ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
นโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวัน ทำให้คนไทยมารับการรักษาในไต้หวัน เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า
2019-11-18

ตั้งแต่ไต้หวันเริ่มดำเนินนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ในช่วงระหว่างปี 2015 – 2018 จำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางมาเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ที่ไต้หวัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 477 (ภาพจากสำนักงานตัวแทนไต้หวันในไทย)

ตั้งแต่ไต้หวันเริ่มดำเนินนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ในช่วงระหว่างปี 2015 – 2018 จำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางมาเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ที่ไต้หวัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 477 (ภาพจากสำนักงานตัวแทนไต้หวันในไทย)

สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย วันที่ 15 พ.ย. 62


เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (TECO) แถลงว่า นับตั้งแต่ที่มีการดำเนินการตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่เป็นต้นมา ทำให้จำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางมาเข้ารับบริการทางการแพทย์ในไต้หวัน และมูลค่าตลาด เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยจำนวนชาวไทยที่เดินทางมาเข้ารับการบริการ ด้านการแพทย์ระดับนานาชาติ ในไต้หวัน ในช่วงระหว่างปี 2015 – 2018 ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 477


 

โดย TECO ชี้ว่า ตั้งแต่ที่รัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ยกเว้นการตรวจลงตราแก่นักท่องเที่ยวชาวไทย ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จำนวนและอัตราส่วนของชาวไทย ที่เดินทางมาเข้ารับการรักษาในไต้หวัน ล้วนแล้วแต่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2015 มีชาวไทยเดินทางมาเข้ารับการรักษาที่ไต้หวัน มีเพียง 1,220 คนครั้ง แต่ในปี 2016 ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็น 4,881 คนครั้ง และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในปี 2017 เป็น 5,807 คนครั้ง ส่วนในปี 2018 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 7,044 คนครั้ง ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2015 ได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 477 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.7 ของจำนวนชาวต่างชาติทั้งหมด ที่เดินทางมาเข้ารับการรักษาระดับนานาชาติในไต้หวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 1.4 ในปี 2015

 

 

ทั้งนี้ TECO ยังเผยว่า ถึงแม้ว่าการบริการทางการแพทย์ ระดับนานาชาติของไทย จะมีศักยภาพการแข่งขันในระดับสูง หากแต่ค่าใช้จ่ายกลับมากกว่าไต้หวัน 4 – 5 เท่า ประกอบกับระบบบริการสุขภาพของไต้หวันมีความทันสมัย จึงไม่น่าแปลกใจที่สามารถดึงดูดความสนใจ ของมิตรสหายชาวไทยได้

 

 

นอกจากนี้ TECO ยังชี้ว่า หลังจากดำเนินนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ในปี 2016 จำนวนชาวต่างชาติ ที่เดินทางมาเข้ารับการรักษาที่ไต้หวัน และมูลค่าตลาด ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2018 จำนวนชาวต่างชาติและมูลค่าตลาด อยู่ที่ 414,369 คนครั้ง ด้วยมูลค่าตลาดรวม 17,100 ล้านเหรียญไต้หวัน มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับปี 2015 ที่มีจำนวน 305,045 คนครั้ง ด้วยมูลค่ารวม 15,900 ล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นหลักคือ จำนวนผู้ป่วยนอก ที่เพิ่มขึ้นกว่า 114,958 คนครั้ง นอกจากนี้ แผนกผู้ป่วยนอก ที่ชาวต่างชาตินิยมเดินทางมาเข้ารับการรักษาที่ไต้หวัน ในปี 2018 แบ่งเป็น 3 แผนกใหญ่ๆ ได้แก่ แผนกอายุรศาสตร์ ครองสัดส่วนร้อยละ 12.7 สูตินารีเวช ครองสัดส่วนร้อยละ 11.6 และศูนย์ตรวจสุขภาพ ครองสัดส่วนร้อยละ 10.6 ส่วนแผนกผู้ป่วยใน สามารถแบ่งออกเป็นแผนกสูตินารีเวช ครองสัดส่วนร้อยละ 18.4 แผนกห้องผ่าตัด ครองสัดส่วนร้อยละ 16.3 และแผนกอายุรศาสตร์ ครองสัดส่วนร้อยละ 12.3


 

โดย TECO ยังแถลงว่า มาตรฐานการแพทย์ของไต้หวัน ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากนานาชาติ โดยรายการเนชั่นแนล จีโอกราฟิก แชนแนล (National Geographic Channel) จัดให้เทคโนโลยีการแพทย์ไต้หวันครองอันดับ 1 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 3 ของโลก ศาสตราจารย์พอล ครุกแมน (Mr. Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล กล่าวว่า ประสบการณ์ของความสำเร็จ ด้านระบบประกันสุขภาพของไต้หวัน เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ควรนำไปประยุกต์ใช้ในการอ้างอิงเพื่อการเรียนรู้ กล่าวโดยสรุป การบริการด้านการแพทย์ของไต้หวันมีข้อได้เปรียบหลักๆ 6 ประการ ประกอบด้วย คุณภาพชั้นสูง ราคาสมเหตุสมผล การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การบริการที่สร้างความประทับใจ การให้บริการด้านการรักษา ที่ครอบคลุมทุกแผนกอย่างครบถ้วน และมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่เพียบพร้อม นอกจากนี้ ไต้หวันยังถือเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการแพทย์ศัลยกรรม การผ่าตัดเปลี่ยนตับ และการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ ที่ผู้บริจาคประสงค์จะบริจาคอวัยวะขณะยังมีชีวิตอยู่


 

ทั้งนี้ TECO ได้แถลงในตอนท้ายว่า เพื่อประชาสัมพันธ์การบริการด้านการแพทย์ ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพของไต้หวันในประเทศไทย ขอเชิญชวนให้ชาวไต้หวันที่พำนักในไทย และมิตรสหายชาวไทยแอดไลน์ ID : TaiwanMed ซึ่งเป็นศูนย์บริการให้คำปรึกษา ด้านการแพทย์ ระดับนานาชาติของไต้หวันในไทย เพื่อสอบถามข้อมูลการเข้ารับการรักษาที่ไต้หวัน โดยไม่คิดค่าบริการ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลชื่อดัง 13 แห่งที่เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือและคลินิก ผ่านช่องทางการเข้ารับการรักษาสีเขียวทาง LINE เพื่อช่วยจัดระบบการขอเข้ารับบริการด้านการแพทย์ ระดับนานาชาติที่ไต้หวัน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด