หลินจื่อฉิง นักศึกษา NUK ร่วมระดมสมองกับเยาวชนแต่ละประเทศ ในการคิดค้นปรับปรุงวิถีการตลาดของส้มโอขาวใหญ่ บางสะแก โดยได้รับรางวัลชนะเลิศ “โครงการเยาวชนแลกเปลี่ยนเอเชียแปซิฟิก” (Asia Pacific Youth Exchange, APYE) ในปีนี้มาครอง (ภาพจาก NUK)
NUK วันที่ 1 พ.ย. 62
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. มหาวิทยาลัยแห่งชาติ เกาสง (National University of Kaohsiung, NUK) แถลงว่า หลินจื่อฉิง นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกของ NUK ร่วมระดมสมองกับเยาวชนแต่ละประเทศ ในการคิดค้นปรับปรุงวิถีการตลาดของส้มโอขาวใหญ่ บางสะแก โดยยึดมั่นในรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมไปถึง การสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ ยกระดับชื่อเสียงของหมู่บ้าน จัดวางโปรแกรมการท่องเที่ยวและเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนในที่สุด คณะเยาวชนกลุ่มนี้คว้ารางวัลชนะเลิศ “โครงการเยาวชนแลกเปลี่ยนเอเชียแปซิฟิก” (Asia Pacific Youth Exchange, APYE) ในปีนี้มาครอง
หลินจื่อฉิง เฉียนอี๋โจ้วและหลี่เหวินซิน เป็น 3 นักศึกษา NUK ที่ได้รับคัดเลือกจากทางมหาวิทยาลัย และตัวแทนโครงการ APYE ไต้หวัน และหน่วยงานอื่นๆ โดยในช่วงปิดภาคการศึกษาฤดูร้อนปีนี้ ได้เดินทางเข้าร่วมการฝึกอบรมในโครงการดังกล่าวที่ประเทศไทย ซึ่งได้ร่วมอภิปรายกันในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก กับนักธุรกิจและเยาวชนกว่า 130 คน ที่มาจาก 19 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย
โครงการค่ายฝึกอบรม APYE ร่วมกันจัดขึ้นโดยองค์กรนอกภาครัฐ ที่ประกอบด้วย องค์กร Urban Youth Academy ของเกาหลีใต้ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme, UNDP) โครงการ Thailand Social Innovation Platform ภายใต้ UNDP Thailand และคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Economic And Social Commission For Asia And The Pacific, ESCAP) โดยในทุกปีจะกำหนด 1 เมืองในประเทศต่างๆ และ 1 หัวข้อในการจัดดำเนินการตามโครงการ
ซึ่งหัวข้อในปีนี้คือการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยได้จัดแบ่งผู้เข้าร่วมเป็น 4 กลุ่ม เพื่อเดินทางไปลงพื้นที่ใน 4 ชุมชนที่ต่างกัน ซึ่งต้องพำนักและใช้ชีวิตในชุมชนนั้นๆ เป็นเวลารวม 7 วัน เพื่อสัมผัสกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นในเชิงลึก ซึ่งวันสุดท้ายได้จัดการแข่งขันนำเสนอแผนปรับปรุงพื้นที่ชุมชน
หลินจื่อฉิง เฉียนอี๋โจ้วและหลี่เหวินซิน ถูกจัดให้เข้ามีส่วนร่วมในชุมชนบางสะแก อ.บางคนที ชุมชนเพียรหยดตาล อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม และชุมชนห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ตามลำดับ ในการลงพื้นที่สังเกตการณ์และวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน ประกอบกับการประยุกต์ใช้แนวคิดการออกแบบ และรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และภาวะผู้นำ อันเป็นเป้าหมายของโครงการ
ทีมของหลินจื่อฉิงพบว่า ส้มโอขาวใหญ่ของชุมชนบางกะแส มีคุณภาพยอดเยี่ยม แต่กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก มีเพียงป้ายที่ระบุแหล่งผลิตเท่านั้น ด้วยเหตุนี้กำไรที่ได้จึงมีจำกัด ดังนั้นทีมเยาวชนจึงได้ร่วมคิดค้นแบรนด์ใหม่ ภายใต้ชื่อ “O – pong” ซึ่งไม่เพียงแต่ทำการตลาดเพื่อจำหน่ายผลผลิตส้มโอเท่านั้น แต่ยังต้องการโปรโมทชุมชนบางกะแส โดยการวางโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และนำเปลือกส้มโอ มาสกัดเป็นน้ำยาทำความสะอาด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถยกระดับผลกำไรของเกษตรกรสวนส้มโอ สร้างเอกลักษณ์ในพื้นที่ ตลอดจนเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย