ่ายวาฬและโลมาของเขามานานแล้ว เขาเป็นช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่ถ่ายวาฬและโลมาคนแรกของไต้หวัน บรรดาสัตว์ทะเลที่มีขนาดใหญ่เหล่านี้ เมื่อถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบภาพภายใต้เลนส์ของเขาแล้ว จะกลายเป็นภาพที่เต็มไปด้วยบทกวีและพลังของชีวิต ทำให้นึกถึงภาพยนตร์คลาสสิกเรื่อง เดอะบิ๊กบลู (The Big Blue) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนักประดาน้ำและโลมาของลุค เบสสัน (Luc Besson) ขึ้นมา

ปัจจุบันนี้ เขาใช้เวลาเฉลี่ย 1 ใน 3 ของแต่ละปี อาศัยอยู่ในต่างประเทศ เดินทางไปทั่วทุกมุมโลก ทั้งศรีลังกา ญี่ปุ่น ราชอาณาจักรตองกา นอร์เวย์ และอาร์เจนตินา เป็นต้น เขาเดินทางไปยังสถานที่ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในการชมวาฬทุกแห่ง “แต่ฤดูร้อนของทุกปี ผมจะต้องอยู่ที่ไต้หวันแน่นอน” ชายหนุ่มผู้มีร่างสูงใหญ่กล่าวด้วยน้ำเสียงอันสุขุมนุ่มนวล

ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมของทุกปี เป็นช่วงกลางฤดูร้อนที่ทะเลเงียบสงบและช่วงไฮซีซันของการชมวาฬซึ่งมีเพียงปีละครั้ง ก็เป็นฤดูกาลที่เขารอคอยอย่างใจจดใจจ่อ

จินเหล่ยกล่าวว่า การถ่ายรูปวาฬและโลมาในไต้หวันก็เหมือนกับการเล่นเกมผ่านด่าน ต้องเผชิญกับอุปสรรคและฝ่าฟันไปให้ได้

ทุกครั้งที่เขาได้รับข่าวคราวเกี่ยวกับการปรากฏตัวของวาฬและโลมาในเขตทะเลนอก จากมูลนิธิเพื่อการศึกษากระแสน้ำคูโรชิโอะ (Kuroshio Ocean Education Foundation) หากสภาพอากาศเป็นใจ เขาก็จะติดต่อคนเรือที่คุ้นเคยกันดีหาเวลาว่างออกทะเลเพื่อไปตามหาวาฬ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้หนทางจะยาวไกลเพียงใด แต่ในที่สุดก็พบร่องรอยของ “เป้าหมาย” จนได้ เขาไม่สามารถลงไปใต้น้ำได้ทันที จะต้องสังเกตสถานการณ์และความเร็วในการว่ายของวาฬและโลมาเสียก่อน เพื่อดูว่ามันจะว่ายน้ำหลบหนีหรือดำน้ำลงไปหรือไม่ “สุดท้าย มนุษย์ก็ไม่สามารถว่ายน้ำพิชิตวาฬได้ อย่างเช่น วาฬสเปิร์ม (sperm whale) สามารถดำน้ำลึกได้นานกว่า 100 นาที แม้จะเฝ้ารอจนกว่ามันจะปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง ก็ไม่รู้ว่ามันจะไปปรากฏตัวอยู่ที่ไหน” จินเหล่ยกล่าว

ทุกวินาทีมีค่า ภาพถ่าย 2-3 ใบ ที่ได้จากเสียงลั่นชัตเตอร์ “แชะๆ” สั้นๆ เพียงไม่กี่วินาที มักจะเป็นสัญลักษณ์ของผลงานทั้งหมดที่ตรากตรำทำงานมาตลอดทั้งปี
 

ใต้ท้องทะเลมีทั้งความงดงามและความโหดร้าย ซูไฮว๋ใช้ภาพถ่ายสารคดีในการปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนอนุรักษ์ทะเลมากยิ่งขึ้น (ภาพจาก ซูไฮว๋)

ใต้ท้องทะเลมีทั้งความงดงามและความโหดร้าย ซูไฮว๋ใช้ภาพถ่ายสารคดีในการปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนอนุรักษ์ทะเลมากยิ่งขึ้น (ภาพจาก ซูไฮว๋)
 

