ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ความล้ำลึกของกลุ่มเมฆหมอก ปั่นไปในอู้ไถ
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2020-01-06

กาน้ำชาเซรามิกที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ซานตี้เหมิน ถือเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะของชนเผ่าผายวัน

กาน้ำชาเซรามิกที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ซานตี้เหมิน ถือเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะของชนเผ่าผายวัน
 

เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ นักประพันธ์ชื่อดังชาว อเมริกัน เคยกล่าวไว้ว่า “การขี่จักรยานข้าม น้ำข้ามทะเล คือวิธีที่ดีที่สุดในการทำความ รู้จักกับสิ่งต่างๆ ของบ้านเมืองนั้นๆ เพราะ เราจะต้องปาดเหงื่อในการขึ้นเขา และได้ท่อง ไปตามชายฝั่งทะเล”

บทความชุด “ปั่นไปในไต้หวัน” ของนิตยสารไต้หวันพาโนรามาฉบับนี้ จะพาท่านไปสัมผัสกับประสบการณ์การขี่จักรยานในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิตามทางหลวงหมายเลขไถ 24 จากแถบซานตี้เหมิน (三地門) ไปยังตำบลอู้ไถ (霧台鄉) ในเมืองผิงตง (屏東縣) เหล่าขุนเขาที่อยู่รายล้อมช่างเขียวขจียิ่งนัก เมื่อเราถีบจักรยานไต่ไปตามเส้นทางขึ้นเขา ทำให้สัมผัสได้ถึงบรรยากาศของสภาพแวดล้อมการประกอบอาชีพและกลิ่นอายของวัฒนธรรมหัตถศิลป์ที่มีอยู่อย่างเปี่ยมล้นของชนเผ่าผายวัน (Paiwan) และหรูข่าย (Rukai)

 

พายุไต้ฝุ่นมรกตที่พัดถล่มเกาะไต้หวันเมื่อ 10 ปีก่อน (หรือเหตุการณ์วาตภัย 8 สิงหาคม ค.ศ.2009) ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อพื้นที่ 3 ตำบลทางตอนเหนือของเมืองผิงตง จนทำให้ต้องอพยพผู้คนจากแถบห่าวฉา ต้าเซ่อ และหมู่บ้านหม่าเจีย ซึ่งต่างก็เป็นหมู่บ้านของชนเผ่าพื้นเมือง ย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในแถบซานตี้เหมิน พร้อมตั้งชื่อใหม่ว่า “หมู่บ้านหลี่น่าหลี่” ทำให้เราตัดสินใจที่จะไปเยือนชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองแห่งนี้และร้าน “Kubav” ซึ่งเป็นร้านอาหารในหมู่บ้าน เพื่อลองลิ้มชิมรสอาหารของชนเผ่าพื้นเมืองเป็นการอุ่นเครื่องก่อนเริ่มออกเดินทางในทริปนี้

เมื่อกวาดสายตาไปตามเมนูอาหาร ชื่อที่ผุดขึ้นมาทั้งฉีน่าฟู่ (Cinavu), จินปั๋วเล่อ (Kinepel) และหมูย่างเตาหิน ทำให้เรารู้สึกได้ถึงบรรยากาศของชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะฉีน่าฟู่ (Cinavu) ซึ่งเป็นของว่างที่ชนเผ่าผายวัน จะรับประทานเฉพาะในโอกาสฉลองปีใหม่ หรือต้อนรับแขกผู้มาเยือน โดยนำเอาใบของผักแผ้วเชียงดาว มาห่อข้าวฟ่างที่คลุกกับเนื้อหมู ก่อนจะนำไปต้มนาน 40 นาที ทำให้มีความหอมของใบผักแผ้ว ผสมผสานไปกับความหวานของน้ำจากเนื้อหมู ถือเป็นอาหารที่เรียบง่ายและปราศจากการปรุงแต่ง นอกจากนี้ ยังมีอาหารที่นำเอาของที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาใช้ในการปรุง คือ จินปั๋วเล่อ (Kinepel) ซึ่งเป็นขนมที่ทำขึ้นจากข้าวฟ่างและฟักทอง รวมไปถึงบ๊ะจ่างที่ห่อด้วยใบข่าคม ซึ่งใช้เนื้อหมูป่าที่หมักด้วยตะไคร้ต้นและมะแข่น ก่อนจะนำไปเผาด้วยถ่านจากไม้กระถิน อาหารแต่ละเมนู ต่างก็มีรสชาติที่สร้างความประหลาดใจให้กับเราเป็นอย่างมาก และหลังจากอิ่มหนำสำราญกันอย่างเต็มที่ ก็ถึงเวลาที่เราพร้อมจะเริ่มต้นการเดินทาง เพื่อสำรวจวัฒนธรรมแห่งชนเผ่าพื้นเมือง ตามที่ตั้งหน้าตั้งตารอกันเสียที
 

คุณเลี่ยวซิ่วเหม่ย เจ้าของและแม่ครัวของร้านอาหาร Kubav แนะนำให้เรารู้จักกับ cinavu ซึ่งเป็นของว่างของชนเผ่าผายวันที่รับประทานกันเฉพาะในพิธีแต่งงานและพิธีศพ รวมทั้งใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน

คุณเลี่ยวซิ่วเหม่ย เจ้าของและแม่ครัวของร้านอาหาร Kubav แนะนำให้เรารู้จักกับ cinavu ซึ่งเป็นของว่างของชนเผ่าผายวันที่รับประทานกันเฉพาะในพิธีแต่งงานและพิธีศพ รวมทั้งใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน
 

ความประทับใจที่ไม่ลืมเลือนกับของวิเศษ 3 อย่างของเผ่าผายวัน

ท้องฟ้าอันแจ่มใสบนเส้นทางขึ้นเนินอันคดเคี้ยว เมื่อมองไปไกลๆ จะเห็นภาพของตึก 85 (ชั้น) อันเลื่องชื่อของนครเกาสง เราได้มาถึงพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมซานตี้เหมิน ซึ่งตั้งอยู่บนกิโลเมตรที่ 22 ของทางหลวงหมายเลขไถ 24 ซึ่งมีการจัดนิทรรศการในหัวข้อ “ของวิเศษ 3 อย่างของชนเผ่าผายวัน : มีดสัมฤทธิ์ มุกหลิวหลี และกาน้ำชาเซรามิก” ซึ่งได้บอกเล่าตำนานการถือกำเนิดของท้องฟ้าและปฐพี รวมไปจนถึงที่มาของความเชื่อ เกี่ยวกับการบูชาวิญญาณและเทพเจ้า

ของวิเศษ 3 อย่างของชนเผ่าผายวันจะถูกนำมาใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้เราสามารถสังเกตได้ถึงสถานะทางสังคม และพิธีการแห่งชีวิต คุณรื่อหม่าลี่จือ (Remaljiz) ซึ่งเป็นสมาชิกในตระกูลของหัวหน้าชนเผ่า และเป็นผู้บรรยายที่พาเราเที่ยวชมในวันนี้ ได้ยกตัวอย่างจากกาน้ำชาเซรามิกว่า กาที่มีหูและมีติ่งเหมือนจุกนมคือกาแม่ ในขณะที่กาซึ่งมีลวดลายของงูร้อยก้าวคือกาพ่อ โดยที่กากำเนิด ซึ่งมีน้ำหนักเบาและผิวเป็นมันเงา จะถือเป็นกาสูงศักดิ์ที่สุด

