ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ท่องไปทั่วไต้หวันถ่ายทอดพลังงานบวก Rifat Karlova ผู้มาจากตุรกี
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2019-12-09

Rifat และทีมงานผลิตรายการ iwalker เดินทางขึ้นเขาลงห้วย เพื่อเก็บภาพความสวยงามของสถานที่ต่างๆ ทั่วไต้หวันมาให้ผู้ชมได้รับชม

Rifat และทีมงานผลิตรายการ iwalker เดินทางขึ้นเขาลงห้วย เพื่อเก็บภาพความสวยงามของสถานที่ต่างๆ ทั่วไต้หวันมาให้ผู้ชมได้รับชม
 

Rifat Karlova หรือในชื่อภาษาจีนว่า อู๋ฟ่ง (吳鳳) เป็นชาวตุรกี เขาเคยได้รับรางวัลระฆังทองคำ (Golden Bell Award) ในสาขาพิธีกรรายการท่องเที่ยวยอดเยี่ยม การผันตัวเองจากการเป็นนักเรียนต่างชาติ นักแสดงประกอบ พิธีกรภาคสนาม ลูกเขยไต้หวัน จนกระทั่งวันนี้ได้รับบัตรประชาชนและเป็นพลเมืองไต้หวันโดยสมบูรณ์ การสื่อสารผ่านวิธีการของคุณ Rifat ทำให้คนไต้หวันเข้าใจในความเป็นไต้หวันมากขึ้น พร้อมหันมาร่วมกันสำรวจความงดงามของผืนแผ่นดินแห่งนี้มากขึ้นเช่นกัน

 

หลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ เขาก็พูดขึ้นมาอย่างสุภาพว่า “เพื่อนๆ ขอโทษที่ทำให้ทุกคนรอนาน เพราะนานๆ ทีจึงจะมีเวลาว่าง ก็เลยจัดตารางให้สัมภาษณ์คู่พร้อมกันไปเลย ถือว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว” ช่างเป็นชาวต่างชาติที่พูดสำนวนสุภาษิตจีนออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติจริงๆ
 

งานวัดและงานเทศกาลพื้นบ้าน เป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ Rifat ชื่นชอบมากที่สุด

งานวัดและงานเทศกาลพื้นบ้าน เป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ Rifat ชื่นชอบมากที่สุด
 

มุ่งมั่นมายังไต้หวัน เพื่อสานต่อความฝัน

ในปีค.ศ.2002 Rifat ศึกษาในสาขาวิชาจีนศึกษา ที่มหาวิทยาลัยอังการา ประเทศตุรกี ตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 ก็ตัดสินใจว่าจะต้องขอทุนการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน เพื่อเดินทางมาศึกษาต่อยังไต้หวันให้ได้ และเพื่อสร้างความเข้าใจถึงเรื่องราวต่างๆ ในไต้หวัน Rifat จึงเดินเข้าไปสำนักตัวแทนไต้หวันประจำตุรกีและบอกว่าเขาอยากรู้จักคนไต้หวัน ในการรับประทานอาหารครั้งหนึ่ง Rifat ได้มีโอกาสทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ที่มาจากไต้หวันหลายคน นอกจากจะได้แลกเปลี่ยนภาษากันแล้ว พวกเขายังมีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวด้วยกัน พอถึงช่วงตรุษจีน คุณ Rifat ก็ชวนเพื่อนชาวไต้หวันมาร่วมฉลองที่บ้าน เพื่อบรรเทาความคิดถึงบ้านให้กับ คนที่ต้องจากบ้านไปอยู่แดนไกล

Rifat สมัครชิงทุนได้สำเร็จเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.2006 และได้เดินทางมาเยือนไต้หวันครั้งแรก อากาศร้อน! ถือเป็นสิ่งแรกที่ Rifat สัมผัสเมื่อมาถึงไต้หวัน ส่วน “ไมตรีจิต” ก็เป็นอีกสิ่งที่เขาประทับใจ