ไต้หวันเป็นทั้งบ้านและจุดเริ่มต้น

คงจะจินตนาการได้ว่าการถ่ายภาพวาฬและโลมาใต้น้ำนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก เหตุผลคงไม่ใช่เป็นเพราะไม่มีใครอยากทำ แต่คนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นมีน้อยมาก

นั่นเป็นเพราะว่า “วาฬและโลมาที่พบในไต้หวัน ส่วนใหญ่มักจะว่ายน้ำเป็นทางผ่าน จึงเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วมาก” จินเหล่ยทราบจากการสั่งสมประสบการณ์การถ่ายภาพในต่างประเทศ

เนื่องจากวาฬและโลมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเดียวกับมนุษย์ หลังจากลูกวาฬและลูกโลมาถือกำเนิดขึ้น ยังต้องใช้ระยะเวลายาวนานถึงประมาณ 1 ปีครึ่ง จึงจะหย่านม อย่างเช่น วาฬหลังค่อม (humpback whale) ที่อพยพย้ายถิ่นเพื่อออกลูกและดูแลลูกน้อยของมันในแถบราชอาณาจักรตองกา เนื่องจากระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นยาวนานขึ้น ดังนั้นนอกจากจะอยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างมั่นคงแล้ว มันยังว่ายน้ำด้วยความเนิบช้าเพื่อให้ความเร็วใกล้เคียงกับลูกของมันอีกด้วย

ดังนั้น ถ้าถามจินเหล่ยว่า ในเมื่อการถ่ายภาพวาฬและโลมาใต้น้ำในไต้หวันมีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนต่ำ เพราะเหตุใดเขายังยืนหยัดที่จะทำสิ่งนี้?

เขาตอบโดยไม่ลังเลเลยว่า “เพราะไต้หวันคือบ้าน และเป็นสถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของผม”
 

ภาพถ่ายโลมาปากขวด (bottlenose dolphin) ที่เกาะมิกุระจิมะในญี่ปุ่นของจินเหล่ย เขามักเดินทางไปยังที่ต่างๆ เป็นประจำ พร้อมกล่าวว่า “ผมไปลับฝีมือที่ต่างประเทศ เพื่อที่จะมาใช้ในสนามสอบที่ไต้หวัน” (ภาพจาก จินเหล่ย)

ภาพถ่ายโลมาปากขวด (bottlenose dolphin) ที่เกาะมิกุระจิมะในญี่ปุ่นของจินเหล่ย เขามักเดินทางไปยังที่ต่างๆ เป็นประจำ พร้อมกล่าวว่า “ผมไปลับฝีมือที่ต่างประเทศ เพื่อที่จะมาใช้ในสนามสอบที่ไต้หวัน” (ภาพจาก จินเหล่ย)
 

ปักหลักบนเกาะเสี่ยวหลิวฉิว เพราะที่นี่มีเต่าทะเล

ความยึดมั่นของจินเหล่ย ทำให้ผู้คนนึกถึงเต่าทะเล

เคยได้ยินว่า เต่าทะเลคือสิ่งมีชีวิตที่มีพลังลึกลับ พวกมันมีอายุขัยใกล้เคียงกับมนุษย์ ไม่ว่าพวกมันเติบโตแล้วจะอพยพย้ายถิ่นไปที่ใด มันก็จำได้ว่าต้องกลับมาวางไข่ยังสถานที่ที่พวกมันเกิดเสมอ เพื่อขยายพันธุ์สู่รุ่นต่อไป สิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกผูกพันกับบ้านเกิดเช่นนี้ ช่างเหมือนกับจินเหล่ยเป็นอย่างมาก ที่ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใดในมุมโลก เขาก็ยังเป็นชาวทะเลที่รักและไม่มีวันลืมเลือนไต้หวัน

“คุณเคยได้ยินไหมว่า คนที่มีลักษณะอย่างไร ก็มักจะชอบสัตว์ที่มีลักษณะแบบเดียวกัน?” ซูไฮว๋ (蘇淮) ครูสอนดำน้ำกล่าวเช่นนี้ เขาผู้เรียกตนเองว่า “เจ้าทึ่มของเต่าทะเล” ปัจจุบันใช้เกาะเสี่ยวหลิวฉิว (小琉球) ซึ่งเป็นเกาะที่ห่างออกไปจากตำบลตงกั่งในเมืองผิงตงเป็นฐานปฏิบัติการ นอกเหนือจากการดำน้ำแล้ว เขาก็ไม่ลืมที่จะหยิบกล้องเพื่อถ่ายภาพชีวิตของเต่าทะเลด้วย