สำหรับมุกหลิวหลี ที่ถือเป็นสมบัติประจำตระกูลอันล้ำค่า และใช้เป็นสินสอดในพิธีแต่งงานนั้น ลวดลายบนมุกแต่ละเม็ด จะมีความหมายต่อชาวเผ่าผายวันเป็นอย่างมาก โดยมีทั้งที่ใช้เป็นตัวแทนของแนวคิด และความเชื่อความเกี่ยวพันระหว่างฟ้า ดิน และมนุษย์ เช่น “มุกสูงศักดิ์” จะถูกใช้เป็นสินสอดในพิธีแต่งงานของหัวหน้าเผ่า หรือ “มุกนักรบ” ก็แสดงให้เห็นถึงผลงานด้านความกล้าหาญของผู้สวมใส่

แต่สำหรับเหล่านักท่องเที่ยวแล้ว จะสามารถทำมุกหลิวหลีของตัวเองได้ จากการทำ DIY ที่สตูดิโอศิลปะมุกแมลงปอ (Dragonfly Beads Art Studio) ในส่วนของห้องนิทรรศการที่ชั้น 2 ได้จัดแสดงผลงานและของสะสมของอาจารย์ซือซิ่วจวี๋ (施秀菊) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยในจำนวนนี้มีชุดวิวาห์ ซึ่งมารดาผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยโรคมะเร็งของ อ.ซือ เป็นผู้ตัดเย็บให้บุตรสาวด้วยตนเอง และมีงานศิลปะอันวิจิตร ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากวัสดุผสมหลายชนิด ซึ่งเราได้เลือกซื้อกำไลข้อมือ ที่ร้อยขึ้นจาก “มุกนักรบ” มาสวมใส่ ด้วยความหวังว่า จะช่วยสร้างกำลังใจให้กับการขี่จักรยาน ที่จะต้องขี่บนเส้นทางขึ้นเนินที่ต่อเนื่อง และดูเหมือนกับว่าจะได้ผลไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะอากาศอันอบอุ่นทำให้เราเหมือนจะนึกไปเองว่า กำลังขี่จักรยานอยู่บนทางราบ หากไม่ได้มองเห็นว่าทิวทัศน์ที่อยู่ตรงหน้า คือเส้นทางขึ้นเขาอันคดเคี้ยว
 

งานหัตถศิลป์ที่จัดแสดงอยู่ใน Kalava Homestay ซึ่งมีตู้ไจ้ฝูเป็นผู้บริหารกิจการ แสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์ด้านศิละของชนเผ่าหรูข่าย

งานหัตถศิลป์ที่จัดแสดงอยู่ใน Kalava Homestay ซึ่งมีตู้ไจ้ฝูเป็นผู้บริหารกิจการ แสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์ด้านศิละของชนเผ่าหรูข่าย
 

บ้านแผ่นหินและซอยแผ่นหินกับภูมิปัญญาของชาวหรูข่าย

เมื่อเราเข้าสู่อุโมงค์เปิด ที่ตั้งอยู่บนกิโลเมตรที่ 29 ของทางหลวงหมายเลขไถ 24 ความสวยงามและอลังการของที่นี่ สามารถเทียบเคียงกับทิวทัศน์ของทางหลวงสายตะวันออก-ตะวันตก ที่พาดผ่านช่วงกลางเกาะได้เลยทีเดียว และเมื่อเราขยับเข้าสู่กิโลเมตรที่ 31 ก็ถือโอกาสหยุดพักที่ศาลาชมวิว เพื่อจะดื่มด่ำกับทิวทัศน์จากมุมสูง ของหุบเขาริมแม่น้ำอ้ายเหลียวเป่ยซี พร้อมทั้งชื่นชมกับทิวทัศน์อันตระการตาของสะพานกู่ชวน ซึ่งถือเป็นสะพานที่มีตอม่อที่สูงที่สุดในไต้หวัน จากระยะไกลไปพร้อมกัน

