เมื่อวันที่ 3 ม.ค. สำนักงานความเสมอภาคทางเพศ สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ประกาศ “รายงานภาพลักษณ์ทางเพศ ประจำปี 2020” (สภาบริหาร)
สำนักงานความเสมอภาคทางเพศ วันที่ 3 ม.ค. 63
เมื่อวันที่ 3 ม.ค. สำนักงานความเสมอภาคทางเพศ สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ประกาศ “รายงานภาพลักษณ์ทางเพศ ประจำปี 2020” (2020 Gender at a Glance in R.O.C. (Taiwan)) ต่อเนื่องจากที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme, UNDP) ได้ประกาศดัชนีความไม่เสมอภาคทางเพศ ปี 2018 (Gender Inequality Index, GII) โดยใช้เกณฑ์ 5 ประการใน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย สุขอนามัยด้านการเจริญพันธุ์ การเพิ่มศักยภาพ และตลาดแรงงาน ในการประเมิณผลสถานการณ์ด้านความเสมอภาคทางเพศของแต่ละประเทศ ซึ่งไต้หวันถูกจัดอยู่ในอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย แซงหน้าทั้งไอซ์แลนด์และเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนาในระดับสูง
สำนักงานความเสมอภาคทางเพศระบุว่า นอกจากไต้หวันจะครองอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียแล้ว สิทธิของผู้หญิงในการมีบทบาททางอำนาจการเมือง ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ในปี 2018 สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เป็นผู้หญิง มีจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีสัดส่วนร้อยละ 38.7 ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ต่างมีสัดส่วนที่ไม่ถึง 1 ใน 3 นอกจากนี้ สัดส่วนของผู้ว่าการเมืองต่างๆ ของไต้หวันที่เป็นผู้หญิง ก็มีสัดส่วนร้อยละ 37.5 เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2014 เห็นได้ชัดว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.2 อีกทั้งยังคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่า 1 ใน 3 เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ สำนักงานความเสมอภาคทางเพศชี้แจงว่า ปี 2019 นับเป็นปีแรกที่กฎหมายไต้หวัน อนุญาตให้คนเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้ และนับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. เป็นต้นมา คู่รักเพศเดียวกัน สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยตั้งแต่เดือนพ.ค. - พ.ย. ที่ผ่านมา มีคู่รักเพศเดียวกันที่จดทะเบียนสมรสแล้วทั้งสิ้น 2,623 คู่ ในจำนวนนี้ เป็นคู่สมรสเพศเดียวกันที่เป็นชาย จำนวน 837 คู่ และเป็นหญิง จำนวน 1,786 คู่
นอกจากนี้ สำนักงานความเสมอภาคทางเพศยังแถลงว่า สภาบริหารจะเร่งดำเนินการผลักดันการลบล้างความเข้าใจผิดที่มีต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เสริมสร้างระบบการดูแลเด็กของภาครัฐให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น ยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของสตรี และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญ ทั้งนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเพศในแวดวงต่างๆ เพื่อให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้รับสิทธิและทรัพยากรในสังคมที่เท่าเทียมกัน