เช่นเดียวกับจินเหล่ยที่เรียกหาแต่วาฬและโลมา เต่าทะเลที่ดำผุดดำว่ายไปตามกระแสน้ำอย่างเชื่องช้าเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจซูไฮว๋อย่างสุดซึ้ง

นี่อาจเป็นเพราะเต่าทะเลก็เหมือนกับนักเดินทางที่ไปไหนมาไหนตามลำพัง ท่องเที่ยวไปในโลกกว้างทั่วทุกแห่งหน แต่ท้ายที่สุดภายในใจกลับนึกถึงแต่เส้นทางที่จะเดินทางกลับสู่บ้าน เฉกเช่นเดียวกับที่เขาเป็นอยู่ แม้ซูไฮว๋จะเดินทางท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ ในออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลานานหลายปี แต่ก็ไม่มีที่ไหนที่ซูไฮว๋รู้สึกเหมือนบ้าน ในที่สุด เกาะเต่าทะเลซึ่งไม่มีที่ใดในโลกเสมอเหมือนแห่งนี้ ดึงดูดให้เขากลับมาปักหลักตั้งรกรากยังบ้านเกิดที่นี่

จากประสบการณ์ที่เคยเห็นวิวทิวทัศน์อันสวยงามน่าทึ่งมาไม่น้อย ซูไฮว๋เชื่อว่าทรัพยากรทางทะเลของไต้หวันไม่ด้อยไปกว่าต่างประเทศเลย เพียงแต่ถูกละเลยด้านการบริหารจัดการและไม่ได้รับความสำคัญ เขาและเพื่อนชื่อเฉินเผิงอวี้ (陳芃諭) ได้ก่อตั้ง “สตูดิโอวัฒนธรรมชาวเกาะและทะเล” เพื่อปลุกจิตสำนึกของชาวไต้หวันให้ตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรทางทะเลมากขึ้น

ซูไฮว๋ เป็นหนึ่งในนักประดาน้ำซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่คนที่มี “Sea Turtle Awareness Specialty” หรือใบรับรองนักประดาน้ำผู้เชี่ยวชาญด้านเต่าทะเลในสารบบของสมาคมวิชาชีพครูสอนดำน้ำระดับโลก (Professional Association of Diving Instructors : PADI) เขาเริ่มต้นจากการก้าวสู่อาชีพครูสอนดำน้ำ ก่อนที่จะผันความสนใจมาทำงานเป็นช่างภาพแทนในช่วงไม่กี่ปีมานี้

ความงดงามของน่านน้ำไต้หวัน ความสมบูรณ์และหลากหลายของระบบนิเวศ ความน่าสะพรึงของจำนวนขยะพลาสติกใต้ท้องทะเล ควรจะทำอย่างไรให้ผู้คนรับรู้มากยิ่งขึ้น? “หากจะอาศัยการสอนดำน้ำคงจะช้าเกินไป ยิ่งไปกว่านั้น ครูสอนดำน้ำก็มีจำนวนมาก คงไม่เป็นไรหากขาดผมไปสักคน” ดังนั้น เขาจึงเลือกที่จะหยิบกล้องขึ้นมาและทำให้ทุกๆ มุมของเกาะเสี่ยวหลิวฉิวปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้คน เต่าทะเลแสนน่ารักและพิเศษจึงกลายมาเป็นตัวละครเอกผ่านเลนส์ของเขาโดยอัตโนมัติ
 