สายลมอันอบอุ่น แสงและเงาที่ทอดเรียงรายสลับกันไปมา กับภาพของทิวเขาสลับซับซ้อนตลอดทาง ช่วยบรรเทาความเหน็ดเหนื่อย จากการขี่จักรยานบนเส้นทางขึ้นเขาอันคดเคี้ยวได้ไม่น้อย คุณอู่ลี่หัว (伍麗華) ผู้อำนวยการสำนักชนพื้นเมืองของเมืองผิงตง แนะนำว่า อู้ไถคือชุมชนที่สามารถรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นหมู่บ้านชนพื้นเมืองของชาวเผ่าหรูข่าย ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด และเมื่อเราไปถึงกิโลเมตรที่ 40 ของทางหลวงหมายเลขไถ 24 ก็ได้เห็นภาพของรูปปั้นหัวหน้าเผ่าและเหล่านักรบ สะท้อนเข้าสู่สายตา และนั่นคือสิ่งที่บอกว่า เราได้มาถึงพิพิธภัณฑ์ชนเผ่าหรูข่ายแล้ว

ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เราจะมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับวัฒนธรรมต่างๆ ของชาวเผ่าหรูข่าย ไม่ว่าจะเป็นซอยเหยียนปั่นเซี่ยง (ซอยแผ่นหิน) ที่ปูพื้นด้วยแผ่นหิน วางเรียงสลับซ้อนกันอยู่ หรืองานแกะสลักนูน ที่มีลวดลายและสีสันอันงดงาม ในโรงเรียนประถมศึกษาอู้ไถ ต่างก็เป็นฝีมือของสองพี่น้องตู้หย่งหนาน (杜勇男) และตู้ไจ้ฝู (杜再福)

เรายกจักรยานเดินขึ้นบันได ก็จะได้เห็นแลนด์มาร์กอันโด่งดังของทางแผ่นหิน นั่นก็คือ “คริสตจักรเพรสไบทีเรียนอู้ไถ” โดยอาคารของคริสตจักรที่ตู้ไจ้ฝู เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างแห่งนี้ ต้องใช้เวลาในการก่อสร้าง นานถึง 6 ปี ถือเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ของชาวเผ่าหรูข่าย ได้เป็นอย่างดี

หลังคาของอาคารคริสตจักร เป็นหลังคาที่มีมุมเอียงมากที่สุด ในบรรดาสิ่งปลูกสร้างจากหินที่มีอยู่ในอู้ไถ โดยเทคนิคในการคำนวณน้ำหนักและการเรียงแผ่นหิน ได้มาจากภูมิปัญญาและประสบการณ์ในการสร้างบ้านหิน ของเหล่าผู้สูงอายุในหมู่บ้าน

ไม้กางเขนขนาดใหญ่ซึ่งทำจากไม้ฮิโนกิที่ตั้งอยู่กลางห้องโถงใหญ่นั้น ถูกค้นพบที่ในป่าลึก บริเวณรอยต่อระหว่างเมืองผิงตงและไถตงโดยนายพรานสูงอายุผู้หนึ่ง เป็นไม้ที่ถูกตัดทิ้งไว้โดยชาวญี่ปุ่น ในสมัยที่ญี่ปุ่นยังปกครองเกาะไต้หวัน คนในเผ่าต้องใช้เวลาถึง 4 วันในการลากมาไว้ที่นี่ ก่อนจะกลายมาเป็นไม้กางเขนขนาดใหญ่ที่ทำจากไม้ฮิโนกิ ซึ่งมีอยู่น้อยมากในไต้หวัน เมื่อเรามองขึ้นไปยังไม้กางเขน ก็รู้สึกได้ถึงจิตวิญญาณของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในเผ่า ที่อุทิศตนและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างแข็งขัน เพื่อร่วมกันสร้างสวรรค์บนดินไว้ที่นี่ และความยากลำบากในการทำไม้กางเขนนี้ ได้เปลี่ยนมาเป็นงานประติมากรรม ที่ประดับอยู่บนราวจับของบันได ที่อยู่ด้านนอกของคริสตจักรด้วย
 

เมื่อขี่จักรยานอยู่บนสะพานกู่ชวน ซึ่งเป็นสะพานที่มีเสาตอม่อที่สูงที่สุดในไต้หวัน ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความสุขของการเดินหน้าฝ่าไปในสายลม

