เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. กต.ไต้หวันนำเสนอผลสัมฤทธิ์ของกิจการทางการทูต ตลอดช่วงปี 2019 (ภาพจาก MOFA)
MOFA วันที่ 26 ธ.ค. 62
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า แนวทางการดำเนินกิจการทางการทูตขั้นพื้นฐานของไต้หวัน คือ การเปิดให้ทั่วโลกเข้ามามีส่วนร่วม และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ ภายใต้กรอบแห่งยุทธศาสตร์โลกในปัจจุบัน รัฐบาลไต้หวันได้พยายามทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงสนับสนุนในนานาชาติที่เพิ่มมากขึ้น ในปี 2019 การดำเนินกิจการทางการทูตของไต้หวัน ได้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัด โดยการแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวันและประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ก็ได้รับการยกระดับไปสู่อีกขั้น ขอบเขตความร่วมมือก็แผ่ขยายในวงกว้างเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ MOFA เผยว่า ปี 2019 ประจวบกับเป็นวาระครบรอบ 40 ปีแห่งการบัญญัติกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ จึงมีความแนบแน่นมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่าย มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างใกล้ชิด ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ได้ดำเนินไปอย่างเปิดเผย เปี่ยมด้วยความหลากหลาย และเป็นระบบมากขึ้น อาทิ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้รับการปฏิบัติในมาตรฐานระดับสูงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา ในระหว่างที่บินผ่านเขตแดนของสหรัฐฯ นอกจากนี้ รัฐสภาสหรัฐฯ ยังได้ให้การสนับสุนนไต้หวัน โดยไม่มีการแบ่งแยกฝักฝ่าย อีกทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ ได้อนุมัติแผนจำหน่ายยุทโธปกรณ์ให้กับไต้หวันอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนให้การยอมรับว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญใน “ยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิก”
ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่นได้พัฒนารุดหน้าไปอย่างยั่งยืน โดยรัฐสภาญี่ปุ่นและหน่วยงานภาครัฐ ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างต่อเนื่อง กลไกความร่วมมือในทุกด้านระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่น สมบูรณ์มากขึ้น การแลกเปลี่ยนของภาคประชาน ก็เป็นไปอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ การดำเนินกิจการทางการทูตระหว่างไต้หวัน – ยุโรปตลอดช่วงปีนี้ ก็บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัดขึ้นเช่นกัน ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปต่างร่วมแรงร่วมใจกัน ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มกำลัง โดยนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางเยือนเดนมาร์ก เพื่อขึ้นแสดงปาฐกถาในประเด็นที่สำคัญ ในการประชุมสุดยอดผู้นำประชาธิปไตย ปี 2019 (2019 Copenhagen Democracy Summit) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อร่วมแบ่งปันเรื่องราวแห่งความสำเร็จของประชาธิปไตยในไต้หวัน ให้กับมิตรชาวยุโรปได้รับทราบโดยทั่วกัน
หากมุ่งเป้าไปยังแผนยุทธศาสตร์ ไต้หวันและประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ได้เสริมสร้างความร่วมมือ ในการเป็นกลุ่มพันธมิตรที่มีแนวคิดร่วมกัน เพื่อช่วยส่งเสริมให้ไต้หวันมีบทบาทที่สำคัญ ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ผ่านกรอบความร่วมมือ GCTF (Global Cooperation and Training Framework) โดยรูปแบบการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศของไต้หวัน หรือ “รูปแบบไต้หวัน” ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง จากประเทศพันธมิตรและประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ซึ่งนอกจากรัฐบาลได้ดำเนินการตามโครงการพัฒนาความร่วมมือที่ยั่งยืน โปร่งใส มีความรับผิดชอบ และเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันแล้ว ยังได้ร่วมแสดงพลังแห่งศักยภาพ จากความร่วมมือกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ในส่วนของยุทธศาสตร์ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก การดำเนินการตาม “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” ก็บังเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์มากมาย อาทิ ในปีนี้ไต้หวันและเวียดนาม ได้ร่วมลงนามความตกลงคุ้มครองการลงทุนฉบับใหม่ ต่อจากฟิลิปปินส์และอินเดีย ส่วนการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ ในปีนี้ไต้หวันสามารถเข้าร่วม “ความตกลงการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้” ได้สำเร็จ นอกจากนี้ ในแผนผลักดันการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สหประชาชาติ (UN) องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ไต้หวันต่างก็ได้รับพลังเสียงสนับสนุน จากรัฐสภาของประเทศในแถบยุโรป และภูมิภาคลาตินอเมริกาเป็นอย่างมาก ซึ่งถือได้ว่าพลังสนับสนุนและเสียงเรียกร้องในปีนี้ แข็งแกร่งที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ MOFA ได้ให้คำมั่นว่า จะยกระดับความสะดวกด้านการท่องเที่ยวในต่างแดน และการรับประกันสิทธิของนักท่องเที่ยวที่พึงมี โดยจะร่วมเจรจากับประเทศที่เกี่ยวข้อง ในการขออนุมัติช่องทางด่วนสำหรับชาวต่างชาติ (E-Gate Service for foreign people) ซึ่งในปัจจุบัน ได้รับการอนุมัติจากสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ออสเตรีย อิตาลี อังกฤษ ญี่ปุ่น และเยอรมนี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในตอนท้าย MOFA กล่าวสรุปว่า รัฐบาลไต้หวันยึดมั่นในหลักจิตวิญญาณ “การทูตที่เป็นรูปธรรม เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน” โดยเร่งผลักดันให้ไต้หวันสำแดงศักยภาพ และจุดเด่นในประเทศ เพื่อก้าวสู่เวทีนานาชาติอย่างเต็มภาคภูมิ ท้ายนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญหน้ากับความท้าทายในปี 2020 เจ้าหน้าที่ MOFA จะร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อแสดงให้ทั่วโลกประจักษ์เห็นถึงพลังแห่งความสดใส รวมถึงความเป็นมืออาชีพ และพลังความคิดสร้างสรรค์ของไต้หวัน เพื่ออุทิศคุณประโยชน์ที่เปี่ยมด้วยความหมาย ให้กับประชาคมโลก และร่วมกันรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ ธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนร่วมสร้างคุณประโชน์ให้กับภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ที่มีเสรีภาพ เปิดกว้างและเปี่ยมด้วยความรุ่งเรือง สืบไป