หลังมาเรียนภาษาจีนในไต้หวันได้ 1 ปี Rifat ก็สมัครเรียนต่อระดับปริญญาโทสาขารัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan Normal University: NTNU) Rifat เขียนวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ “การพัฒนากองทัพสู่ยุคใหม่ของกองทัพจีนภายใต้ความเคลื่อนไหวเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งกับอิทธิพลของหลี่หงจาง” ที่ทำให้คนเกิดความสงสัย เขากล่าวว่า “ต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ชิงตอนปลาย จึงจะสามารถเข้าใจถึงความเป็นไต้หวันในปัจจุบัน” Rifat ใช้เวลาสองปีศึกษาในมหาวิทยาลัย และอีกสองปีในการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง เขาอ่านหนังสือและวรรณกรรมหลายร้อยเล่ม ปรึกษาหารือกับอาจารย์อย่างต่อเนื่องจนสามารถขยายเนื้อหาของวิทยานิพนธ์เป็นภาษาตุรกีชื่อว่า “ประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่” ซึ่งมีการตีพิมพ์ในตุรกีด้วย
 

(ภาพ: หลินเก๋อล)

(ภาพ: หลินเก๋อล)
 

กล้ายืนหยัดในอุตสาหกรรมบันเทิง

ในระหว่างการศึกษาระดับปริญญาโท Rifat ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไต้หวันในเชิงลึก เพิ่มเติมจากนอกห้องเรียน ทั้งอาหารไต้หวันอันแสนอร่อย ความสงบสุขของสังคม และสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การอยู่อาศัย ยิ่งรู้จักไต้หวันมากขึ้น Rifat ก็ยิ่งหลงรักผืนแผ่นดินแห่งนี้ ประกอบกับตอนนั้นเขาบังเอิญได้รับเชิญไป ออกรายการโทรทัศน์ภาษาฮากกาของสถานี Public Television Service ทำให้เขาได้ชิมลางบนเวที แล้วเห็นว่าชาวต่างชาติมีศักยภาพที่จะก้าวหน้าในวงการบันเทิงของไต้หวันได้ ดังนั้นเขาจึงพาตัวเองไปแนะนำให้กับบริษัทเอเจนซี่ต่างๆ แต่ด้วยความที่ภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างกัน เวลาสัมภาษณ์จึงถูกมองว่ามีทัศนคติไม่เหมาะสมกับตลาดเอเชีย และถูกปฏิเสธอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปี

แม้ว่าเขาจะมีโอกาสออกรายการทีวีเพียงเดือนละ 1-2 ครั้ง แต่เขาก็ยังคงยืนหยัดอยู่ เพียงแค่ได้รับโทรศัพท์แจ้งล่วงหน้าก็มีความสุขมาก เขายังเคยรับงานถ่ายทำนอกสถานที่ 2 วัน กับค่าจ้างเพียงแค่ 500 เหรียญไต้หวันด้วย เมื่อหาเวทีแสดงในไต้หวันไม่ได้ เพื่อนๆ ก็แนะนำให้เขากลับไปที่ตุรกี ซึ่งตัวเขาเองรู้ดีว่าถ้ากลับไปเป็นไกด์ การจะหาเงินเป็นแสนๆ ไม่ใช่ปัญหาเลย แต่นั่นมันง่ายเกินไป เขาอยากลองดูว่าตัวเองสามารถทำอะไรในไต้หวันได้บ้าง ดังนั้นจึงทำการจัดสรรปันส่วนเงินเก็บกระเป๋า เอาไปเช่าห้องพักบนชั้นดาดฟ้าที่ต่อเติมขึ้นมา พร้อมบอกตัวเองว่า จนกว่าจะหมดเงินก้อนสุดท้าย มิฉะนั้นจะไม่มีวันยอมแพ้อย่างเด็ดขาด
 

Rifat เป็นชาวตุรกี (ซ้าย 1) ที่กล้ายืนหยัดในวงการบันเทิงจนประสบความสำเร็จ และพิสูจน์ให้เห็นว่าชาวต่างชาติก็สามารถเป็นพิธีกรรายการท่องเที่ยวในท้องถิ่นได้ (ภาพ: หลินเก๋อลี่)

