ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวันครองอันดับที่ 20 ของโลก จากการจัดอันดับประเทศที่มีความเป็นเลิศด้านบุคลากรของ IMD ปี 2019 ขยับขึ้น 7 อันดับจากปีที่แล้ว
2019-11-19

ไต้หวันครองอันดับที่ 20 ของโลก จากการจัดอันดับประเทศที่มีความเป็นเลิศด้านบุคลากรของ IMD ปี 2019 ขยับขึ้น 7 อันดับจากปีที่แล้ว

ไต้หวันครองอันดับที่ 20 ของโลก จากการจัดอันดับประเทศที่มีความเป็นเลิศด้านบุคลากรของ IMD ปี 2019 ขยับขึ้น 7 อันดับจากปีที่แล้ว

NDC วันที่ 18 พ.ย. 62

 

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. คณะกรรมการพัฒนาแห่งชาติ (National Development Council, NDC) แถลงว่า สถาบัน IMD (International Institute for Management Development) แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เปิดเผยรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีความเป็นเลิศ ในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถ ปี 2019 (IMD World Talent Report 2019) ซึ่งผลการจัดอันดับในปีนี้ปรากฎว่า ไต้หวันครองอันดับที่ 20 จากทั้งหมด 63 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเป็นอันดับที่ดีขึ้น 7 อันดับจากปี 2018 และนับเป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาคเอเชีย รองจากสิงคโปร์ซึ่งอยู่อันดับที่ 10 และฮ่องกงซึ่งอยู่อันดับที่ 15 แซงหน้าเกาหลีซึ่งอยู่อันดับที่ 33 ญี่ปุ่นซึ่งอยู่อันดับที่ 35 และจีนซึ่งอยู่อันดับที่ 42


 

โดย NDC ระบุว่า การจัดอันดับประเทศที่มีความเป็นเลิศ ด้านบุคลากรของ IMD นั้น มีเกณฑ์การพิจารณาทั้งหมด 3 ประการ อันประกอบด้วย “การเตรียมความพร้อมของบุคลากร” “การดึงดูดและรักษาบุคลากรไว้ในประเทศ” และ “การลงทุนและพัฒนาบุคลากร” ซึ่งไต้หวันมีอันดับที่ขยับขึ้นหน้าจากปีที่แล้ว ทั้ง 3 ประการดังกล่าว โดยในจำนวนนี้ “การเตรียมความพร้อมของบุคลากร” ขยับขึ้น 15 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 12 “การดึงดูดและรักษาบุคลากรไว้ในประเทศ” ขยับขึ้น 3 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 29 ส่วน “การลงทุนและพัฒนาบุคลากร” ขยับขึ้น 1 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 24


 

ทั้งนี้ NDC ชี้แจงว่า “การเตรียมความพร้อมของบุคลากร” เป็นการประเมินความเพียงพอของทรัพยากรบุคคลในประเทศนั้นๆ โดยในหมวดนี้ ยังมีดัชนีย่อยอีก 12 ประการ ซึ่งสาเหตุหลักของการที่ไต้หวัน มีอันดับที่ขยับขึ้นจากปีที่แล้ว คือ “การประเมินผลทางการศึกษา (ศูนย์วิจัยแห่งชาติ PISA)” ขึ้นครองอันดับ 2 ของโลก ส่วน “การให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ศึกษาของโรงเรียน” ครองอันดับ 3 ของโลก ทั้งสองประการนี้ ถือเป็นข้อได้เปรียบของไต้หวัน สะท้อนให้เห็นว่าช่วงหลายปีมานี้ รัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เสริมสร้างและชี้แนะการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับนักเรียน รวมถึงได้บ่มเพาะความสามารถ ด้านสะเต็มศึกษา (STEM Education) ให้กับนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญทุกแวดวง ถือเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า ทำไมในช่วงที่ผ่านมานี้ บริษัท Google, Microsoft และบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี จึงเข้ามาจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ไต้หวันกันอย่างคึกคัก


 

NDC แถลงเพิ่มเติมว่า ในด้าน “การดึงดูดและรักษาบุคลากรไว้ในประเทศ” เป็นการประเมินความพยายามของประเทศ ในการดึงดูดและรักษาบุคลากรไว้ในประเทศ โดยแบ่งออกเป็นดัชนีย่อย 11 ประการ สาเหตุหลักของการที่มีอันดับขยับขึ้นมา อยู่ในระดับแนวหน้าในครั้งนี้ คือ “กำลังใจในการทำงานของพนักงานในกลุ่มธุรกิจ” “การลำดับความสำคัญในการดึงดูดและรักษาบุคลากรของบริษัท” และ “ค่าตอบแทนของบุคลากร ในอุตสาหกรรมด้านบริการ” ซึ่งล้วนแล้วแต่ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 8, 7 และ 3 ตามลำดับ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า นับตั้งแต่ที่มีการแก้ไขร่างกฎหมายต่างๆ ในปีที่แล้ว อาทิ “กฎหมายภาษีเงินได้” “กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมอุตสาหกรรม” และ “กฎหมายเกี่ยวกับองค์กรธุรกิจ” และการดำเนินการผ่อนปรนภาษีเงินได้ รวมถึงการเสริมสร้างกลไกการให้รางวัล สำหรับพนักงานองค์กร ได้ถือเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของนโยบาย ว่าด้วยการดึงดูดและรักษาบุคลากรไว้ในประเทศ ซึ่งค่อยๆ เผยให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์อย่างเด่นชัดในปัจจุบัน


 

นอกจากนี้ ในส่วนของ “การลงทุนและพัฒนาบุคลากร” ถือเป็นการประเมินการลงทุน ทางด้านการพัฒนาบุคลากรในประเทศ แบ่งเป็น 9 ดัชนีย่อย โดยในจำนวนนี้ “สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมที่ดี” เป็นข้อได้เปรียบของไต้หวัน ซึ่งสามารถครองอันดับที่ 6 ของโลก ขยับขึ้น 8 อันดับจากปีที่แล้ว แสดงให้เห็นถึง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้านการแพทย์ของไต้หวัน และการพัฒนาด้านแพทยศาสตรศึกษา รวมถึงมาตรฐานสุขาภิบาลสาธารณะโดยรวม อยู่ในเกณฑ์ดี ตลอดจนอุปกรณ์ทั้งด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ ต่างสอดคล้องกับความต้องการของสังคม


 

NDC แถลงปิดท้ายว่า จากผลการจัดอันดับ 3 ประการใหญ่ดังกล่าว พบว่า “การดึงดูดและรักษาบุคลากรไว้ในประเทศ” ยังมีช่องว่างให้พัฒนาได้อีกมาก ในอนาคต รัฐบาลไต้หวันจะเร่งทบทวนและผ่อนปรนข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นของบุคลากรนานาชาติที่มีความเชี่ยวชาญ โดยจะเร่งผลักดัน “ร่างกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองและเศรษฐกิจใหม่” ซึ่งคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถดึงดูดและรักษาบุคลากรไว้ในประเทศได้มากขึ้น เสริมสร้างให้ทรัพยากรบุคคลในประเทศ เกิดความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น