เมื่อขี่จักรยานอยู่บนสะพานกู่ชวน ซึ่งเป็นสะพานที่มีเสาตอม่อที่สูงที่สุดในไต้หวัน ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความสุขของการเดินหน้าฝ่าไปในสายลม
 

หมู่บ้านอาหลี่ปู้ลั่วอันลึกลับ กับผีเสื้อและซากุระ

เพื่อหลีกเลี่ยงการขี่จักรยานในเวลากลางคืน เราจึงเลือกที่จะค้างแรมที่เกสต์เฮาส์ในอู้ไถ และหลังจาก 1 คืนที่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ วันรุ่งขึ้นเราก็เริ่มทริปของเราต่อ บนทางหลวงหมายเลขไถ 24 กับการออกเดินทางไปยังจุดหมายสุดท้าย นั่นก็คือหมู่บ้านอาหลี่ (Adiri) ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชนพื้นเมืองเผ่าหรูข่าย

การขี่จักรยานขึ้นลงเนิน ตามเส้นทางที่ทอดยาว ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง พายุไต้ฝุ่นมรกต ทำให้เส้นทางในแถบนี้ถูกตัดขาด ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการทำรั้วกั้นริมขอบทางอย่างง่ายๆ เรารีบเร่งความเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงก้อนหินที่อาจร่วงหล่นลงมา ทิวทัศน์ตลอดทางคือหุบเขา ที่อยู่ระหว่างขุนเขาและแมกไม้ ทำให้มีความรู้สึก ราวกับว่ากำลังขี่เมฆผจญภัยอยู่ท่ามกลางสายหมอก หมู่บ้านอาหลี่ตั้งอยู่บนความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล จะถูกปกคลุมด้วยเมฆและหมอกเป็นประจำตลอดทั้งปี เมื่อถึงจุดนี้ หากก้มมองลงไป ก็จะเห็นเงาเลือนลางของอู้ไถ และหมู่บ้านเสินซานที่อยู่ด้านล่างของภูเขา ท่ามกลางกระแสของทะเลเมฆ ที่ปกคลุมไปทั่ว

หลังเดินทางผ่านผาจี๋ลู่ปงปี้ และผาอาหลี่ปงปี้ ซึ่งเป็นผาขาดอันสูงตระหง่านและตระการตา คือภูมิทัศน์แปลกตา ซึ่ง
เป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากฝีมือของพายุไต้ฝุ่นมรกต หากเข้าไปยืนอยู่ใกล้ๆ แล้วเงยหน้ามองขึ้นไป หินบนหน้าผาต่างก็มีรูปร่างที่ไม่เหมือนกัน ทุกริ้วรอยและเส้นสายที่เกิดขึ้น ดูสวยงามราวกับเป็นประติมากรรมแกะสลัก จากฝีมืออันละเอียดอ่อนของศิลปินชั้นเลิศ จึงถือได้ว่าเป็นบทเรียนทางภูมิศาสตร์ ที่ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะรู้สึกนับถือ และยำเกรงในความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ

เมื่อเรามาถึงกิโลเมตรที่ 44.5 ของทางหลวงหมายเลขไถ 24 ซึ่งเป็นจุดเริ่มของทางหลวงสายย่อย หมายเลข 45  และเมื่อเราเข้าไปถึงหมู่บ้านอาหลี่ บ้านที่สร้างจากแผ่นหิน ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ตรงหน้า ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ต้นซากุระพันธุ์ไต้หวันเชอรี่ (ซากุระดอย) ที่มีอยู่ไม่น้อย ก็เตรียมจะบานสะพรั่งแล้ว