Rifat เป็นชาวตุรกี (ซ้าย 1) ที่กล้ายืนหยัดในวงการบันเทิงจนประสบความสำเร็จ และพิสูจน์ให้เห็นว่าชาวต่างชาติก็สามารถเป็นพิธีกรรายการท่องเที่ยวในท้องถิ่นได้ (ภาพ: หลินเก๋อลี่)
 

พิธีกรรางวัล Golden Bell Award กับความพิเศษของแต่ละท้องถิ่น

ในที่สุดเดือนกันยายน ปีค.ศ.2011 เขาก็ได้รับโอกาสให้เป็นพิธีกรรายการท่องเที่ยวนอกสถานที่ชื่อ iwalker (愛玩客) พร้อมเซ็นสัญญากับบริษัทเอเจนซี่เป็นเวลา 5 ปี Rifat ถือเป็นพิธีกรชาวต่างชาติคนแรกในประวัติศาสตร์ของรายการโทรทัศน์ไต้หวันที่ได้ออกอากาศในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ตอนสี่ทุ่ม Rifat มีประสบการณ์เป็นไกด์นำเที่ยวที่ตุรกี บวกกับเคยสัมผัสวรรณกรรมประวัติศาสตร์ของไต้หวัน จึงทำให้เขารู้ว่าช่วงไหนเหมาะสมที่จะถามอะไร ผู้ชมจึงไม่เพียงได้เห็นว่าที่ไหนในไต้หวันมีอาหารอร่อยๆ มีสถานที่น่าท่องเที่ยว แต่ยังได้เรียนรู้เพิ่มเติมถึงวัฒนธรรมของอาหารและประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย สำเนียงการพูดภาษาจีนของ Rifat ที่มีภาษาไต้หวันแทรกขึ้นมาบ้างและความเป็นธรรมชาติของพิธีกรที่ไม่ได้เกิดจากการเสแสร้ง กลายเป็นที่ชื่นชอบและได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ชม กระทั่งปีค.ศ.2012 เขาได้รับรางวัล Golden Bell Award สาขาพิธีกรรายการท่องเที่ยวยอดเยี่ยม

คนภายนอกอาจจะมองว่าการถ่ายทำนอกสถานที่เป็นอะไรที่สบายๆ ง่ายๆ เหมือนกับว่าไปเที่ยวเล่นแล้วก็ยังหาเงินได้ด้วย แต่ความจริงคนที่อยู่ในเหตุการณ์เท่านั้นถึงจะรู้ว่าลำบากขนาดไหน หลายปีก่อนหน้านี้ภาพยนตร์เรื่อง “Seediq Bale” โด่งดังมากๆ รายการ iwalker จึงเกาะกระแสความนิยมตอนนั้น พา Rifat และทีมงานฝ่ายผลิตเดินทางไปถ่ายทำรายการที่เขตภูเขาอู้เซ่อซัน เมืองหนานโถว เพื่อสำรวจสมรภูมิรบสุดท้ายของ Mona Rudao ที่ถ้ำ Mahebo ถนนบนภูเขานี้เป็นทางขุรขระ มีทั้งหน้าผาชัน ดินหินที่ร่วงถล่มลง และป่าหมอก หากไม่มีชนเผ่าพื้นเมืองที่คุ้นชินกับพื้นที่คอยนำทางก็อาจจะหลงเข้าไปกลางป่าเขาได้ทันที ตอนนั้นเขาได้ยินเสียงแปลกๆ จากในถ้ำ จึงถามออกไปถึงได้รู้ว่าเกิดดินหินถล่มขึ้นบริเวณใกล้เคียง ซึ่ง Rifat บอกว่า “มันไม่ใช่เรื่องตลกเลย เพราะห่างออกไปแค่ประมาณ 300 เมตร อีกนิดเดียวก็จะหาไม่เจอแม้แต่กระดูกแล้ว”
 

หลายปีก่อน Rifat เดินทางมาศึกษาต่อที่ไต้หวัน และตกหลุมรักดินแดนแห่งนี้ วันนี้เขาได้สร้างครอบครัวที่นี่ ไต้หวันจึงกลายเป็นบ้านอีกหลังสำหรับเขาไปแล้ว (ภาพ: หลินเก๋อลี่)

