นายอู๋มี่ฉา (ที่ 5 จากขวา) ผู้อำนวยการ NPM และแขกผู้มีเกียรติจากทุกแวดวง เดินทางเข้าร่วมงานแถลงข่าว “A Carnival of Fantasies” ซึ่งจัดขึ้นที่กู้กง สาขาภาคใต้ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา (ภาพจาก NPM)
NPM วันที่ 17 ธ.ค. 62
นิทรรศการพิเศษพิพิธภัณฑ์ศตวรรษที่ 21 “A Carnival of Fantasies” (A Carnival of Fantasies: A Special Exhibition of 21st Century Museums) ที่มีกำหนดจัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (กู้กง) สาขาภาคใต้ (Southern Branch of the National Palace Museum, South.NPM) ได้เปิดฉากขึ้นอย่างอลังการ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ NPM ได้ประสานความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) ของฝรั่งเศส พิพิธภัณท์ศิลปะ เทต โมเดิร์น (Tate Modern) ของอังกฤษ พิพิธภัณฑ์ออแร็งเจอรี (Musee de l'Orangerie) ของฝรั่งเศส พิพิธภัณฑ์อัลเทอ (Alte Museum) ของเยอรมนี มูลนิธิมูชา (Mucha Foundation) ของสาธารณรัฐเช็ก และทีม HTC VIVE Arts ของบริษัท HTC ไต้หวัน ในการสร้างสรรค์นิทรรศการศิลปะ ด้วยเทคโนโลยี VR ระดับชั้นนำของโลก ขึ้นในไต้หวันเป็นครั้งแรก
ขณะเดียวกัน นายอู๋มี่ฉา ผู้อำนวยการ NPM ได้ประกาศวิสัยทัศน์ของกู้กง สาขาภาคใต้ ในการก้าวสู่ยุคดิจิทัล โดยเผยว่า ในปีหน้า กู้กง สาขาภาคใต้มุ่งมั่นที่จะจัดสร้างพื้นที่จัดแสดงในรูปแบบดิจิทัล และจะคัดเลือกผลงานสร้างสรรค์ มาทำการจัดแสดงในโซนดิจิทัล เพื่อมอบความบันเทิงที่ครบรส ให้ผู้สนใจได้รับชมอย่างอิ่มเอมใจ
ทั้งนี้ ผอ. อู๋ฯ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติมาก ที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับพิพิธภัณฑ์ระดับแนวหน้าของโลก อย่างพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ พิพิธภัณท์ศิลปะ เทต โมเดิร์น และพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ในการจัดนิทรรศการพิเศษ A Carnival of Fantasies ขึ้นที่กู้กง สาขาภาคใต้ ถือเป็นการสอดรับกับวิสัยทัศน์การก้าวเข้าสู่ยุดิจิทัลของกู้กง สาขาภาคใต้ อย่างเป็นรูปธรรม
ทาง NPM เผยว่า ภายในนิทรรศการได้แบ่งโซนจัดแสดงออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ “River of Time”, “NPM Voyage”, “the Louvre Station” และ “Aesthetic World” โดยภาพแรกที่ปรากฎขึ้นบนจอภาพ VR คือ “River of Time” ซึ่งได้นำเสนออุโมงค์ข้ามกาลเวลาไปสู่ห้วงอดีต ผ่านภาพเคลื่อนไหว VR เพื่อนำผู้ชมเปิดหน้าประวัติศาสตร์ ในรูปแบบดิจิทัล เมื่อเข้าสู่ช่วงที่สอง “NPM Voyage” ได้นำเสนอเกี่ยวกับคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาทิเบต อัตชีวประวัติของหวยซู่ ซึ่งเป็นงานเขียนพู่กันด้วยอักษรเฉ่าซู และภาพชิงหมิงซ่างเหอถู ซึ่งเป็นภาพวาดทัศนียภาพและวิถีชีวิตผู้คนริมฝั่งแม่น้ำช่วงเทศกาลชิงหมิง ด้วยเทคโนโลยี VR จึงขอเชิญชวนให้ผู้สนใจ ร่วมย้อนระลึกไปกับบรรยากาศที่ปรากฎอยู่ในภาพชิงหมิงซ่างเหอถู เพื่อสัมผัสกับรูปแบบความหลากหลายและความรุ่งโรจน์ในเมืองหลวง สมัยราชวงค์ซ่งเหนือ (Northern Song dynasty)
ไฮไลท์สำคัญที่พลาดไม่ได้เลยคือ “the Louvre Station” ซึ่งไต้หวันเป็นสถานที่เดียวในโลก ที่ได้รับการอนุมัติให้เผยแพร่ผลงาน “Mona Lisa: Beyond the Glass” ด้วยเทคโนโลยี VR ในช่วงเวลาเดียวกันกับพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ เพื่อให้ผู้ชมได้ใกล้ชิดกับภาพวาดโมนา ลิซ่า และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเบื้องหลังรอยยิ้มอันทรงเสน่ห์นั้น ในช่วงสุดท้ายคือ “Aesthetic World” ซึ่งเป็นไคลแมกซ์ของนิทรรศการในครั้งนี้ ซึ่งนอกจากจะรวบรวมผลงานจากพิพิธภัณฑ์ออแร็งเจอรีของฝรั่งเศส พิพิธภัณฑ์ศิลปะ เทต โมเดิร์นของอังกฤษ และพิพิธภัณฑ์อัลเทอของเยอรมนี มารวมไว้ในที่เดียวกันแล้ว ยังได้โปรโมทผลงาน VR ชิ้นใหม่ล่าสุดของมูลนิธิ Mucha เป็นที่แรกในโลก ภายใต้หัวข้อ “The Slavs in Their Original Homeland” เพื่อให้ผู้ชมก้าวข้ามกรอบจำกัด ผจญภัยสู่ห้วงจินตนาการเสมือนจริง พร้อมทำความเข้าใจในมหากาพย์ของกลุ่มชนเชื้อสายสลาฟ และห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ภายใต้การนำเสนอของ Mucha