กต.ไต้หวัน เผยแพร่ภาพยนตร์สั้น ชุด “บินลู่ไปตามแรงลม” หวังให้ทั่วโลกประจักษ์ถึงการดำเนินการ ตามกรอบอนุสัญญา UNFCCC ของไต้หวัน อย่างเป็นรูปธรรม
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 25 พ.ย. 62
เมื่อวันที่ 25 พ.ย. กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า การประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 ปี 2019 (COP 25) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 2 ธันวาคม ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน เพื่อต้องการเสียงสนับสนุนจากมิตรประเทศ ไต้หวันจึงได้เรียกร้องให้ที่ประชุมฯ มองเห็นถึงความตั้งใจแน่วแน่ ในการมีส่วนร่วมของชาวไต้หวัน ซึ่งเมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา กต.ไต้หวันได้ผลักดันภาพยนตร์สั้นเพื่อการประชาสัมพันธ์ ภายใต้ชื่อ “บินลู่ไปตามแรงลม” เพื่อต้องการประกาศให้ประชาคมโลกรับทราบ ผ่านการจัดตั้งฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งแห่งแรกของไต้หวัน ว่า นอกจากจะขานรับกับวัตถุประสงค์หลักของ “กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (UNFCCC) แล้ว ไต้หวันยังมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเวทีนานาชาติ และมีส่วนร่วมในการอุทิศตน เพื่อสร้างคุณประโยชน์ที่เกี่ยวข้องให้กับโลกใบนี้ โดยภาพยนตร์สั้น ชุดดังกล่าว ได้จัดทำคำบรรยายเป็นภาษาต่างประเทศ รวม 10 ภาษา ประกอบด้วย ภาษาจีน อังกฤษ ญี่ปุ่น สเปน ฝรั่งเศส เยอรมัน เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย และรัสเซีย ซึ่งได้นำออกเผยแพร่พร้อมกันทุกประเทศแล้ว
ทั้งนี้ กต.ไต้หวันเผยว่า ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ได้บรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับ ธรรมชาติมอบทรัพยากรที่จำเป็น สำหรับการดำรงชีวิตให้แก่มวลมนุษย์ แต่เนื่องจากมนุษย์มีความต้องการทางด้านพลังงานที่มากจนเกินไป ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมโลก แบกรับภาระอันหนักอึ้ง นอกจากนี้ เนื้อหาในภาพยนตร์ยังได้บรรยายให้เห็นถึง เมื่อสภาพภูมิอากาศโลกต้องเผชิญกับแรงกดดันจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไต้หวันซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของประชาคมโลกที่เปี่ยมด้วยความรับผิดชอบ ได้เลือกเดินบนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังสืบไป
การถ่ายทำภาพยนตร์สั้นชุดนี้ ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องในรูปแบบสารคดี ผ่านการสังเกตการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ ประเด็นทางทะเลและพลังงานลมในเชิงลึก ของชาวไต้หวันทั้ง 2 คน โดยใช้มุมมองเหล่านี้ โยงเข้าสู่ความกล้าหาญในการเป็นประเทศแนวหน้าของไต้หวัน ที่ได้สร้างฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งเป็นแห่งแรกขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ส่วนช่วงท้าย ได้นำเสนอภาพซ้อนที่เชื่อมโยงกัน ระหว่างพลังงานสีเขียวและการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงภาพของการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสื่อให้คนทั่วโลกเห็นว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน นอกจากจะเป็นกระแสนิยมของโลกแล้ว ยังเป็นความตั้งใจแน่วแน่ของไต้หวัน ที่กำลังมุ่งพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ให้คงอยู่สืบไปอีกด้วย ซึ่งเป็นการย้ำให้เห็นถึง ข้อเรียกร้องอันหนักแน่น ที่ว่า “ไต้หวันสามารถช่วยรับมือกับ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกได้” (Combating Climate Change – Taiwan Can Help)
ภาพยนตร์สั้นชุดนี้ได้ทำการเผยแพร่ผ่าน Youtube Channel ช่อง Trending Taiwan ของกต.ไต้หวัน เฟซบุ๊กแฟนเพจ Trending Taiwan เฟซบุ๊กแฟนเพจของกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน (Ministry of Foreign Affairs, ROC (Taiwan)) และในอินสตาแกรม (Instagram) จึงขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนประชาชนทุกท่าน รับชมและร่วมแชร์ภาพยนตร์สั้นดังกล่าว