หลายปีก่อน Rifat เดินทางมาศึกษาต่อที่ไต้หวัน และตกหลุมรักดินแดนแห่งนี้ วันนี้เขาได้สร้างครอบครัวที่นี่ ไต้หวันจึงกลายเป็นบ้านอีกหลังสำหรับเขาไปแล้ว (ภาพ: หลินเก๋อลี่)
 

แบ่งปันความงดงามของไต้หวันสู่สายตาชาวโลก

Rifat ชื่นชมในวิถีชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติของไต้หวัน สิ่งที่เขารู้สึกสนใจมากที่สุดคือ ประเพณีงานวัดของไต้หวัน ทั้งเคยเข้าร่วมประเพณีจุดประทัดรังผึ้งกับประเพณีแห่เจ้าแม่ทับทิมด้วยตัวเอง เขารู้สึกได้ถึงพลังของความเชื่อและความศรัทธาที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชน การแห่เจ้าแม่ทับทิมนำพาผู้คนนับพันนับหมื่นมารวมตัวกัน ทุกพื้นที่ดังระงมไปด้วยเสียงประทัดดัง พลุดอกไม้ไฟ และยังมีความคึกคักของขบวนปาเจียเจี้ยงที่ออกมาเต้นนำขบวนแห่ไปโดยรอบ Rifat อธิบายสิ่งนี้ว่าเป็นเหมือนงานคาร์นิวัล

คุณ Rifat ยังพาทีมงานถ่ายทำรายการนอกสถานที่เดินทางไปยังตุรกีเพื่อแนะนำบ้านเกิดของเขา และเขาได้รับเชิญให้ไปออกรายการข่าวท้องถิ่นของประเทศตุรกี เพื่อแชร์เรื่องราวของชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในวงการบันเทิงไต้หวัน ทั้งยังได้คัดสรรหุ่นกระบอกไต้หวันนำไปเป็นของที่ระลึก ทำให้ชาวตุรกีมีโอกาสได้สัมผัสกับวัฒนธรรมของไต้หวันด้วย

สัญญากับบริษัทเอเจนซี่ครบกำหนดเมื่อสองปีที่แล้ว เขาตัดสินใจไม่เซ็นสัญญาต่อ เพราะหวังไว้กับภรรยาคุณเฉินจิ่นอวี้ (陳錦玉) ว่า จะเลือกทำงานอิสระสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคม แม้คนรอบข้างจะมองว่ารายรับที่ได้ไม่สูงมาก แต่สำหรับ Rifat แล้ว ไม่ได้แสวงหาถึงสิ่งที่จะได้มาในระยะเวลาสั้น เพราะเขาให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในอนาคต ดังเช่นที่เขาร่วมมือกับนิตยสารรายเดือน Global Kids เขียนคอลัมน์ที่มีชื่อว่า “ท่องเที่ยวไปกับ Rifat” ซึ่งเขาได้ออกแบบการนำเสนอเรื่องราวให้ดูสดใสน่าสนใจ เพื่อทำให้เด็กได้รู้จักไต้หวันมากขึ้น Rifat บอกว่า ตอนแรกได้ปล่อยออกมาแล้ว ชื่อว่า “น้ำตานางฟ้าที่ทะเลสาบเจียหมิง” (The Angel’s Tears-Jiaming Lake) และอนาคตจะค่อยๆ นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยาในไต้หวัน ประเพณีพื้นบ้าน ฯลฯ ขอให้ทุกคนอดใจรอ
 

Rifat Karlova เป็นชาวตุรกี เขาเคยได้รับรางวัลระฆังทองคำ (Golden Bell Award) สาขาพิธีกรรายการท่องเที่ยวยอดเยี่ยม

Rifat Karlova เป็นชาวตุรกี เขาเคยได้รับรางวัลระฆังทองคำ (Golden Bell Award) สาขาพิธีกรรายการท่องเที่ยวยอดเยี่ยม
 

