ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
นรม.ซูเจินฉางชี้การป้องกันโรค ASF ละเลยมิได้
2019-12-31

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. นายซูเจินชาง (ขวา) นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานของไต้หวัน เร่งเสริมสร้างมาตรการการป้องกันโรคระบาด ASF อย่างรัดกุมต่อไป (ภาพจากสภาบริหาร)

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. นายซูเจินชาง (ขวา) นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานของไต้หวัน เร่งเสริมสร้างมาตรการการป้องกันโรคระบาด ASF อย่างรัดกุมต่อไป (ภาพจากสภาบริหาร)

สภาบริหาร วันที่ 12 ธ.ค. 62

 

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า หลังจากที่นายซูเจินชาง นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้รับฟังรายงาน ภายใต้หัวข้อ “เสริมสร้างมาตรการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ขานรับเทศกาลตรุษจีน ปี 2020” ของคณะกรรมการการเกษตร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในการประชุมสภาบริหารเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา นรม.ซูฯ ได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐทั้ง 14 กระทรวง ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกัน พยายามสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรค ASF  พร้อมย้ำหนักแน่นว่า ภารกิจการป้องกันโรค ASF จะละเลยไม่ได้โดยเด็ดขาด


 

นอกจากนี้ นายกซูฯ กล่าวเสริมว่า สำหรับการครบกำหนด 1 ปี ของการเป็นประเทศที่ปลอดจากโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ โดยไม่ต้องพึ่งวัคซีน ไต้หวันกำลังยื่นขออนุมัติต่อองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ในการเป็นเขตปลอดโรค โดยไม่มีการฉีดวัคซีน ซึ่งหากผ่านการพิจารณาแล้ว หลังเดือนพฤษภาคมปี 2020 นี้ ไต้หวันจะกลายเป็นเขตปลอดโรคระบาดอย่างสมบูรณ์  ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรของไต้หวันสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังทั่วโลกได้ เฉพาะมูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่น ก็สามารถทำยอดได้สูงถึง 55,000 ล้านเหรียญไต้หวันต่อปี นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาล จึงขอความร่วมมือจาก คกก.การเกษตรและกระทรวงเศรษฐการ ให้ระแวดระวังในการป้องกันโรคดังกล่าวให้รัดกุมยิ่งขึ้น  โดยนรม.ซูฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จีนและประเทศเพื่อนบ้านที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ ASF ทั้ง 10 ประเทศ มีจำนวนเนื้อสุกรที่ใช้บริโภคได้น้อยมาก เนื่องจากไต้หวันได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรแห่งการเลี้ยงสุกร ตลอดจนมีเทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยงสุกรที่ล้ำสมัย ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าตลาดเกิดใหม่ในอนาคต กำลังรอคอยพวกเราอยู่


 

รายงานของ คกก. การเกษตร ระบุว่า เพื่อสกัดกั้นโรค ASF ไม่ให้แพร่กระจายเข้าสู่ภายในประเทศ  หน่วยงานภาครัฐจึงได้เร่งดำเนินมาตรการเสริมสร้างการป้องกันที่รัดกุมหลายประการ อาทิ เพิ่มอัตราค่าปรับครั้งแรกของการนำผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของเนื้อสุกร จากประเทศที่ได้รับแจ้งว่ามีการแพร่ระบาดโรค ASF ภายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เข้ามายังเขตแดนของไต้หวัน เป็นจำนวน 2 แสนเหรียญไต้หวัน และห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่ยังไม่ได้ชำระค่าปรับ 2 แสนเหรียญไต้หวัน เดินทางเข้าสู่ไต้หวันอีก นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน ยังได้ดำเนินการตรวจสอบกระเป๋าถือทุกใบของนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด ASF ผ่านเครื่องเอกซเรย์คุณภาพสูง รวมถึงตรวจสอบกระเป๋าสัมภาระแบบโหลดใต้ท้องเครื่อง และกระเป๋าถือทุกใบ ในทุกท่าอากาศยานของไต้หวันและท่าเรือทุกแห่ง เป็นต้น จากการวิเคราะห์กรณีของนักท่องเที่ยวที่ถูกปรับค่าฝ่าฝืนกฎระเบียบ เป็นจำนวน 2 แสนเหรียญไต้หวัน ตราบจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมปีนี้ สถิติผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบลดลงเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า มาตรการเข้มงวดต่างๆ ได้บรรลุเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์และการควบคุมจัดการแล้ว สำหรับการรับมือกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ จะยังคงมีดำเนินการกวดขันและบังคับใช้มาตรการอย่างเข้มงวดต่อไป