เมื่อเราผ่านหน้าบ้านของหัวหน้าเผ่าของหมู่บ้านอาหลี่ ภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าทั้งเสาบูชาบรรพชน โอ่งดินเผา ไม้แกะสลักที่มีลวดลายเป็นรูปองค์หญิงปาเหลิ่ง (Balenge ka abulru) กับเจ้าชายงูที่มีสีสันสวยงาม สิ่งต่างๆ ที่ประดับประดาอยู่บนบ้านหลังนี้ บ่งบอกให้เรารับรู้ได้ถึง สถานะของเจ้าของบ้าน ในฐานะที่เป็นหัวหน้าเผ่าของที่นี่

คุณเปาไท่เต๋อ (包泰德) และกู่ซิ่วหุ้ย (古秀慧) สองสามีภรรยาที่ใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านอาหลี่มาโดยตลอด ได้ร่วมกันเปิดเกสต์เฮาส์ที่มีชื่อว่า ซูมู่กู่หมินซู่ (Sumuku Homestay) เพื่อให้การต้อนรับแขกผู้มาเยือนที่ตั้งใจจะมาชมนกและผีเสื้อในแถบอาหลี่ และเดินเที่ยวตามเส้นทางเดินเขาอาหลี่วันกู่เต้า (Old Aluwan Trail)

ในช่วงบ่ายเราได้เดินเที่ยวตามเส้นทางชมซากุระดอย จนกระทั่งฟ้าเริ่มเปลี่ยนสี ท้องฟ้าที่เปี่ยมไปด้วยแสงดาวระยิบระยับ ดูกว้างไกลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้เรานึกย้อนถึงเรื่องราวเก่าๆ ของวันวาน การได้มีโอกาสดื่มด่ำกับราตรีอันเงียบสงบนี้ ทำให้เหมือนกับว่า เราได้หลุดเข้าไปอยู่ในสวนสวรรค์ ที่เต็มเปี่ยมด้วยความเบิกบานและสงบสุข
 

เมื่อเราขี่จักรยานมาถึงอู้ไถ สิ่งที่อยู่รายล้อมรอบตัวคือเหล่าขุนเขาและแมกไม้

เมื่อเราขี่จักรยานมาถึงอู้ไถ สิ่งที่อยู่รายล้อมรอบตัวคือเหล่าขุนเขาและแมกไม้
 

ดินแดนลึกลับที่เพิ่งเผยโฉมหลังวาตภัยครั้งใหญ่

ตอนที่เราลงเขามานั้น ท้องฟ้าปลอดโปร่งแจ่มใส เราก็รู้สึกสบายกับการขี่จักรยานลงเนินไม่น้อย ถือเป็นเส้นทางที่ขี่สนุกที่สุดเลยทีเดียว เราแวะพักที่หมู่บ้านเสินซานของอู้ไถ เพื่อรับประทานวุ้นอ้ายอวี้ (โอ้เอ๋ว) ของเสินซาน อ้ายอวี้สดๆ ผสมกับข้าวฟ่าง และรสเปรี้ยวอมหวานของส้มจี๊ดและมะนาว อ้ายอวี้ชามละ 35 เหรียญไต้หวัน เหมือนกับให้รางวัลตัวเอง สำหรับการฟันฝ่าเส้นทางอันแสนจะลำบาก ยิ่งเมื่อมองไปไกลๆ จะเห็นทิวเขาต้าอู่ฉวินซานอันเขียวชอุ่ม มองดูแล้วช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายเป็นอย่างมาก ถือเป็นบรรยากาศในแบบที่เงินซื้อหาไม่ได้จริงๆ

อ้ายอวี้หรือโอ้เอ๋ว ถือเป็นพืชในสกุลมะเดื่อเถา มีการปลูกกันมากในแถบนี้ โดยปลูกแบบพันธุ์เฉพาะบนพื้นที่กว่า 12 ไร่ ถือเป็นสินค้า OTOP ของหมู่บ้านแห่งนี้เลยทีเดียว

ในระหว่างการเดินทาง เราตัดสินใจแวะไปเยือนแม่น้ำฮาหยิวซี (Hayou River) แบบกะทันหัน ที่นี่ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่เข้าถึงได้เฉพาะช่วงหน้าแล้ง ก่อนสิ้นเดือนเมษายนเท่านั้น ซึ่งทีมงานของเราตัดสินใจโดยสารรถรับส่งของหมู่บ้านต้าอู่ โดยไม่ขี่จักรยานขึ้นเขา