รักครอบครัว คือความจริงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

การเป็นศิลปินนักแสดง ทำให้ Rifat หวังจะใช้แนวทางของตนเองนำพาความสุขและพลังงานบวก เผื่อแผ่ไปสู่ทุกคน ดังนั้น Rifat จึงเริ่มเปิดช่องบน YouTube ของตัวเอง และใช้อุปกรณ์ง่ายๆ ถ่ายทำรายการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน พร้อมเรียนรู้วิธีการตัดต่อด้วยตนเอง แม้กระทั่งในช่วงที่ยุ่งมากๆ Rifat ก็จะพยายามอัพคลิปวิดีโอให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ตอน เพื่อแบ่งปันเรื่องราวความรู้สึกและความคิดของเขาออกสู่สาธารณชน

ตัวอย่างเช่น ตอนที่ Rifat พาญาติจากประเทศตุรกีนั่งรถไฟฟ้าไปเที่ยวสวนสัตว์ไทเป ได้เห็นความสุขของเด็กๆ เมื่อพบกับหมีแพนด้า  หรือตอนที่ Rifat ไปสำรวจที่พักค้างคืนตรงบริเวณสถานีรถไฟไทเป วิธีการบันทึกภาพคือให้ความใส่ใจกับกลุ่มคนเร่ร่อน เขารู้สึกสะเทือนใจจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ หรือจะเป็นอีกคลิปที่เขาถ่ายประสบการณ์การไปหาหมอของเขาเอง เพื่อแนะนำให้ผู้ชมได้เห็นถึงความก้าวหน้าของระบบการประกันสุขภาพและการแพทย์ในไต้หวัน คลิปวิดีโอที่ฉายอยู่บนช่องของเขายังมีการใส่ซับไตเติ้ลเป็นภาษาตุรกี เพื่อใช้ช่องทางบนโลกอินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้คนจำนวนมากได้มีโอกาสทำความรู้จักกับไต้หวัน

Rifat เคยเขียนหนังสือ 2 เล่มมีชื่อว่า “ขนมปังตุรกีรักไต้หวัน” กับ “หนังสือเชิญจากตุรกี” และไม่นานมานี้ เขายังนำเอามุมที่มีต่อครอบครัวและมรดกการทำอาหารตุรกีที่สืบทอดมาจากคุณอา เขียนออกเป็นหนังสือสอนทำอาหาร เพื่อให้อาหารตุรกีไปปรากฏอยู่บนโต๊ะที่บ้านของทุกคนด้วย

จากการเดินทางมาศึกษาที่ไต้หวันโดยลำพัง จนถึงวันนี้ Rifat ได้แต่งงานมีครอบครัวและลงหลักปักฐานอยู่ที่ไต้หวัน ยิ่งพอมีสถานะเป็นคุณพ่อ Rifat ก็ยิ่งรู้สึกว่าไต้หวันเป็นเหมือนบ้านของเขามากขึ้น เขาชอบทุกอย่างของบ้านหลังนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านดีหรือด้านลบ สิ่งนี้คือความจริงที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เมื่อใดก็ตามที่คนมาขอบคุณกับความรักที่เขามีให้ไต้หวัน Rifat จะรู้สึกแปลกใจ เพราะไต้หวันมีสถานที่และสิ่งต่างๆ มากมายซึ่งควรค่าแก่การที่ทุกคนควรภาคภูมิใจ เพียงแต่คนไต้หวันอาจไม่ทราบเท่านั้นเอง ดังนั้นเขาจึงอยากใช้วิธีการของตัวเองทำให้ทุกคนมองเห็นถึงคุณค่าของดินแดนแห่งนี้

Rifat ได้รับบัตรประชาชนไต้หวันเมื่อปีที่แล้ว ในที่สุดพ่อของ Rifat ก็ยอมใจอ่อน เพราะเชื่อว่าการที่ลูกชายมาพำนักอาศัยอยู่ในไต้หวัน ไม่เพียงแต่จะมีคนช่วยดูแล หากแต่ยังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีหลักประกันมากขึ้นด้วย และแม้ว่าพ่อของ Rifat จะเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่เราก็เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะอยู่บนสวรรค์คอยดูแลครอบครัวของ Rifat ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่บนผืนแผ่นดินของไต้หวันอย่างได้มีความสุขไปตราบนานเท่านาน