ซูไฮว๋ขณะถือกล้องถ่ายรูปกันน้ำ เตรียมพร้อมที่จะลงสู่ใต้ทะเล

ซูไฮว๋ขณะถือกล้องถ่ายรูปกันน้ำ เตรียมพร้อมที่จะลงสู่ใต้ทะเล
 

เกลียวคลื่นทะเลและเกาะที่สวยงาม

จินเหล่ยบอกว่า “ถ้าถามผมและซูไฮว๋ว่ามีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับทะเลของไต้หวัน บอกได้เลยว่า ไต้หวันยอดเยี่ยมสุดๆ ไปเลยล่ะ” เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า “สถานที่ชมวาฬที่ยอดเยี่ยมทุกแห่งบนโลก โดยปกติแล้วจะพบเห็นวาฬเพียงสายพันธุ์เดียว” แต่วาฬและโลมาที่มีอยู่ทั่วโลกมีอยู่เกือบ 90 สายพันธุ์ จากสถิติพบว่าน่านน้ำไต้หวันเคยพบถึง 1 ใน 3 ของสายพันธุ์ทั้งหมด นักท่องเที่ยวที่โดยสารเรือชมวาฬออกจากท่าเรือฮัวเหลียนมักจะได้เห็นมากกว่า 10 สายพันธุ์ ซึ่งในจำนวนนี้มีสัตว์ที่อาศัยในน่านน้ำลึกอย่างโลมาริสโซ (Risso's dolphin) ที่พบเห็นได้ยากอีกด้วย เป็นข้อดีของสภาพภูมิประเทศที่มีลักษณะลาดชันลงไปของชายฝั่งตะวันออก ทำให้มีโอกาสในการพบเห็นพวกมันได้ค่อนข้างสูง

สำหรับเต่าทะเล จากสถิติในปัจจุบันมีทั้งหมด 7 สายพันธุ์ ในไต้หวันมีโอกาสพบเห็นได้ถึง 5 สายพันธุ์ โดยนอกจากเต่าตนุ (green sea turtle) ซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่สามารถพบเห็นที่เกาะเสี่ยวหลิวฉิวได้บ่อยที่สุดแล้ว ยังมีโอกาสพบเห็นเต่ากระ (hawksbill sea turtle) ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ได้มากถึง 90% จินเหล่ยเล่นมุขประกอบว่า "ทั่วโลกไม่มีที่ไหนจะเหมือนที่นี่อีกแล้ว เหยียบไปตรงไหนก็เจอเต่าทะเล"

ดังนั้น รูปถ่ายใต้ท้องทะเลแต่ละใบ นอกจากจะนำมาซึ่งความสำเร็จของพวกเขาในฐานะช่างภาพแล้ว ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือการถ่ายทอดเรื่องราวอีกด้านหนึ่งของท้องทะเลที่ผู้คนไม่เคยรู้

สำหรับมนุษย์แล้ว พวกเขามักจะไม่รู้สึกถึงการสูญเสียในสิ่งที่พวกเขามองไม่เห็นหรือไม่รู้ “แต่มักพบปัญหาวาฬและโลมาติดอวนเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และยังมีชาวประมงบางส่วนที่ละเมิดกฎหมาย ตั้งใจตัดครีบของพวกมันแล้วทิ้งให้พวกมันนอนตายอยู่ใต้ท้องทะเล” จินเหล่ยกล่าว

หากไม่มีใครให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้ มหันตภัยจากการตัดครีบวาฬและโลมาคงจะเงียบสนิท สาธารณชนคงไม่ได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

แต่การไม่รู้ ไม่ได้แปลว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่ ซูไฮว๋โชว์วิดีโอใต้น้ำตอนหนึ่ง เต่าทะเลที่ตกใจกลัวคน มันเข้าใจผิดว่าขยะทะเลเป็นอาหาร ไม่นึกเลยว่ามันจะขับถ่ายอุจจาระออกมาเป็นพลาสติก เหตุการณ์ช่างดูน่าเวทนา โชคดีที่เขายื่นมือเข้าไปช่วย มันจึงรอดตายมาได้

ปัญหาเรื่องการอนุรักษ์ทะเล การแพร่กระจายของพลาสติกในทะเลเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมาก แต่พวกเขาไม่เหมือนกับนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีแต่พร่ำเรียกร้องหาความยุติธรรมและเอาแต่กดดันบีบบังคับผู้อื่น การใช้รูปถ่ายของพวกเขาเป็นวิธีการที่จะให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมแก่ผู้คนได้อย่างตรงไปตรงมาและใกล้ชิดที่สุด สอดแทรกด้วยเจตนารมณ์ที่ดี เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้วิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาโดยไม่ต้องใช้เสียงไปพร้อมกัน