แม่น้ำฮาหยิวซี เป็นแม่น้ำที่แยกออกมาจากแม่น้ำอ้ายเหลียวเป่ยซี และหลังจากที่เรานั่งรถเลียบริมน้ำ มาเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง ก่อนจะเดินเท้าลุยตามลำน้ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก็มาถึงจุดที่เรียกว่ากำแพงหินเจ็ดสี (Qicai “seven-color” Rock Walls) หน้าผาสายรุ้งอันสวยงามตระการตา ตลอดทางจะได้กลิ่นกำมะถันของน้ำแร่ และหินผา ที่มีหินบะซอลต์สลับกับหินทรายควอตซ์เรียงรายกันอยู่ เสียงของสายน้ำที่หลั่งไหล กับแสงสะท้อนสีทองที่สว่างสุกใส ช่างงดงามน่าหลงใหลยิ่งนัก

คุณปาอิงสง (Labuwan) ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านต้าอู่บอกกับเราว่า ก่อนเหตุการณ์วาตภัย 8 สิงหาคม ที่นี่ถือเป็นหุบเขาลึกที่อยู่กลางป่า และถือเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าหรูข่าย การชื่นชมความงามของกำแพงหิน 7 สีจะทำได้แต่เพียงมองลงมาจาก เส้นทางเดินเขาเลี่ยเหรินกู่เต้า ที่อยู่ด้านบนเท่านั้น แต่เหตุวาตภัยที่เกิดขึ้น ทำให้เส้นทางที่จะเข้าถึงจุดนี้ถูกเปิดออก จนกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวลึกลับแห่งใหม่ แต่ก็ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่า หากมีวาตภัยเกิดขึ้นอีก เส้นทางสายนี้จะถูกกองหินและดินถล่มจนปิดไปอีกหรือไม่

ในปีนี้ (2019) ถือเป็นปีที่ครบรอบปีที่ 10 หลังหายนะภัยจากพายุไต้ฝุ่นมรกต ศ.เฉินเหม่ยหุ้ย (陳美惠) จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผิงตง ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชนเผ่าพื้นเมืองในหมู่บ้านอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งศ.เฉินเหม่ยหุ้ย กล่าวว่า “หมู่บ้านในชนบทห่างไกล ไม่เคยถูกทอดทิ้ง แม้จะถูกพายุพัดถล่ม จนเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะในหมู่บ้านเหล่านี้ ที่เปี่ยมไปด้วยมรดกแห่งวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งสามารถสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ยิ่งหากสามารถใช้หลักการ ตามทฤษฏีด้านการพัฒนาที่ดินมาต่อยอด เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับท้องที่ และเมื่อผสมผสานกับวัฒนธรรมการเกษตรชุมชน ในรูปแบบของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมเชื่อมต่อเข้ากับตลาด ก็จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ บนทางหลวงหมายเลขไถ 24 ได้ อันจะช่วยให้สามารถร้อยเรียงความงาม ดั่งไข่มุกแห่งธรรมชาติของหมู่บ้านเหล่านี้ เข้าไว้ด้วยกัน”

ภาพแห่งอนาคตที่ ศ.เฉินเหม่ยหุ้ยกล่าวถึง ก็เหมือนกับความรู้สึกอันอบอุ่น ซึ่งเปี่ยมไปด้วยไมตรีจิตที่เราได้รับ จากการขี่จักรยานท่องเที่ยวไปตามหมู่บ้านต่างๆ และความงดงามจากปลายพู่กันแห่งธรรมชาติของอู้ไถ ยิ่งทำให้เรารู้สึกได้ถึง ความหนักแน่นของบันไดจักรยาน ที่อยู่ใต้เท้าของเรา ในการขี่จักรยานขากลับด้วย