
รพ. CCH และกองการพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนาม MOU ระหว่างกัน (ภาพจาก CCH)
CCH วันที่ 22 พ.ย. 62
เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศไทย ในการเสริมสร้างกำลังบุคลากร และการวางแผนนโยบายในระยะยาว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ โรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียน (Changhua Christian Hospital, CCH) ได้เร่งส่งเสริมความร่วมมือด้านการแพทย์ ระหว่างไต้หวัน – ไทยในเชิงลึก สอดรับกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยได้ตอบรับคำเชิญของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ของไทย เดินทางไปจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ว่าด้วยการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมในระยะยาวที่ประเทศไทย เมื่อระหว่างวันที่ 18 – 19 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยในระหว่างการประชุม นพ. หวังเหวินฝู่ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลลู่กังคริสเตียน วิทยาเขตฉางชิง (Lukang Christian Hospital) ในเมืองจางฮั่ว และคณะตัวแทนรวม 3 คน ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ด้านการเสริมสร้างกลไกในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมของไต้หวัน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
โดย CCH แถลงว่า สืบเนื่องมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในประเทศอาเซียน และความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ส่งผลให้หลายประเทศ ทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ตามรายงานของสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ในปี 2030 ประชากรผู้สูงอายุในไทย จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานการเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โดยสมบูรณ์ ดังนั้น ประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นระบบการดูแล สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ และการส่งเสริมสุขภาพ ต่างถือเป็นทิศทางนโยบายสุขภาพแห่งชาติของไทยในอนาคต
โดย CCH เผยว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมระยะยาวในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 30 กว่าคน ประกอบด้วย ตัวแทนศูนย์ดูแลรายวันในพื้นที่ของไทย กองการพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสนใจต่อ งานด้านการดูแลระยะยาว
นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า แม้ว่าเทียบกับไต้หวันแล้ว การพัฒนาร่างนโยบายด้านการดูแลระยะยาว และความตระหนักต่อสภาวะวิกฤตของไทย จะล่าช้ากว่าไต้หวัน แต่จากการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ คาดว่านอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุรายวันได้เรียนรู้ประสบการณ์จากไต้หวัน อันจะช่วยลดเวลาในการเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก ในขณะเดียวกันก็ทำให้มีปณิธานที่มุ่งมั่นมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ นพ.ขวัญชัย ยังเห็นด้วยกับแนวทางการรักษาของไต้หวัน ที่ประยุกต์ใช้วิธีการบำบัดหลายแง่มุม ในการรักษาผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเป็นแนวทางที่ไทย ควรนำไปประยุกต์ใช้เป็นหลักอ้างอิงในการพัฒนาต่อไปในอนาคต