ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ จัดแสดงศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมของไต้หวัน
2019-12-10

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล (ขวา) ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) มอบของที่ระลึกให้กับ นายซือกั๋วหลง (ซ้าย) อธิบดีกรมมรดกทางวัฒนธรรมของไต้หวัน (ภาพจาก BOCH)

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล (ขวา) ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) มอบของที่ระลึกให้กับ นายซือกั๋วหลง (ซ้าย) อธิบดีกรมมรดกทางวัฒนธรรมของไต้หวัน (ภาพจาก BOCH)

BOCH วันที่ 8 ธ.ค. 62

 

เพื่อส่งเสริมให้งานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมของไต้หวัน ก้าวสู่เวทีนานาชาติ อีกทั้งแสดงให้ทั่วโลกเห็นถึง การสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่สำคัญๆ ของไต้หวัน และผลสัมฤทธิ์ในการสืบทอดงานศิลปหัตถกรรมจากรุ่นสู่รุ่น ตลอดจนเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมระดับนานาชาติ และแนวโน้มการนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน กรมมรดกทางวัฒนธรรม (Bureau of Cultural Heritage, BOCH) กระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ประเทศไทย (Thailand Creative & Design Center, TCDC) จึงได้ร่วมมือกันจัด “งานนิทรรศการพิเศษ ศิลปหัตถกรรมในชีวิตประจำวัน” (Taiwan Daily Living Craft Exhibition) ระหว่างวันที่ 7 – 15 ธ.ค. ณ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ สอดรับกับช่วงเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี


 

ในปี 2017 จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็น "เมืองสร้างสรรค์สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน" (Creative City of Crafts and Folk Art) จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization ) หรือยูเนสโก (UNESCO) และนับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้มีการจัดตั้ง “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่” โดยมุ่งเน้นงานศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น การออกแบบและการโปรโมท ที่นำเอาค่านิยมแบบดั้งเดิม มาผนวกเข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่ ส่งเสริมการสืบสานงานหัตถศิลป์ของไทย และการเจรจาการค้าข้ามพรมแดน โดยในทุกปีได้ดึงดูดช่างฝีมือทุกระดับ ศิลปินและนักออกแบบทั้งในและต่างประเทศ เดินทางมาเข้าร่วม จึงถือได้ว่า เทศกาลดังกล่าวเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมที่สำคัญ ระดับนานาชาติ


 

“เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ปี 2019” จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Lived Well” เพื่อขานรับกับหัวข้อดังกล่าว นิทรรศการงานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมของไต้หวันในครั้งนี้ จึงได้ใช้ทฤษฎีแกนตั้งฉาก โดยนำเอาวิถีชีวิตของคนยุคใหม่มาเป็นแกนตั้ง และกำหนดให้งานศิลปหัตถกรรมที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ เป็นแกนนอน ซึ่งได้เริ่มจากการนำเทคนิคงานหัตถศิลป์แขนงต่างๆ อาทิ การย้อม ทอ ถัก ผูก และปัก เป็นต้น มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการผสมผสาน ระหว่างงานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมของไต้หวัน และการใช้ชีวิตในยุคร่วมสมัย ที่นอกจากจะเป็นการสืบทอดค่านิยมดั้งเดิมแล้ว ยังเป็นการก้าวทันจิตวิญญาณและค่านิยมร่วมสมัย ขณะเดียวกัน ก็คาดหวังว่าจะเป็นการนำเสนอ รูปแบบที่หลากหลายของงานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิม ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของไต้หวัน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม ระหว่างไต้หวัน – ไทยอีกด้วย


 

นิทรรศการในครั้งนี้ จัดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 9 วัน นอกจากการจัดแสดงสินค้าแล้ว ยังได้จำแนกผลงานของช่างหัตถศิลป์ ออกเป็น 6 ประเภทหลัก เพื่อสาธิตเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งหมด 18 รอบ อีกทั้งจัดให้มีกิจกรรมทดลองสัมผัสกับงานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมของไต้หวัน รวม 34 รอบ และกิจกรรมเวิร์คชอปเทคนิคช่างฝีมือ 3 รอบ เพื่อให้ผู้สนใจมีโอกาสลงมือทำงานหัตถกรรมด้วยตนเอง และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมทุกรายการจะสามารถทำให้บรรดาผู้เข้าร่วมงาน สัมผัสได้ถึงหัวใจสำคัญของงานศิลปหัตถกรรมในชีวิตประจำวัน และยังคาดหวังว่า จากการร่วมเสวนาแลกเปลี่ยน ระหว่างผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านงานหัตถศิลป์ ระหว่างไต้หวัน – ไทยในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งแนวคิดและทิศทางใหม่ ในการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิม ของทั้งสองฝ่ายในอนาคตต่อไป